หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระเกษม นนฺทสีโล (วงศ์กิติตระกูล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๒ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์ภัยของภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระเกษม นนฺทสีโล (วงศ์กิติตระกูล) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  รังษี สุทนต์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาภัยของภิกษุในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาแนวคำสอนเรื่องภัยของภิกษุในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาตัวอย่างภัยของภิกษุในพระพุทธ ศาสนา (๓) เพื่อศึกษาวิธีป้องกันภัยของภิกษุในพระพุทธศาสนา การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร แบบพรรณนา นำหลักธรรมมาประยุกต์

ผลการวิจัยพบว่า ภัยของภิกษุ คือ ความหวาดสะดุ้งกลัวแห่งจิตของภิกษุ หมายถึง ภัยของกุลบุตรผู้บวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาไม่สามารถปฏิบัติธรรมวินัยได้ ภิกษุเห็นภัยในสังสารวัฏในการเวียนว่ายตายเกิด เพราะการเกิดบ่อย ๆ นั้นเป็นทุกข์ บุคคลบวชด้วยมีความศรัทธาเลื่อมใสและเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ให้รักษาศีลในพระปาติโมกข์อย่างเคร่งครัด และสำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง ๖ มีตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มีสติสัมปชัญญะให้ระลึกสิ่งกระทำในปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องป้องกันและบรรเทาภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับภิกษุ

อุปสรรคที่เป็นภัยอันตรายของภิกษุ มีสาเหตุมาจาก (๑) ภิกษุมีโทสะความโกรธและความคับแค้นใจไม่มีความอดทนต่อคำสั่งสอน เช่น พระฉันนะ (๒) ภิกษุมีตัณหาอยากบริโภคอาหารและติดใจในรสชาติของอาหารเป็นผู้เห็นแก่ปากท้อง เช่น พระทาสกะ      (๓)  ภิกษุมีตัณหาความอยากได้บำเรอตนพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณ ๕ เช่น พระวักกลิ  (๔) ภิกษุมีราคะความหลงใหลรักใคร่ผู้หญิง มีความกำหนัด ทำให้เกิดความกระสัน หลงรักผู้หญิง เช่น พระวังคีสะ จึงเป็นเหตุให้ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้นาน ต้องลาสิกขาสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์

แนวทางในการป้องกันและบรรเทาภัยอันตรายอันเกิดกับภิกษุด้วยวิธี  (๑) นำหลักธรรมวินัยมาป้องกันภัยของภิกษุไม่อดทนต่อคำสั่งสอน ด้วยการให้ภิกษุพึงศึกษานาถกรณธรรม และปฏิบัติธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  ให้มีจิตใจอ่อนน้อมรับฟังคำสั่งสอนของพระเถระด้วยความเคารพ   เพื่อป้องกันและบรรเทาความโกรธและความคับแค้นใจ (๒) นำหลักธรรมมาป้องกันภัยของภิกษุที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ด้วยการให้ภิกษุพึงมีความสันโดษ พอใจในอาหารบิณฑบาต ตามมีตามได้  ให้รู้จักพอประมาณในอาหารบริโภค ไม่ฉันอาหารให้มากเกินไป จนทำให้ร่างกายอึดอัด ไม่กระปรี้กระเปร่า ควรพิจารณาโดยแยบคายว่าอาหารเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ส่งกลิ่นเหม็น เพื่อบรรเทาและแก้ไขความอยากฉันอาหาร (๓) นำหลักธรรมวินัยมาป้องกันภัยของภิกษุฝันใฝ่ทะยานอยากได้กามคุณ ด้วยการให้ภิกษุรักษาพระปาติโมกข์อย่างเคร่งครัดไม่ละเมิดศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ให้ปฏิบัติตามในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สำรวมระวังในอินทรีย์ทั้ง ๖ พร้อมด้วยอาจาระมีมารยาทประพฤติในทางที่สุจริต ไม่เที่ยวไปในสถานที่ อโคจร ไม่คบหากับผู้หญิงหม้ายและสถานที่ขายสุรา ยาพิษ  เพื่อป้องกันและบรรเทาความอยากได้ใน กามคุณ ๕  (๔) นำหลักธรรมมาป้องกันภัยของภิกษุรักผู้หญิง    ด้วยการให้ภิกษุพึงเจริญกายคตาสติ คือ มีสติให้พิจารณาโดยแยบคายในกองสังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่ควรยึดติดว่าสวยงาม ควรเจริญ อสุภกัมมัฏฐาน ให้ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย ในอวัยวะร่างกาย ๓๒ ประการ มีสภาพไม่สวยงามของตนเองและของผู้อื่น ภิกษุพึงเจริญมรณานุสสติ คือ มีสติพิจารณาโดยแยบคายถึงความตายอันจะเกิดกับตนเองและของผู้อื่น โดยมีสติ, ความสังเวชและญาณ ให้มีมรณะอยู่ในอารมณ์ ทำให้เกิดเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ติดใจหลงใหลรักใคร่ผู้หญิง  เพื่อบรรเทาแก้ไขในภิกษุหลงรักผู้หญิง ทำให้ภิกษุดำรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ได้ตลอดไปในพระพุทธศาสนา

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕