หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายอรรถพล ธรรมรัตน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนกับศีลข้ออทินนาทานในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายอรรถพล ธรรมรัตน์ ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร.
  ดร.ประพันธ์ ศุภษร
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในสังคมปัจจุบันและในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนกับศีลข้ออทินนาทานในพระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนตามหลักพระพุทธศาสนา โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยในเชิงเอกสาร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา วรรณกรรม รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ตามหลักการวิจัย และนำเสนอข้อมูลในเชิงพรรณนา  

                        ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในทางสังคมและทางกฎหมายมีขอบเขตพฤติกรรมที่กว้างกว่าการทุจริต โดยที่ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในสังคมไทยเกี่ยวข้องกับปัญหา  ๓ ลักษณะ คือ (๑) การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง (๒) การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และ (๓) ความประพฤติมิชอบ ส่วนปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในพระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องปัญหาใน ๒ ระดับ คือ (๑) ความขัดแย้งในระดับศีล ได้แก่ การเลี้ยงชีพที่ขัดแย้งไม่สอดคล้องกับพระวินัย (๒) ความขัดแย้งในระดับคุณธรรม ได้แก่ ความเกี่ยวข้องกับอามิสหรือลาภสักการะที่มิชอบด้วยธรรม 

                ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนกับศีลข้ออทินนาทาน พบว่า มีความเชื่อมโยงกันในเจตนาของการทุจริต และผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความบกพร่องแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น จึงถือได้ว่าการกระทำผิดศีลข้ออทินนาทาน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน แต่พฤติกรรมของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนจะมีขอบเขตกว้างกว่าการกระทำผิดศีลข้ออทินนาทาน                                                                                                                                                                         สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในทางพระพุทธศาสนานั้น มีทัศนะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ๒ ประการ คือ  (๑) การแก้ไขด้วยธรรม โดยเน้นการสร้างคนดี คือ การพัฒนาคุณสมบัติของบุคคลให้มีความสุจริตทางกาย วาจา และใจ และ (๒) การแก้ไขด้วยวินัย เช่น  การวิเคราะห์และปรับปรุงเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนและอทินนาทานให้มีความสอดคล้องกัน และการปรับปรุงระเบียบวินัยที่บัญญัติหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕