หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิเชียร ธีรปญฺโญ
 
เข้าชม : ๒๐๐๕๘ ครั้ง
การศึกษาอิทธิพลของมาร ๕ ที่มีผลต่อการปฏิบัติธรรม
ชื่อผู้วิจัย : พระวิเชียร ธีรปญฺโญ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องมารในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒) เพื่อวิเคราะห์เรื่องมาร ๕ ในทรรศนะพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๓) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของมาร ๕ ในฐานะที่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร

             ผลการวิจัยพบว่า

             คำว่า มาร มาจากบาลีว่า มรฺ ธาตุ ในพระพุทธศาสนาให้ว่า สิ่งใดๆ ที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดี หรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุ ผลสำเร็จอันดีงาม ในการวิเคราะห์ศัพท์คำว่ามารหมายความว่าผู้ที่ฆ่ากุศลธรรมทั้งหลายชื่อว่ามาระ ในความหมายนี้มารจึงแปลว่า “ผู้ทำให้ตาย” หมายถึงเทวดาจำพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ที่คอยกีดกันไม่ให้ทำบุญ  อีกนัยหนึ่งกล่าวโดยธรรมาธิษฐานคำว่ามารคือโทษที่ล้างผลาญคุณความดีและทำให้เสียคนได้แก่กิเลสกามคือเจตสิก (สิ่งที่เกิดภายในใจ) อันเศร้าหมองชักให้ใคร่ให้รักให้อยากได้กล่าวคือตัณหาความทะยานอยากราคะความกำหนัดอรติความขึ้งเคียดเป็นต้น

             จากการศึกษาพบว่า มารที่กล่าวไว้ในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๕ ประเภท คือ (๑) กิเลสมาร สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัว มีโลภะโทสะ โมหะเป็นต้น (๒) ขันธมาร ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันเป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (๓)  อภิสังขารมาร ได้แก่ เจตนาอันปรุงแต่งจิตให้กระทำกรรมวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ (๔) เทวบุตรมาร หมายเอาเหล่าเทวดาผู้ขัดขวางการทำความดี  มีพญาวสวัตดีเป็นหัวหน้า พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท และ (๕) มัจจุมารความตายเป็นเหตุตัดโอกาสทำความดีทั้งปวง จากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า มารประเภทเดียวที่อยู่นอกตัวเราคือเทวปุตตมาร นอกจากนั้นมีอยู่ในภายในตัวเรา

             จาการศึกษาพบว่ามารในฐานะเป็นเครื่องขวางกั้นแห่งความดี หรือสิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือตายจากผลที่หมายอันประเสริฐ, สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุ ผลสำเร็จอันดีงาม ๕ ประการได้แก่ ๑. กิเลสมาร มารคือกิเลส, กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ๒. ขันธมารมารคือเบญจขันธ์, ขันธ์ ๕ เป็นมารเพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนา อย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร, อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังขารทุกข์ ๔.        เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร, เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่ามาร เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน  โดยชักให้ห่วงพะวงในกามสุขไม่หาญ เสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดียิ่งใหญ่ได้ และ ๕. มัจจุมาร มาร คือความตาย, ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาส ที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕