หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอินทบูรพาภิรม (สมุห์ สุลินทราบูรณ์)
 
เข้าชม : ๒๐๕๖๓ ครั้ง
การศึกษาแนวคิดสุนทรียศาสตร์ของปราสาทหินพนมรุ้ง (ปรัชญา)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอินทบูรพาภิรม (สมุห์ สุลินทราบูรณ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระยุทธนา อธิจิตฺโต
  เสรี ศรีงาม
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้  เป็นการวิจัยเอกสารซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีสุนทรียศาสตร์  เพื่อศึกษาประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้ง  เพื่อวิเคราะห์แนวคิดสุนทรียศาสตร์ในประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้ง  ผลการวิจัยพบว่า

 

             สุนทรียศาสตร์ เป็นปรัชญาส่วนหนึ่งในปรัชญาสาขาคุณวิทยา (Axiology) ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความสวย ความงาม ความไพเราะโดยเฉพาะอย่างยิ่งความงามด้านศิลปะเพื่อหามาตรการสาหรับตัดสินความงาม สำหรับทฤษฎีที่เป็นเกณฑ์ตัดสินความงามมี ๓ ทฤษฎีคือ ทฤษฎีวัตถุวิสัย ทฤษฎีทฤษฎีอัตนัยนิยม  ทฤษฎีสัมพัทธวิสัย

 

             ประติมากรรมของปราสาทหินพนมรุ้ง  มีลักษณะความงามที่เป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความเชื่อความศรัทธา ความดีของบุคคลในสมัยนั้น ประติมากรรมของปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ปารกฎ มีทั้งประติมากรรมที่สร้างขึ้นในคติความเชื่อศาสนาฮินดูและในคติความเชื่อพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ประติมากรรมของปราสาทหินพนมรุ้ง  มี ๓ ลักษณะคือ ๑. ประติมากรรมลอยตัว ๒.ประติมากรรมนูนสูง ๓.ประติมากรรมนูนต่ำ

 

             สำหรับประเด็นเรื่องปัญหาความมีอยู่ของความงามในประติมากรรมของปราสาทหินพนมรุ้ง  ทฤษฎีทฤษฎีอัตนัยนิยม (Subjective Theory) เห็นว่าทางสุนทรียะ คือคุณสมบัติของจิตหรือความรู้สึกตอบสนองทางด้านสุนทรียของผู้รับรู้ ที่มีต่อวัตถุทางสุนทรียะเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติใดๆ ของวัตถุทางสุนทรียะ ความรู้สึกตอบสนองในเชิงสุนทรียะนี้ เช่น ความชอบ ความเพลิดเพลิน หรือความพึงพอใจ

 

             ทฤษฎีวัตถุนิยมเห็นว่า  คุณค่าทางสุนทรียะ คือคุณสมบัติของวัตถุทางสุนทรียะ คุณสมบัติทางสุนทรียะนี้ เป็นคุณสมบัติดั้งเดิมที่ติดตัววัตถุทางสุนทรียะมาตั้งแต่แรกเริ่ม และมันมีความเกี่ยวข้องกับตัววัตถุทางสุนทียะเพียงอย่างเดียว  เมื่อคุณค่าทางสุนทรียะเป็นคุณสมบัติของวัตถุ คุณค่าทางสุนทรียะจึงมีลักษณะเป็นสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) สิ่งที่เป็นสัมบูรณ์ค่าของมันย่อมคงที่และแน่นอนตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึก หรือความพึงพอใจของใครหรือสิ่งอื่นใด

 

             ทฤษฎีสัมพัทธนิยมเห็นว่า  หลักเกณฑ์การตัดสินของความงามนั้นไม่ใช่กฎที่สมบูรณ์ตายตัว เพราะจักเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม  เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดคล้าย ๆกับกลุ่มอัตตนิยม  แต่ต่างกันตรงที่กลุ่มสัมพัทธวิสัยนั้นมีความเชื่อว่า  กฎเกณฑ์การตัดสินทางความงามนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม  วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นหรือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ  ตลอดจน ดิน ฟ้า อากาศของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์

          แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาความมีอยู่ของความงามแล้ว ความงามในประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้ง  มีลักษณะที่สอดคล้องและมีความสัมพันธ์กับความเชื่อศาสนา อาจกล่าวได้ว่า ความมีอยู่ของความงามในประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้ง  ก็คือความดี การที่จะตัดสินว่าความงามนั้นมีอยู่หรือไม่ต้องพิจารณาถึงคุณค่าแห่งความดีไปด้วย เพราะฉะนั้นความงามในประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้ง จึงมีลักษณะที่ไม่เหมือนแนวคิดตะวันตก หากนำแนวคิดทั้ง ๓ ทฤษฎีดังกล่าวมาตัดสินอาจทำให้ไม่เข้าถึงความมีอยู่ของความงามได้  ความงามในประติมากรรมปราสาทหินพนมรุ้งนอกจากจะมีคุณค่าทางสุนทรียภาพแล้ว   แต่ก็ยังมีประติมากรรมที่ให้ความจริงทางอภิปรัชญา ความดีทางจริยศาสตร์อีกด้วย

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕