หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระชนินทร์ วรญาโณ (วายุระกุล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์หลักการพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ชื่อผู้วิจัย : พระชนินทร์ วรญาโณ (วายุระกุล) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ณัทธีร์ ศรีดี
  พระราชสิทธิมุนี
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒)  เพื่อศึกษาหลักการพัฒนามนุษย์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ ๓) เพื่อวิเคราะห์หลักการพัฒนามนุษย์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ผลการศึกษาพบว่า

พระพุทธศาสนาเถรวาท มีทัศนะ การพัฒนามนุษย์ก็คือการทำให้คนเจริญขึ้นหรือมีความดีงามขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยการปฏิบัติตามหลักการพัฒนา ๔ ด้าน ๑) การฝึกฝนพัฒนาด้วยกาย คือ การมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  ให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ๒) การฝึกฝนพัฒนาด้านศีล คือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดำรงตนอยู่ในวินัยและอาชีวะที่สุจริต มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะที่เกื้อกูลสร้างสรรค์ และส่งเสริมสันติสุข ๓) การฝึกฝนพัฒนาด้านจิต คือ การทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้นในความดีงาม ความเข้มแข็ง มั่นคง สงบสุข และเป็นอิสระ และ ๔) การฝึกฝนพัฒนาด้านปัญญา คือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักวินิจฉัย รู้จักแก้ปัญหา และรู้จักจัดทำดำเนินการต่าง ๆ ด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการแจ้งมรรค ผล นิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีทัศนะว่า การพัฒนามนุษย์ ก็คือการเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลให้เป็นที่พึ่งทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วยการพัฒนาทางด้านกาย วาจา และจิตใจ โดยอาศัยหลักธรรมทางศาสนาที่เรียกว่า ฮินดูธรรม อันเป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมบุคคลให้ดำรงตนอยู่ถูกกาล หรือเหมาะสมกับวัย ก็คือการมีธรรมะตามหลักของอาศรมทั้ง ๔ คือ พรหมจรรย์ เป็นวัยแห่งการศึกษา  คฤหัสถ์เป็นวัยแห่งการครองเรือน  วนปรัสถะและสันยาสี เป็นวัยแห่งการเข้าป่าศึกษาธรรม และออกบวชมุ่งแสวงหาโมกษะ กล่าวได้ว่า โมกษะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ถือว่าเป็นอันติมะสัจจะ คือความจริงสูงสุดเป็นสภาวะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นอมตะกระจายอยู่ทั่วไป อยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไม่มีรูปร่างและพรหมันก็คือโมกษะ หรือความหลุดพ้น เป็นสภาวะที่ปราศจากความรักความหลงและบุญบาปทั้งปวง เป็นความบริสุทธิ์สูงสุด

อิทธิพลและคุณค่าการพัฒนามนุษย์ต่อสังคมในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ทั้งสองศาสนามองว่า การพัฒนามนุษย์นั้นนอกจะพัฒนาตัวมนุษย์ผู้นั้นให้เจริญทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญญาเฉพาะตนเองทั้งในระดับโลกิยะและระดับโลกุตตระแล้ว ยังส่งผลให้เกิดสันติสุขต่อสังคมโลกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา เป็นต้น ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการนำจิตวิญญาณบริสุทธิ์ของผู้ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ไปพัฒนาบุคคลอื่นต่อไป ก่อให้เกิดสันติสุขถาวร ที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง

 

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕