หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอนุชิต อธิปญฺโญ (กาญจนาปกรณ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมของพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย
ชื่อผู้วิจัย : พระอนุชิต อธิปญฺโญ (กาญจนาปกรณ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิโรจน์ วิชัย
  วิโรจน์ อินทนนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

 

 

วิทยานิพนธ์นี้ เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์แนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมของพระครูบาศรีวิชัย   สิริวิชโย” ประกอบด้วย ๓ วัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมเชิงปรัชญา   (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมของพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย และ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดทางด้านสิ่งแวดล้อมของพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) เป็นหลักโดยทำการสรุปวิเคราะห์ผลการวิจัย

 

ผลการวิจัยพบว่า จริยธรรมสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยการเห็น การรู้สึกสัมผัส การเข้าใจความรักและความห่วงใย ที่สำคัญคือ เกิดความศรัทธาโลกทรรศน์ใหม่ ซึ่งเป็นวิถีการคิดและความรู้สึกแบบใหม่ อันเกิดจากการเข้าถึงธรรมชาติ     ซึ่งหมายความว่า วิถีชีวิตแบบใหม่จะต้องมีลักษณะเรียบง่าย ปฏิเสธบริโภคนิยม ไม่ลุ่มหลงในวัตถุ และใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง  มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางหรือเจ้านายของโลก  และธรรมชาติเป็นทาส แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มองธรรมชาติ พืช สัตว์ มนุษย์ ต่างอิงอาศัยกันและกัน หรือ มองแบบองค์รวม ทุกสิ่งในระบบนี้ ต่างอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มนุษย์ไม่สามารถแยกตัวจากระบบนิเวศได้เลย ทั้งศาสนาและพุทธปรัชญาเน้นเรื่องความรักและความเมตตาต่อสรรพสัตว์ ไม่เพียงแต่จะห้ามฆ่าสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนการอนุรักษ์ชีวิตไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ตาม มนุษย์มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองตอบต่อปัจจัยขั้นพื้นฐาน ไม่ทำอันตรายต่อโลกทางธรรมชาติที่มนุษย์อาศัยอยู่ มีท่าที่แบบอ่อนโยน ไม่ก้าวเร้า ไม่ตักตวงต่อธรรมชาติ  ถ้าเราปฏิบัติตามดำสอนแห่งพุทธปรัชญาที่ยึดหลักนิเวศเป็นศูนย์กลาง มนุษย์สามารถลดวิกฤตการสิ่งแวดล้อมได้

 

 

พระครูบาศรีวิชัย คือ พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดรูปหนึ่งของล้านนา มีบทบาทและความสำคัญในฐานะผู้นำชุมชนและศูนย์รวมของความเชื่อความศรัทธา ที่มาจากวัตรปฏิบัติและแนวทางการบำเพ็ญเพียรที่เคร่งครัด น่าเลื่อมใส การสร้างวัดเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน เพราะวิถีชีวิตของชาวล้านนามีพระพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง การสร้างวัดจึงเป็นการสร้างแหล่งบุญ แหล่งกุศล แหล่งความสุขนั่นเอง พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง ทาน, ศีล, ภาวนา หรือ ศีล, สมาธิ, ปัญญา เพื่อให้ชาวพุทธทั่วไปได้ใช้เป็นหลักพัฒนาตนเองจนบรรลุคุณธรรมอันเป็นจุดหมาย ๔ ขั้น คือ ขั้นโสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามีและอรหันต์ การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพพร้อมสร้างวัดตามจุดต่างๆเพื่อจะให้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาประจำและจะดูแลพื้นที่สิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าแนวคิดและคำสอนที่ออกมาจากการกระทำของท่านให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกเป็นอย่างมาก ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕