หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (กุยรัมย์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชิงพุทธของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : วิเคราะห์เชิงพุทธธรรม
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (กุยรัมย์) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  บุญเลิศ โอฐสู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชิงพุทธของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช : วิเคราะห์เชิงพุทธธรรม” นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ ดังนี้คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ๓) เพื่อวิเคราะห์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเชิงพุทธธรรม โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสาร แล้ววิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล

ผลการวิจัยพบว่า

๑. พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการบัญญัติสิกขาบทห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ เป็นต้น และทรงแสดงหลักธรรมให้พระสาวกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและประพฤติปฏิบัติอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อิงอาศัยสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิต และให้สิ่งแวดล้อมที่ดีโอบอุ้มชีวิตให้เป็นไปในหนทางสายกลาง เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี และจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง สามารถดำเนินไปสู่หนทางแห่ง
ความหลุดพ้นได้ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล

๒. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีวิธีการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากมาย เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ เป็นต้น ด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีสภาพดีอยู่แล้วให้คงสภาพอยู่อย่างเดิม การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเสื่อมโทรมเป็นปัญหาหรือสร้างมลภาวะแก่มนุษย์ สัตว์ และพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เป็นต้น ให้มีสภาพที่ฟื้นตัวดีขึ้นจนมีสภาพเป็นปกติดังเดิม และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ยังขาดแคลนหรือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและในการพัฒนาประเทศชาติในบริบทต่าง ๆ ให้เกิดมีขึ้นมา โดยทรงอาศัยศาสตร์พระราชาที่เป็นพระราชประสบการณ์จากการศึกษาศิลปวิทยาการ การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพที่ทรงมีมาด้วยพระบุญญาธิการ จึงเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นที่สนใจและยกย่องเชิดชูพระเกียรติจากปัญญาชนทั่วโลก

๓. การวิเคราะห์โดยอาศัยหลักพุทธธรรม คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขากับศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทำให้ได้แนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ สามารถใช้ปฏิบัติงานอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นไปอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดสัมฤทธิผลที่ดีงาม ทั้งในด้านบุคลากรผู้ดำเนินงานก็มีหลักคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำเนินงานและเป็นภูมิคุ้นกันตนเองให้อยู่แนวทางที่ดีงาม ป้องกันตนเองไม่ให้ตกไปในทางที่ผิดพลาดเสื่อมเสีย และผลของงานก็ออกมาในรูปแบบที่ดี มีคุณภาพ ทำให้เกิดภาวะ “คนดี งานเด่น เน้นคุณธรรม”

สรุปผลการวิจัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชิงพุทธของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ผู้วิจัยได้กำหนดโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน คือ (๑) โครงงาน ได้แก่ อริยสัจ ๔ ที่ประกอบด้วยปัญหา สาเหตุของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และแนวทางไปสู่ภาวะไร้ปัญหา โดยสงเคราะห์สิ่งแวดล้อมเป็นตัวความทุกข์ ซึ่งมีปัญหาที่จะต้องทำการแก้ไข (๒) อุดมการณ์ของการทำงาน ได้แก่ ราชสังคหวัตถุ ๕ อันเป็นเป้าหมายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในสภาพที่ปรกติ (๓) หลักการในการทำงาน ได้แก่ สันโดษ ๓ ประการเป็นจุดยืนและเครื่องค้ำยันให้ดำเนินงานอยู่ในแนวทางที่ดีงามเสมอ (๔) วิธีการในการทำงาน ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา เป็นตัวขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ ให้เป็นไปตามหลักการของปฏิจจสมุปบาท คือ สภาพที่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕