หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๘ ครั้ง
จิตตมาตรของนิกายโยคาจาร: การศึกษาเชิงวิเคราะห์บนฐานแนวคิดเรื่องจิตในพระพุทธศาสนายุคต้น(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  รศ.ดร. สมภาร พรมทา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

    วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ อย่าง คือ (๑) เพื่อศึกษารูปแบบการตีความแนวคิดจิตตมาตรของนิกายโยคาจารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดจิตตมาตรในคัมภีร์นิกายโยคาจารและแนวคิดเรื่องจิตที่เป็นรากฐานแนวคิดจิตตมาตรในคัมภีร์พระพุทธศาสนายุคต้น และ (๓) เพื่อประเมินรูปแบบการตีความจิตตมาตรแบบต่างๆ และเสนอการตีความแบบใหม่บนฐานแนวคิดเรื่องจิตของพระพุทธศาสนายุคต้น

      จากการศึกษาพบว่า แนวคิดจิตตมาตรของนิกายโยคาจารได้มีนักคิดและนักวิชาการเสนอการตีความไว้ถึง ๖ รูปแบบด้วยกัน คือ (๑) การตีความแบบกุศโลบายที่ว่า จิตตมาตรเป็นคำสอนแบบกุศโลบายด้วยภาษาที่ควรไขความ (เนยารถะ) เพื่อปูทางไปสู่คำสอนเรื่องศูนยตาในขั้นสุดท้าย (๒) การตีความแบบจิตนิยมทางอภิปรัชญาที่ว่า จิตตมาตรเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธความมีอยู่ของโลกภายนอกหรือโลกทางกายภาพแล้วยืนยันว่าจิตสัมบูรณ์เท่านั้นมีอยู่เพียงอย่างเดียว (๓) การตีความแบบจิตนิยมอัตวิสัยที่ว่า จิตตมาตรเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธความมีอยู่ของโลกภายนอกแล้วยืนว่ามีจิตปัจเจกบุคคลดำรงอยู่อย่างหลากหลายในรูปของกระแสที่เกิดดับอย่างต่อเนื่อง (๔) การตีความแบบพหุสัจนิยมที่ว่า จิตตมาตรไม่ใช่แนวคิดที่ปฏิเสธความจริงหลากหลายเช่นเดียวกับแนวคิดของพระพุทธศาสนายุคต้น สิ่งที่แนวคิดจิตตมาตรปฏิเสธคือโลกแห่งทวิภาวะที่เกิดจากการคิดปรุงแต่งของจิต (๕) การตีความแบบญาณวิทยาที่ว่าจุดสนใจของนิกายโยคาจารคือประเด็นทางด้านญาณวิทยาที่เกี่ยวกับการรับรู้โลกอย่างผิดพลาดของมนุษย์ปุถุชน ไม่ใช่ประเด็นปัญหาเรื่องความจริงทางอภิปรัชญา และ (๖) การตีความทางปฏิบัติที่ว่า จิตตมาตรเป็นแนวคิดสำหรับอธิบายปัญหาความทุกข์ในสังสารวัฏแล้วเสนอทางออกจากปัญหาด้วยการให้ปฏิบัติโยคะหรือสมาธิ
แนวคิดจิตตมาตรในคัมภีร์ชั้นต้นของนิกายโยคาจารส่วนใหญ่จะเกิดปรากฏในรูปของข้อความที่ว่า “ไตรภูมิเป็นเพียงจิตเท่านั้น” ซึ่งข้อความนี้มักจะเกิดขึ้นในบริบทของการกล่าวถึงปัญหาการรับรู้โลกของปุถุชน เช่นบางพระสูตรกล่าวถึงจิตตมาตรในบริบทของการรับรู้ภาพนิมิตในขณะกำลังปฏิบัติกรรมฐาน บางพระสูตรกล่าวถึงจิตตมาตรในบริบทของการแสดงความเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท บางพระสูตรกล่าวถึงจิตตมาตรในบริบทของการรับรู้โลกรอบตัวในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ในคัมภีร์ชั้นรองของนิกายโยคาจารก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็กล่าวถึงจิตตมาตรในบริบทของการรับรู้โลกของปุถุชน แสดงให้เห็นว่าจิตตมาตรเป็นแนวคิดที่มุ่งอธิบายปัญหาความทุกข์ในสังสารวัฏที่สัมพันธ์กับการรับรู้โลกอย่างผิดพลาดของปุถุชน ซึ่งต้นเหตุของความผิดพลาดคือจิตที่ทำงานภายใต้การครอบงำของกิเลสพระพุทธศาสนายุคต้นมีแนวคิดหลายอย่างที่น่าจะเป็นรากฐานแนวคิดจิตตมาตรของนิกายโยคาจาร เช่นแนวคิดเรื่องนรกสวรรค์ทางอายตนะ (นรกสวรรค์ทางจิตวิทยา) แนวคิดเรื่องสังสารวัฏในชีวิตประจำวัน แนวคิดเรื่องการคิดปรุงแต่งสร้างโลกแห่งตัวฉัน-ของฉันภายใต้อิทธิพลของกิเลส แนวคิดเรื่องความคิดคลาดเคลื่อน (จิตวิปัลลาส) เป็นต้น ดังนั้น แนวคิดจิตตมาตรของนิกายโยคาจารควรได้รับการตีความว่าไม่ใช่แนวคิดที่ลดทอนโลกทางกายภาพลงไปหาจิตเพื่อยืนยันว่าจิตสัมบูรณ์เท่านั้นมีอยู่จริงเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นแนวคิดทางจริยธรรมที่ลดทอนปัญหาความทุกข์ในสังสารวัฏของปุถุชนลงไปหาจิตแล้วเสนอทางออกจากทุกข์ด้วยการปฏิบัติสมาธิเพื่อพัฒนาจิต

Download : 255176.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕