หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สมพร นันทรีกูร
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตของคฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบัน
ชื่อผู้วิจัย : สมพร นันทรีกูร ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

             วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์วิถีชีวิตของคฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบัน  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  (๑) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของคฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันในสมัยพุทธกาล   (๒) เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมเป็นโสดาบันของคฤหัสถ์  (๓) เพื่อประยุกต์วิถีชีวิตของคฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันในสมัยพุทธกาลมาใช้ในสังคมไทย

             ผลการวิจัยพบว่า คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันในสมัยพุทธกาลส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตประกอบด้วยการอยู่ครองเรือน มีครอบครัว มีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เป็นผู้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ มีอาชีพที่สุจริต มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีความเลื่อมใสอันไม่อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่  มีความยินดีในการให้ทาน เป็นผู้มีศีล รักษาศีล ๕ อย่างมั่นคง บางท่านถือศีล ๘ ในวันอุโบสถ เป็นผู้ที่มีสุตะ มีการสดับฟังพระธรรมเทศนา เป็นผู้ที่เจริญภาวนาเป็นประจำ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ตลอดทั้งเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันบางท่านมีโอกาสปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล จาคะ ให้ฟังพระสัทธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บางท่านได้แสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นจนมีผู้บรรลุธรรม  บางท่านเดิมเป็นผู้เลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด ทำการงานที่ไม่ชอบ เป็นผู้ที่ไม่มีศีล หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความศรัทธา เป็นผู้ที่ไม่เคยให้สิ่งของแก่ใคร แต่หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาจนบรรลุเป็นโสดาบันแล้ว ท่านเหล่านั้นกลับมีวิถีชีวิตที่ประกอบไปด้วยความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย เป็นผู้เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ กระทำการงานชอบ เป็นผู้มีศีล มีความยินดีในการให้ทาน และเป็นสัมมาทิฏฐิ  คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันส่วนมากอยู่ด้วยวิหารธรรม หรือพักผ่อนหาความสุขยามว่างด้วยการเจริญอนุสสติ ๖ ได้แก่ เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ        

             คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบันส่วนมากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า หลักธรรมที่ทรงแสดงแก่คฤหัสถ์ส่วนมาก คือ อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ขณะที่คฤหัสถ์ผู้มีศีลได้ฟังพระธรรมเทศนาด้วยความศรัทธาอย่างตั้งใจ และใช้ปัญญาพิจารณาตามไป จนกระทั่งเห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ พร้อมกับการละสังโยชน์ โดยการประหาณทิฏฐิ และวิจิกิจฉาโดยไม่เหลือ ทำให้บรรลุโสดาปัตติผล บางท่านฝึกเจริญมรณานุสสติ หรือเจริญกายคตาสติ พิจารณาไตรลักษณ์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งสำเร็จเป็นโสดาบัน ดังนั้น จึงเป็นจริงตามพระพุทธพจน์ที่ว่า  “ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะ ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ มีความบากบั่นอยู่เป็นนิตย์ ย่อมถึงความหมดจดอย่างยิ่งได้” 

ดังนั้น คฤหัสถ์ผู้ประสงค์จะเป็นโสดาบันควรดำเนินชีวิตดีงามตามอย่างวิถีชีวิตของคฤหัสถ์ในสมัยพุทธกาล โดยการไม่เบียดเบียนตนเอง  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำประโยชน์สุขของสาธารณชน ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และดำเนินชีวิตของตนใน ๓ ด้าน คือ  (๑) ด้านการทำประโยชน์ตน ด้วยการประพฤติตนเป็นคฤหัสถ์ที่ดี มีศีล ๕ บริบูรณ์ และเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่ประกอบอาชีพค้าขายที่เบียดเบียนผู้อื่น ประกอบด้วยอุบาสกธรรม ๕ ประการ คือ เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ไม่แสวงหาผู้รับทักษิณานอกศาสนานี้ และทำอุปการะในศาสนานี้ก่อน รวมทั้งปฏิบัติเพื่อความเจริญในสัทธรรมอีก ๕ ประการ คือ ไม่ละเลยการเยี่ยมเยียนภิกษุ ไม่ทอดทิ้งการฟังสัทธรรม ศึกษาในอธิศีล มีความเลื่อมใสมากในภิกษุ และฟังธรรมอย่างไม่คอยคิดโต้แย้งเพ่งโทษ  (๒) ด้านการทำประโยชน์ส่วนรวม  ด้วยการปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น ๘ ประการ คือ ชักชวนผู้อื่นให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล และจาคะ ชักชวนผู้อื่นให้เห็นภิกษุ ฟังสัทธรรม ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  ตลอดทั้งใช้โภคทรัพย์ด้วยประโยชน์ ๕ ประการ คือ บำรุงบุคคลในครอบครัวและบริวารให้เป็นสุข บำรุงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข  ป้องกันอันตรายของโภคทรัพย์ให้ปลอดภัย ทำพลี ๕ อย่าง และตั้งทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไปโดยการอุปถัมภ์บำรุงสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ  (๓) ด้านการศึกษาปฏิบัติอบรมตน ต้องเรียนรู้และฝึกฝนอบรมตนให้มีคุณธรรมและสามารถทำลายกิเลสได้ โดยปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา และปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕