หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวีระศักดิ์ อภินนฺทเวที (แสงพงษ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
บูรณาการหลักพุทธธรรมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวีระศักดิ์ อภินนฺทเวที (แสงพงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ตวงเพชร สมศรี
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชา (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชา (๓) เพื่อบูรณาการหลักพุทธธรรมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชา การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลของการวิจัยพบว่า เกษตรทฤษฎีใหม่ คือ หลักการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตร ในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเอง มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว มีอาหารไว้สำหรับบริโภคตลอดปี เป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อตลาดหรือสภาพแวดล้อมเกิดความแปรปรวนหรือเกิดวิกฤติขึ้น เป็นกระบวนผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มีการวางแผนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ประสานสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งนี้ การนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน รู้จักยืดหยุ่น สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้    

หลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชานั้น แบ่งออกเป็น (๑) หลักนาถกรณธรรม ๑๐ ส่งเสริมด้านการพึ่งพาตนเอง ได้แก่ ๑. ศีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย มีเมตตาต่อผู้อื่น ๒.พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ลึกซึ้ง ๓.กัลยาณมิตตตา การคบคนดี
มีที่ปรึกษาดี และผู้แนะนำสั่งสอนดี ๔. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย รู้จักรับฟังเหตุผล
๕.กิงกรณีเยสุ ทักขตา เอาใจใส่ขวนขวายในกิจน้อยใหญ่ของหมู่คณะ ๖.ธัมมกามตา รักธรรม
ใฝ่ความรู้ ใฝ่ความจริง รู้จักพูดและรู้จักรับฟัง ๗.วิริยารัมภะ ขยันหมั่นเพียรมีใจแกล้วกล้า ไม่ย่อท้อ ๘.สันตุฏฐี ความสันโดษ ยินดี มีความสุขความพอใจด้วยปัจจัยสี่ที่หามาได้ด้วยความเพียรอันชอบธรรม ๙.สติ มีสติ ระลึกรู้ตัว ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ๑๐.ปัญญา มีปัญญารอบรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง เข้าใจทุกสิ่งตามความเป็นจริง (๒) หลักสังคหวัตถุ ๔ ส่งเสริมด้านรวมพลังของเกษตรกร ได้แก่ ๑.ทาน การแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น ๒.ปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก กล่าวที่เป็นประโยชน์ ๓.หลักอัตถจริยา ขวนขวายบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ๔.สมานัตตตา ทำตนเสมอต้นเสมอปลายในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์ ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล สิ่งแวดล้อม (๓) หลักสัปปุริสธรรม ๗ ส่งเสริมด้านการพัฒนาก้าวหน้า ได้แก่ ๑.ธัมมัญญุตา รู้หลักหรือรู้จักเหตุ ๒.อัตถัญญุตา รู้ความมุ่งหมายหรือรู้เหตุผล ๓.อัตตัญญุตา รู้จักตน ๔.มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ๕.กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลา ๖.ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน สังคม ๗.ปุคคลสัญญุตา รู้จักบุคคล

การบูรณาหลักพุทธธรรมกับเกษตรทฤษฎีใหม่ของศาสตร์พระราชา พบว่า เกิดผลใน ๓ ด้าน ได้แก่ ๑.ด้านการพึ่งพาตนเอง เกษตรกรมีความขยันอดทน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ห่างไกลอบายมุข มีสติ พอเพียง รู้จักปล่อยวาง ๒.ด้านการรวมพลังของเกษตรกร แบ่งปันช่วยเหลือกัน ตรงไปตรงมา เชื่อใจกันด้วยความอบอุ่น เอื้อเฟื้อ ไม่หลอกลวง สงเคราะห์ชุมชน เน้นการมีส่วนร่วม วางตนพอดี ๓.ด้านการพัฒนาก้าวหน้า เกษตรกรหรือผู้เข้าร่วมโครงการฯ รู้ดี และมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนกำลังทำ มีเป้าหมายชัดเจน รู้จักการบริหารจัดการพื้นที่ทำกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักวิธีเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ใช้ชีวิตด้วยความพอดี รู้จักประมาณ มีจิตใจเยือกเย็น รู้จักรอคอย รู้จักความเป็นไปของชุมชนที่ตนอยู่ว่า มีวัฒนธรรม ความเชื่อนั้นอย่างไร รู้จักให้เกียรติเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕