หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายภัทระ หลักทอง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๒ ครั้ง
การประยุกต์ใช้พุทธวิธีบริหารจัดการข้อพิพาทในพระวินัยปิฎกกับการบริหารจัดการข้อพิพาทของศาลปกครองไทย
ชื่อผู้วิจัย : นายภัทระ หลักทอง ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม, พ.ม., พธ.ม., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญฺโญ,ผศ., ป.ธ.๗,พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑), ศศ.ม., รป.ม. (การจัดการความขัดแย้ง)
  ผศ.ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการข้อพิพาทในพระวินัยปิฎก เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการข้อพิพาทของศาลปกครองไทยและเพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้พุทธวิธีบริหารจัดการข้อพิพาทในพระวินัยปิฎกกับการบริหารจัดการข้อพิพาทของศาลปกครองไทย

ผลการศึกษาพบว่า สังคมสงฆ์ในระยะเริ่มแรกยังไม่ปรากฏสภาพปัญหาข้อขัดแย้ง ภายหลังเมื่อสังคมสงฆ์ขยายตัว จึงมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโครงสร้างของพระพุทธศาสนามากขึ้น ความหลากหลายในสังคมและการปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมย่อมก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งของสมาชิกในสังคม พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระธรรมวินัยเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคมสงฆ์และได้กำหนดวิธีการในการบริหารจัดการข้อพิพาท         ของสงฆ์ เรียกว่า อธิกรณสมถะ ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ ได้แก่ ๑.) การบริหารจัดการข้อพิพาทในที่พร้อมหน้า ๒.) การบริหารจัดการข้อพิพาทด้วยสติวินัย ๓.) การบริหารจัดการข้อพิพาทด้วยการยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า ๔.) การบริหารจัดการข้อพิพาทด้วยถือเอาตามคำรับของจำเลย ๕.) การบริหาร  จัดการข้อพิพาทด้วยใช้เสียงข้างมาก ๖.) การบริหารจัดการข้อพิพาทด้วยการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด ๗.) การบริหารจัดการข้อพิพาทด้วยการประนีประนอม

วิธีบริหารจัดการข้อพิพาททั้ง ๗ ประการ เป็นรูปแบบในการระงับข้อพิพาทของสงฆ์เพื่อให้เกิดความสงบสุขในหมู่คณะและเพื่อให้สังคมของสงฆ์สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ

ศาลปกครอง เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการ เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นผลอันสืบเนื่องมาจาก การดำเนินกิจกรรมทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการบริหารจัดการข้อพิพาทของศาลปกครอง ใช้ระบบวิธีพิจารณาแบบไต่สวนโดยมีตุลาการเจ้าของสำนวน และพนักงานคดีปกครองเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่พิพาทกันในคดี นอกจากนี้ ยังมีตุลาการผู้แถลงคดีที่ทำหน้าที่เสนอความเห็น ทางคดีโดยอิสระ เพื่อเป็นการถ่วงดุลความเห็นขององค์คณะพิจารณา

แนวคิดพุทธวิธีบริหารจัดการข้อพิพาทในพระวินัยปิฎกสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ         การบริหารจัดการข้อพิพาทของศาลปกครองได้ตามความเหมาะสม โดยนำไปประยุกต์ในลักษณะของการสนับสนุนให้กระบวนการในการดำเนินงานของศาลปกครอง สามารถคุ้มครองคู่กรณีซึ่งเป็นคนดี ส่งเสริมให้คู่กรณีมีส่วนร่วมในการจัดการกับความขัดแย้งเพื่อให้เกิดความพึงพอใจในการหาทางออกร่วมกันเพื่อยุติความขัดแย้ง กระตุ้นจิตสำนึกให้หน่วยงานของรัฐมีความรับผิดชอบในการกระทำ          ทางปกครอง สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนโดยควบคุมให้คำพิพากษาในคดีเป็นไปอย่างมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเชื่อถือจากสาธารณะชน นอกจากนี้ การอำนวยความยุติธรรมทางปกครองจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วแก้ไขปัญหาคดีตกค้างที่ยังไม่มีผลของคำตัดสิน อีกทั้งต้องดำเนินการให้ประชาชน              มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองมากขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้รับบริการจากศาลปกครอง ประการสุดท้าย คือ การผลักดันให้มี           การจัดตั้งหน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อให้กระบวนการประนีประนอมเป็นไปอย่างมีระบบและยั่งยืน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕