หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมานิตย์ โชติธมฺโม (อรรคชาติ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมานิตย์ โชติธมฺโม (อรรคชาติ) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมพร ชุติปญฺโญ
  ผศ.ดร.สมบูรณ์ ตันยะ
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งมีปัญหาในการปฏิบัติงานแบ่งออกเป็น ๔ ด้าน    คือ    ๑) ปัญหาด้านหลักสูตร      ๒) ปัญหาด้านกิจกรรมการเรียนการสอน  ๓) ปัญหาด้านการใช้สื่อการสอน   ๔) ปัญหาด้านการวัดผลและประเมินผล 

          การวิจัยแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน  ขั้นตอนที่ ๑ เป็นการสำรวจปัญหาในการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๒ จำนวน ๒๐๕ รูป  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน ๕๔ ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  และการทดสอบค่าที (t-test)  ส่วนขั้นตอนที่ ๒ เป็นการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ เป็นพระสงฆ์หรือผู้ที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องและมีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจำนวน ๗  รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนที่ได้จากผลการวิจัย  ตอนที่ ๑  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)     

 ผลการศึกษาพบว่า

          ๑. ปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัดศรีสะเกษ  โดย

ภาพรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านการใช้สื่อการสอน  รองลงมา คือ ด้านหลักสูตรและด้านการวัดผลและประเมินผล  ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือด้านการจัดการเรียนการสอน    

          ๒.  การเปรียบเทียบปัญหาการปฏิบัติงานพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนจังหวัด     ศรีสะเกษ ผลการศึกษาพบว่า พระสอนศีลธรรมที่มีพรรษาต่ำกว่า ๕ พรรษาและพระสอนศีลธรรมที่มีพรรษา ๕ พรรษาขึ้นไป มีปัญหาการปฏิบัติงานแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน    พระสอนศีลธรรมที่มีวุฒิการศึกษาทางโลกต่ำกว่าปริญญาตรีและพระสอนศีลธรรมที่มีวุฒิการศึกษาทางโลกปริญญาตรีขึ้นไป มีปัญหาการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน         พระสอนศีลธรรมที่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เป็นพระสังฆาธิการและพระสอนศีลธรรมที่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์เป็นพระลูกวัด     มีปัญหาการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน          และพระสอนศีลธรรมที่มีประสบการณ์ในการสอนต่ำกว่า ๕ ปีและพระสอนศีลธรรมที่มีประสบการณ์ในการสอน ๕ ปีขึ้นไป  มีปัญหาการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน ๓.  แนวทางการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน     ด้านลักสูตร  แนวทางในการแก้ไขปัญหา  คือ  ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดประชุมชี้แจง พร้อมทั้งดำเนินการเชิญผู้ชำนาญการหรือเชี่ยวชาญด้านหลักสูตรคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมในแต่ละระดับชั้นมาสอนนักเรียน  มีการจัดเสวนาระหว่างพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ  ในส่วนที่เห็นว่าหลักสูตรไม่ตรงหรือล้าสมัยไม่สอดคล้อง  กับสภาพปัจจุบัน      ด้านการจัดการเรียนการสอน แนวทางในการแก้ไขปัญหา  คือ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมสัมมนาพระสอนศีลธรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่พระสอนศีลธรรม  เชิญวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในด้านทักษะเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้พระสอนศีลธรรม ด้านการใช้สื่อการสอน  แนวทางในการแก้ไขปัญหา  คือ  ใช้สื่อที่มีอยู่ในท้องถิ่นและหาได้สะดวก เช่น สื่อทางโทรทัศน์ สื่อที่มีอยู่ตามวัด  ตามหมู่บ้าน หรือหาบุคคลตัวอย่างในท้องถิ่น ฯลฯ  พร้อมทั้งจัดทำโครงการของบสนับสนุนงบประมาณจากโรงเรียนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ  หรือจัดทำผ้าป่าเพื่อหางบประมาณมาใช้ในการทำสื่อ  นอกจากนั้นการให้พระสอนศีลธรรมผลิตสื่อประเภทต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เอง โดยอาศัยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่และมีราคาถูกในท้องถิ่นนั้น ๆ   และด้านการวัดผลและประเมินผล   แนวทางการแก้ไขปัญหา  คือ  ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดอบรมเพิ่มประสิทธิภาพในการวัดผลและประเมินผล  เน้นการปฏิบัติให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้  กระบวนการเรียนรู้  และสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  ควบคู่ไปในกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมด้วยให้พระสอนศีลธรรมประเมินความรู้  พฤติกรรมการเรียน  การร่วมกิจกรรมต่าง ๆ  การสร้างเครือข่ายและจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้พระสอนศีลธรรมได้ลงมือปฏิบัติจริงในด้านการวัดผลและประเมินผล  สร้างความตระหนักให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่พระสอนศีลธรรมเข้าไปปฏิบัติงานได้เปิดโอกาสให้ พระสอนศีลธรรมได้นำผลการวัดผลและประเมินผลมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเหตุการณ์และเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕