หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วุฒินันท์ ป้องป้อม
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์สารัตถธรรมและคุณค่าของคัมภีร์ปถมังที่มีต่อสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : วุฒินันท์ ป้องป้อม ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  สานุ มหัทธนาดุลย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและความเป็นมาของคัมภีร์ปถมัง ๒) เพื่อศึกษาสารัตถธรรมที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปถมัง ๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของคัมภีร์ปถมังที่มีต่อสังคมไทย

ผลการวิจัยพบว่า ถึงแม้ปถมังคัมภีร์จะถูกเชื่อจากบุคคลในสังคมทั้งยุคโบราณและปัจจุบันว่าเป็นคัมภีร์ทางไสยศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วคัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่มีคุณค่ามากกว่านั้นซึ่งรจนาขึ้นมาโดยพระคณาจารย์โบราณ และแบ่งโครงสร้างเป็น ๕ ส่วน ได้แก่ บทนมัสการครู, คาถาเสกที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ปถมัง, ขั้นตอนการทำตัวนะปถมังที่มีขั้นตอนแบ่งเป็น ๕ ส่วน, ขั้นตอนการเขียนและลบหัวใจคาถายันต์รูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากตัวนะปถมัง เช่น ยันต์อุโองการ, ยันต์สูรย์, ยันต์พระจันทร์ครึ่งซีก, ยันต์องค์พระ จนถึงศูนย์นิพพาน, อุปเท่ห์วิธีการนำเอาผงปถมังและยันต์ที่ได้ไปใช้ พร้อมทั้งศึกษาศัพท์เฉพาะที่ใช้ในกลุ่มผู้ศึกษาคัมภีร์ปถมัง   สำหรับวัตถุประสงค์ที่พระเถระโบราณชาวสยามยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้คิดค้นคัมภีร์ปถมัง ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณในการฝึกเขียนลบเลขยันต์ตามลำดับจนจบถึงนิพพาน เพื่อเป็นกุศโลบายให้พระภิกษุและคฤหัสถ์ได้ศึกษาสารัตธรรมที่ปรากฏในคัมภีร์ปถมังดังนี้ คือ ๑) สารัตถธรรมเรื่องการเกิดต่างๆ ๒) สารัตถธรรมเกี่ยวกับพุทธคุณและการบำเพ็ญบารมี ๓) สารัตถธรรมเกี่ยวกับไตรลักษณ์และพระนิพพาน ๔) สารัตถธรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติกรรมฐาน  จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ปถมังเป็นคัมภีร์ที่ค่าทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ต่อสังคมไทย ๔ ด้าน ดังนี้ คือ ๑) คุณค่าด้านการสืบสานพระพุทธศาสนา ด้วยกุศโลบายในการสอนหลักธรรมเบื้องต้นที่สำคัญ อันได้แก่ หลักขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท พุทธคุณ บารมี ๓๐ และ นิพพาน โดยนิพนธ์เป็นตำราฝึกสมถกรรมฐานและวิปัสนากรรมฐาน และใช้วิธีการฝึกเขียน-ลบ ยันต์ ไปจนถึงศูนย์นิพพาน ๒) คุณค่าด้านวรรณกรรม ๓) คุณค่าด้านการประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตของคนไทย ๔) คุณค่าด้านพุทธศิลป์

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕