หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปทุมกันทรากร (บุญแทน มะลิอ่อง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปทุมกันทรากร (บุญแทน มะลิอ่อง) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี,ดร.
  ดร. กาญจนา เงารังสี
  ผศ. อานนท์ เมธีวรฉัตร
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน  ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพระพุทธศาสนาเถรวาท  และ ๓) เพื่อประยุกต์หลักธรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาใช้ในสังคมปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา  สำรวจข้อมูลชั้นทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผลจากการศึกษาพบว่า สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิต่างๆ ที่มนุษย์แต่ละคนได้มาเริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และทุกคนสามารถปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนได้โดยชอบธรรม โดยมีลักษณะเฉพาะดังนี้ ๑) เป็นสิทธิที่ติดตัวมากับมนุษย์ (Inherent) ๒) เป็นสิทธิที่เป็นสากล (Universal) ๓) เป็นสิทธิที่ไม่อาจถ่ายโอนให้แก่กันได้ (Inalienable) และ ๔) เป็นสิทธิที่ไม่ถูกแยกออกจากกัน (Indivisible) สิทธิดังกล่าวนี้มีความเป็นสากลและเป็นนิรันดร ฉะนั้น จุดมุ่งหมายของสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุข ความเสมอภาคของมวลมนุษยชาติในโลก  สิทธิมนุษยชนนั้นสามรถแบ่งเป็น ๖ ประเภท  ได้แก่ ๑) สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่  (Right to live) ๒) สิทธิที่จะได้รับการศึกษา  (Right  to  education)) สิทธิที่จะทำงาน (Right  to  work)) สิทธิแห่งเสรีภาพ  (Right  of  freedom) ) สิทธิแห่งทรัพย์สิน  (Right  of  property) และ ๖) สิทธิแห่งสัญญาประชาคม  (Right  of  contact)สิทธิมนุษยชนมีขอบเขตเพียง ๒ ประการ ได้แก่ (๑) สิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป หมายถึง การปฏิบัติต่อกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เป็นต้น (๒) สิทธิมนุษยชนโดยธรรม  หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งที่อยู่ในโลก เสมือนว่าสรรพสิ่งนั้นล้วนเป็นพี่น้องกันกับมนุษย์ เพราะมนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิตอยู่ สิทธิมนุษยชนโดยธรรม จึงมีความหมายที่กว้าง เช่น มนุษย์กับสัตว์ เป็นต้น 

    หลักธรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในพระพุทธศาสนาเถรวาท  เป็นแนวปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชนหมู่มากโดยไม่มีประมาณ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ฐานะทางสังคม ภาษาและศาสนา เช่น หลักศรัทธา ความเชื่อ หลักกรรม หลักเบญจศีลและเบญจธรรม เป็นต้นจัดเป็นหลักการปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่หลายระดับแห่งการเข้าถึง ตามความรู้ความสามารถทางสติปัญญาของแต่ละบุคคล มีความสอดคล้อง กลมกลืนกัน สนับสนุนกันจากระดับต้นไปสู่ระดับกลาง  หนุนเนื่องไปสู่ระดับสูง ตามลำดับ ด้วยการปฏิบัติฝึกฝนพัฒนาตนตามหลักการก่อให้เกิดประโยชน์ ๓ อย่าง ได้แก่ ) อัตตัตถประโยชน์  ประโยชน์ส่วนตน  ๒) ปรัตถประโยชน์  ประโยชน์ของผู้อื่น และ อุภยัตถประโยชน์  ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

การประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาใช้ในสังคมปัจจุบัน สรุปลงใน  (๑) ทาน การเสียสละ แบ่งปัน ซึ่งเป็นไปเพื่อลด ละความตระหนี่ ความมักมากเห็นแก่ตัว   และศีลธรรม (เบญจศีลและเบญจธรรม) เป็นไปเพื่อควบคุมมิให้เกิดการประทุษร้ายเบียดเบียนกันทั้งทางตรงและทางอ้อม (๒) สมาธิเป็นไปเพื่อความสงบตั้งมั่นของจิตใจ พร้อมจะทำการงาน และ (๓) ปัญญา  เป็นไปเพื่อความรู้เห็นจริงซึ่งสภาวธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ ๑) การใช้สิทธิเสรีภาพขั้นต้น (ทางกายและวาจา) มุ่งส่งเสริมความเป็นส่วนตัว และ ๒) การใช้สิทธิเสรีภาพขั้นสูง (ปัญญา) มุ่งเน้นถึงการปฏิบัติเพื่อบรรลุผล ด้วยเหตุนี้ หลักการทั้ง ๒ จึงมีจุดนัดพบที่การใช้สิทธิเสรีภาพออกไปและเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้อง เป็นสิทธิที่มีลักษณะชักชวนให้กระทำ หรือให้พิสูจน์ตนเองด้วยตนเองเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เพื่อเป็นหลักประกันของการพิสูจน์ตนเองได้อย่างถูกต้อง คือ ไม่ก้าวก่าย ไม่เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น ในสังคมไทย จำต้องนำลักษณะทั้ง ๒ มาปรับใช้ใน ๒ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านหลักภราดรภาพ  สิทธิเสรีภาพในการอยู่ร่วมกัน  ๒) ด้านหลักความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นพลเมืองของชาติ

สรุป ทั้งสิทธิมนุษยชนและหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทล้วนมีการส่งเสริมให้ปฏิเสธความชั่ว สนับสนุนให้กระทำความดีต่อกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงอยู่ในฐานะสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาชีวิตมวลมนุษย์ให้เข้าถึงสันติสุขทั้งด้านส่วนตัวและส่วนรวมตลอดไป

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕