หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาสมาน ธมฺมวชิโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๒ ครั้ง
แนวทางการพัฒนาสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี: กรณีศึกษาสำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาสมาน ธมฺมวชิโร ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  พระศรีวินยาภรณ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย 2) เพื่อศึกษาปัญหากลไกการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม 3) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี: กรณีศึกษาสำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งได้ศึกษาจากเอกสารการสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่มย่อย

                ผลการวิจัยพบว่า การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ระยะแรกมีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยา คือมีพระไตรปิฎกเป็นหลักสูตร แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ บาเรียนตรี ถึง บาเรียนเอก พอถึงรัชกาลที่ 2 ได้จัดการศึกษาเป็น 9 ชั้นโดยกำหนดเป็นประโยค ตั้งแต่ประโยค 1 ถึง ประโยค 9 มีอรรถกถาเป็นหลักสูตร พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนจากสอบปากเปล่าเป็นสอบข้อเขียน นอกจากนั้นมีการจัดการศึกษาแผนกธรรมเพิ่มเติม อนึ่งในปัจจุบันมีการเปลี่ยนระบบการประเมินผลใหม่ กล่าวคือให้ผู้สอบผ่านในบางวิชาในชั้นประโยค 1-2 ถึง ประโยค 5 สามารถสอบซ่อมวิชาที่สอบตกภายในปีนั้นได้

             ด้านปัญหากลไกการจัดการเรียนการสอนและแนวทางการพัฒนาสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี: กรณีศึกษาสำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม คือ

                ด้านการบริหารงานบุคคล พบว่า ระดับผู้บริหาร มีการบริหารจัดการเชิงนโยบายไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรมีการติดตามนโยบายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดกว่าปัจจุบัน ระดับคณะครู ไม่สามารถทดแทนบุคลากรที่สอนอยู่เดิม จึงควรผลิตบุคลากรด้านครูสอนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ระดับนักเรียน ยังขาดนักเรียนเข้าศึกษาอย่างต่อเนื่องและขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จึงควรมีการสร้างเครือข่ายสำนักเรียนและมีกระบวนการพัฒนานักเรียนด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม

ด้านการบริหารงานวิชาการ พบว่า ระดับผู้บริหาร ขาดกระบวนการติดตามนโยบายสำนักเรียนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ดังนั้นจึงควรมีการติดตามนโยบายการบริหารสำนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบถึงปัญหาอุปสรรคและแก้ไขได้ทันต่อสถานการณ์ ระดับคณะครู ขาดความชำนาญและเทคนิคการสอน จึงควรมีการนิเทศเพิ่มเติมโดยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเพิ่มความชำนาญและเทคนิคต่าง ๆ ด้านนักเรียน ยังขาดความกระตือรือร้นและแรงจูงใจในการเรียน จึงควรมีกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจแรงจูงใจในการเรียนจากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างต่อเนื่อง

                ด้านการบริหารงานงบประมาณ พบว่า ขาดการบริหารจัดการงบประมาณด้วยวิธีอื่นจากที่ดำเนินมาในอดีต ดังนั้นจึงควรมีการบริหารจัดการด้วยวิธีอื่น เช่นการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ อีกทั้งขาดการหางบประมาณด้านอื่นจากที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จึงควรมีการหากองทุนด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อเป็นกองทุนที่มั่นคง

                ด้านการบริหารงานทั่วไป พบว่า สำนักเรียนขาดความชัดเจนในการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย ดังนั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจแก่นักเรียนจึงควรมีการกำหนดเกณฑ์การให้รางวัลตั้งแต่ต้นปีการศึกษาเป็นต้น นอกจากนั้นระเบียบข้อบังคับสำนักเรียนในบางหัวข้อไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงควรมีการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕