หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพิเชษฐ์ ฐิตปุญฺโญ (จันทร์ทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๐ ครั้ง
เปรียบเทียบวิธีการระงับความโกรธของพระเถระสายเถรวาทกับมหายาน
ชื่อผู้วิจัย : พระพิเชษฐ์ ฐิตปุญฺโญ (จันทร์ทอง) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  พระราเชนทร์ วิสารโท
  สาธิต ขันทนันท์
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีการระงับความโกรธของ   พระเถระฝ่ายเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาวิธีการระงับความโกรธของพระเถระฝ่ายมหายาน                  ๓) เพื่อเปรียบเทียบวิธีการระงับความโกรธของพระเถระฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายาน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และผลงานวิชาการฝ่ายเถระวาทคือ ท่านพุทธทาสภิกขุ  กับพระพรหมคุณาภรณ์ ส่วนผลงานวิชาการของฝ่ายมหายานคือ องค์ดาไลลามะ และ       ท่านติช นัท ฮันห์ รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยนำเสนอผลการวิจัยในรูปแบบการเขียนพรรณนา เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

 

ผลการวิจัยพบว่า

 

) ความโกรธ ตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ความขัดเคือง ความไม่ชอบใจ ความแค้นใจ ความเจ็บใจ ความไม่แช่มชื่น ความอาฆาตแห่งจิต ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นจิต การมีจิตที่ปองร้าย การมีจิตที่มุ่งร้าย รวมถึงกิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความที่จิตไม่เบิกบาน นี้เรียกว่า ความโกรธ จากการศึกษาความหมายของความโกรธจากคัมภีร์พระไตรปิฎก เกี่ยวกับความโกรธในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฏก พระอภิธรรม ในนิกายเถรวาท และในพระสูตรมหายาน โพธิสัตวจรรยาวตาร หรือ แนวทางการดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตว์ ทำให้พบว่า ความโกรธ และวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในหมวดธรรมต่างๆ นั้นยังมีความสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่น โดยการนำไปตีความหมายเปรียบเทียบหรือทำหน้าที่ประกอบร่วมกับองค์ธรรมอื่น

 

๒) ในสายเถรวาท วิธีการระงับความโกรธของท่านพุทธทาสภิกขุ พบว่า ท่านพุทธทาสนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วมาลำดับใหม่เพื่อใช้สำหรับความโกรธโดยเฉพาะ ท่านพุทธทาส ได้นำเอาหลักธรรมหลากหลายมาระงับความโกรธ โดยจัดเป็นกลุ่มสำหรับเป็นเครื่องมือระงับความโกรธตั้งแต่ระงับเบื้องต้นไปจนถึงระงับโดยเด็ดขาดเริ่มจาก ขันติ, ทมะ, ปัญญา, สติ, สังวร,    สัจจาธิษฐาน, จาคะ, หิริโอตตัปปะ, กัมมัสสกตา, มรณัสสติ, อัปปมัญญาเมตตา เรียกกลุ่มธรรมะเหล่านี้ว่า ยุ้งฉางสำหรับเก็บความโกรธ โดยไม่ทิ้งหลักที่มีอยู่ เพียงแต่มาทำให้เห็นง่ายขึ้น ความโกรธยังมี แต่ไม่ให้ออกมาอาละวาด จนกว่าจะหมดสิ้นไปด้วยการหมดเหตุหมดปัจจัยของความโกรธ ส่วนวิธีการระงับความโกรธของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พบว่า พระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวถึงวิธีระงับความโกรธหลากหลายวิธีโดยแนะให้บำเพ็ญเมตตากรรมฐาน โดยเฉพาะขั้นตอนระงับความโกรธ ๑๐ ขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทาน การให้หรือแบ่งปันกัน เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกกันมายาวนานให้สงบลงได้ ทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตร เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ เมื่อความโกรธเลือนหาย ไฟพยาบาทก็กลายเป็นน้ำทิพย์แห่งเมตตา      ความแผดเผาเร่าร้อนด้วยทุกข์ที่เร้ารุมใจ ก็กลายเป็นความสดชื่นผ่องใสเบิกบานใจด้วยความสุข

ในสายมหายาน วิธีการระงับความโกรธขององค์ดาไลลามะ พบว่า วิธีจัดการกับความโกรธไว้ว่า เราสามารถที่จะพัฒนาตัวสกัดกั้นความโกรธความเกลียดชังไม่ให้เกิดขึ้นมาได้นั่นก็คือ ความอดทนอดกลั้น และความใจกว้าง ความกระตือรือร้น ความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่มากระทบใจเรา ทำให้เราสามารถระงับความโกรธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสติที่จะรับรู้มัน และวิธีการกำจัดเชื้อไฟแห่งความโกรธที่ดีที่สุดก็คือ ความอดทนอดกลั้นและการปลูกฝังความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในใจตนเอง หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ อาจโดยการแผ่เมตตา หรือคิดเอาใจเขามาใส่ใจเราอยู่ตลอด สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ความเมตตากรุณาเกิดขึ้นได้ ส่วนวิธีระงับความโกรธของ ติช นัท ฮันห์ พบว่า วิธีการที่จะทำให้มนุษย์ละทิ้งฟากฝั่งแห่งความโกรธ พระพุทธองค์ทรงมอบเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งเพื่อให้เราดับไฟในตัวเอง นั่นคือ อานาปานสติหรือการหายใจอย่างมีสติรำลึกรู้ การเดินจงกรม การยอมรับความโกรธ สำรวจสภาวะการรับรู้ ตลอดจนพินิจพิเคราะห์อีกฝ่ายเพื่อจะได้เข้าใจว่า เขาก็เป็นทุกข์หนักและต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน

๓) ผลเปรียบเทียบวิธีการระงับความโกรธของพระเถระฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายาน โดยทำการเปรียบเทียบ ๔ ด้าน ผู้วิจัยสรุปว่า ๑) เปรียบเทียบด้านความหมายของความโกรธ มีข้อสรุปเหมือนกัน คือ ความโกรธ คือ เป็นความรู้สึกไม่น่ายินดี มันเป็นเสมือนเปลวไฟที่พลุ่งโพลงเผาไหม้การควบคุมตัวเราเอง เป็นเหตุให้เราพูดและกระทำในสิ่งที่ทำให้เราเสียใจในภายหลัง ๒) เปรียบเทียบด้านลักษณะของความโกรธ มีความหมายสอดคล้องกันในด้านลักษณะของความโกรธทางกาย ทางวาจาและทางใจ คือ ขณะที่ความโกรธอันรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะพยายามรักษาท่าทีให้ดูสง่างามเพียงใด หน้าตาของเราย่อมดูน่าเกลียด มีการแสดงอากัปกิริยาที่ไม่งาม กระแสอารมณ์ที่ส่งออกมา ก็แข็งกร้าวไม่เป็นมิตร ใครๆ ก็สัมผัสได้ ๓) เปรียบเทียบด้านโทษของความโกรธ โดยภาพรวมแล้วมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ความโกรธเกลียดเป็นอารมณ์ด้านลบที่คอยเผาใจเราให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ยิ่งใครมีอารมณ์เช่นนี้อยู่ในตัวก็ยิ่งมีความทุกข์มากเท่านั้น อารมณ์เหล่านี้ยังทำให้ความคิดของเราไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ตลอดจนเป็นบ่อนทำลายความสัมพันธ์ส่วนตัวของเราด้วย         ๔) เปรียบเทียบด้านวิธีระงับความโกรธ มีข้อสรุปที่เหมือนกัน คือ นำหลักการและวิธีการตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการระงับความโกรธเป็นหลักสำคัญ โดยพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า      ความโกรธเกิดจากความไม่อดทน และเจริญเมตตาเพื่อดับความโกรธ โดยมีสติเป็นตัวกำกับตลอดทุกอิริยาบถ คือ สติปัฎฐานสี่เพื่อระมัดระวังไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น และเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ให้ลุกลามบานปลายจึงต้องคุมด้วยสติและเจริญเมตตาควบคู่ไปด้วยตลอดเวลาในการดำเนินชีวิต ให้เกิดความเคยชินจนสามารถขัดเกลากิเลสให้หมดไป จนสามารถเข้าถึงธรรมได้ทั้งในระดับโลกิยะและ โลกุตตระ

กล่าวโดยสรุป วิธีการระงับความโกรธของพระเถระสายเถรวาทและสายมหายานนั้น     มีความสอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการให้ทัศนะโดยการตีความ และอธิบายบนพื้นฐานของหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด และการนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ใจความสำคัญของการอธิบายนั้นลดลง นั่นคือจุดมุ่งหมายของการระงับความโกรธไปใช้ ทั้งวิธีการระงับความโกรธของพระเถระสายเถรวาทและสายมหายานนั้น        มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการตีความเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาให้แก่พระสาวกรวมไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ได้เข้าใจในหลักธรรมตลอดจนสามารถนำไปปฏิบัติในทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจในการศึกษาหรือการเลือกแนวทางในการนำปฏิบัติ รวมไปถึงบุญบารมีที่สั่งสมมาของแต่ละคนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ ทั้งในด้านโลกิยะสุข และ โลกุตตระสุข

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕