หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » คุณากร ช่วงกระจ่าง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ศึกษาการประยุกต์ใช้หลักเมตตาธรรมในการให้บริการของสำนักทะเบียนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อผู้วิจัย : คุณากร ช่วงกระจ่าง ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บรรพต แคไธสง
  เอกฉัท จารุเมธีชน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

ศึกษาการประยุกต์ใช้หลักเมตตาธรรมในการให้บริการของสำนักทะเบียนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาหลักเมตตาธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒) เพื่อศึกษาสภาพการให้บริการของสำนักทะเบียนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดบุรีรัมย์ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักเมตตาในการให้บริการของสำนักทะเบียนอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ผลการวิจัยพบว่า

๑)   ความหมายของเมตตาธรรม หมายถึง ความรู้สึกเมตตาปรารถนาดีต่อกัน

๒)   การให้บริการโดยใช้หลักเมตตาธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยศรัทธาเชื่อมั่นว่า

คุณธรรมพื้นฐานเบื้องต้นแห่งจิตใจมนุษย์คือ เมตตาธรรมนั้นสามารถพัฒนาและยกระดับได้จนปรากฏผลเป็นปาฏิหาริย์หรืออานิสงส์ในการทำหน้าที่ที่เหนือกว่าหน้าที่

๓)   การปฏิบัติงานของข้าราชการฝ่ายปกครองของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัด

บุรีรัมย์ ได้มีการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น เมตตาธรรม อิทธิบาท ๔ ฯลฯ ทำให้นโยบายในการให้บริการของภาครัฐเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำมาซึ่งความรักความศรัทธาระหว่างข้าราชการกับประชาชนเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นที่ถูกต้องร่วมกันว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐได้ก่อให้เกิดความสุขร่วมกัน กล่าวคือเจ้าหน้าที่จะพบความสุขที่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำความดี (บุญ) และในส่วนประชาชนก็มีความสุขที่ความสงสัย ความต้องการ หรือความเดือดร้อนของตนได้รับการตอบสนองช่วยเหลือแก้ไขอย่างเต็มกำลัง ก่อให้เกิดภาพแห่งการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงดังคำกล่าวที่ว่า “ข้าราชการคือผู้ทำงานให้ประชาชนชื่นใจ” ซึ่งจะปรากฏผลเป็นรูปธรรม คือ ความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และสมบูรณ์ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเกิดจากคุณธรรมความเมตตาภายในจิตใจได้ขับเคลื่อนและกำกับการใช้อำนาจในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างแท้จริง

เมตตาในพระพุทธศาสนานั้นเปรียบเสมือนน้ำบริสุทธิ์สำหรับชำระสิ่งสกปรก คือ ความโลภ ความหลง และความโกรธ ซึ่งมีอยู่ในสังคมอวิชชา เพราะเมตตาธรรมเป็นหลักธรรมพื้นฐานของทุกจิตใจอันจะนำไปสู่การพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกด้วยความรักในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยจิตเสมอกันในสัตว์ทุกหมู่เหล่าในที่ทั้งปวงและเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมสั่งสอนให้มนุษย์โลกทุกคนให้ได้ประพฤติปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในจิตใจ เนื่องจากจะก่อให้เกิดอานิสงส์ปรากฏออกมาเป็นคุณธรรมสำคัญ ๓ ประการ คือ ๑) เมตตากายกรรม เป็นการประพฤติสุจริตทางกาย ๒) เมตตาวจีกรรม เป็นการประพฤติสุจริตทางวาจา และ ๓) เมตตามโนกรรม เป็นการประพฤติสุจริตทางใจ โดยหนทางหรือวิธีการเข้าถึงเมตตาธรรมได้พึงปฏิบัติตามพระโอวาทของพระพุทธเจ้าประกอบด้วย  ๑) การไม่ทำบาปทั้งปวง  ๒) การทำกุศลให้ถึงพร้อม และ ๓) การทำจิตให้บริสุทธิ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์แนวทางตามคำสอนพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างความตื่นรู้ในตัวบุคคลในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยอาศัยหลักธรรมที่ว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” หรือตามพระบาลีว่า “โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา”จนกระทั้งเกิดผลสัมฤทธิ์ร่วมกันคือ ความเห็นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ในฐานะเหนือกว่าทางกฎหมายที่เรียกว่า “ผู้ให้บริการ” กับประชาชนซึ่งอยู่ในฐานะรองที่เรียกว่า “ผู้รับบริการ” ต่างเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกันและกันโดยมีหลักธรรมอันจะก่อให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องร่วมกันคือ ความรู้สึกมีเมตตาปราณีปรารถนาดีต่อกัน และได้ประโยชน์ร่วมกันนั้นก็คือทั้งสองฝ่ายต่างมีความสุขในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย จนกระทั้งเกิดปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมแห่งความไม่รู้ความจริง (สัจจะธรรม)ที่เรียกว่า “สังคมอวิชชา” โดยใช้ความเพียรพยายามร่วมกันในการผลักดันส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้มีขึ้นในตัวบุคคลทุกฝ่ายในสังคมที่เรียกว่า “สังคมวิริยะ” อันจะนำไปสู่สังคมแห่งความเอื้ออาทรแบ่งปันต่อกันที่ทุกคนต่างปรารถนาจะพบและได้อาศัยอยู่ที่เรียกว่า “สังคมแห่งคุณธรรม” ตามหนทางซึ่งได้ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง พระมหาชนก อันเป็นการสำเร็จประโยชน์ร่วมกันคือการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และการส่งเสริมสนับสนุนคนดีให้มีมากขึ้นและได้มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญในบ้านเมือง เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างสังคมแห่งความมีเมตตาธรรมให้บังเกิดขึ้นยังผลให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกันทุกฝ่ายโดยแท้

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕