หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอาทรวชิรกิจ (มานะ ฐานิสฺสโร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
การพัฒนาการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอาทรวชิรกิจ (มานะ ฐานิสฺสโร) ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุนันท์ สุนนฺโท
  สุรพล สุยะพรหม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

               การศึกษาวิจัยเรื่อง ”การพัฒนาการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร” มีวัตถุประสงค์ดังนี้  ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร ๒) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบรูปแบบการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร ๓) เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร  

งานวิจัยเรื่องนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน ๒๕ รูป/ท่าน เป็นการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการจัดสนทนากลุ่มกับผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๑๔ รูป/ท่าน แล้ววิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)

ผลการวิจัยพบว่า

            ๑. สภาพปัญหาของการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า ประธานหน่วยและคณะกรรมการของหน่วยบางแห่งอยู่คนละพื้นที่คณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจในการฝึกอบรม ไม่มีแนวทางในการปฏิบัติที่ขัดเจน ไม่มีความรู้ความเข้าใจ
ในบทบาทหน้าที่และ ขาดการส่งเสริมศีลธรรมและจริยธรรมแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง แก่ประชาชน ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุข ขาดนโยบาย และแผนงาน ต่างคนต่างทำงานขาดการมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรม ไม่มีการจัดวิทยากรมาอบรมผู้สูงอายุในด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัย ขาดการประสานงานกับพัฒนากรประจำตำบล มาจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการดำรงชีวิต ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ขาดการดำเนินงานส่งเสริมจิตสาธารณะในการฝึกบำเพ็ญจิตภาวนา
ในวันสำคัญทางศาสนา และอบรมนักเรียนในเรื่องความกตัญญูกตเวทิตาในวันสำคัญต่างๆ

           ๒. องค์ประกอบการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๕ องค์ประกอบ คือ ๑) ด้านการสงเคราะห์และอนุเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่น ๒) ด้านการเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงาน
๓) ด้านการเป็นศูนย์รวมความคิดของประชาชนทุกหมู่เหล่า ๔) ด้านการเป็นศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุข และ ๕) ด้านการเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร โดยแต่ละองค์ประกอบ
ได้มีการวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบ และการปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านการให้ความรู้เรื่องการประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีการวางแผนอบรมประชาชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยตามกฎและระเบียบของชุมชน
ในการประสานงานระหว่างบ้านและหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน ให้มีการดำเนินงานระหว่างวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครองหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน มีการส่งเสริมภาครัฐและประชาชนในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านศีล ๕ เพื่อชุมชนสันติสุข ส่งเสริมให้มีความสามัคคีในชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายวางแผนการดำเนินงานให้วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่าย

            ๓. การพัฒนาการจัดการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า ๑) ด้านการสงเคราะห์และอนุเคราะห์ประชาชนในท้องถิ่น คือ มีการวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบ และการปรับปรุงแก้ไขในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านการให้ความรู้เรื่องการประกอบอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีการวางแผนอบรมประชาชนให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อยตามกฎและระเบียบของชุมชน  ๒) ด้านการเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงาน คือ มีการประสานงานระหว่างบ้านและหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ให้มีกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน เพื่อ จัดให้วัดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านอาชีพการ
จักสาน การทอผ้าพื้นเมือง ดำเนินการอนุรักษ์และปลูกป่าในพื้นที่ดินของวัดหรือที่ดินสาธารณะ
ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินของวัดหรือที่สาธารณะร่วมกัน
๓) ด้านการเป็นศูนย์รวมความคิดของประชาชนทุกหมู่เหล่า คือ มีการดำเนินงานระหว่างวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ฝ่ายปกครองหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน โดยวัดเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกัน การเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือของบ้าน วัด และโรงเรียน ในด้านการพัฒนาวัฒนธรรม
๔) ด้านการเป็นศูนย์รวมพลังในการป้องกันหมู่บ้านให้เกิดสันติสุข คือ มีการส่งเสริมภาครัฐและประชาชนในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านศีล ๕ เพื่อชุมชนสันติสุข มีการใช้กระบวนการสันติสนทนาในการเปิดพื้นที่เพื่อให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อลดความขัดแย้งของคนในชุมชน  มีการปวารณาตั้งใจรักษาศีล ๕ โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อร่วมสร้าง “ครอบครัวรักษาศีล ๕” และ “หมู่บ้านรักษาศีล ๕”  ๕) ด้านการเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร คือ มีการวางแผนร่วมมือกัน
กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม มีความสามัคคีในชุมชนเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายวางแผนการดำเนินงานให้วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่าย
โดยมีบ้านเป็นหลักและโรงเรียนเป็นองค์กรสนับสนุนให้กลุ่มมีความแข็งแรงเข้มแข็ง โดยให้เครือข่ายทั้งหมดโยงใยกันทั้งหมู่บ้าน และชุมชน

 Download

 

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕