หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักอภิณหปัจจเวกขณ์
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๙/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประยูร แสงใส
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ /ธันวาคม /๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักอภิณหปัจจเวกขณ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักอภิณหปัจจเวกขณิ์เป็นการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร

ผลการศึกษาพบว่า อภิณหปัจจเวกขณ์หมายถึงการพิจารณาฐานะ ๕ ประการเนือง ๆ ได้แก่ ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ และความที่บุคคลมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นซึ่งฐานะเหล่านี้เป็นสภาพที่ครอบงำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ ผู้ที่ยังเกิดอยู่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ สภาพความแก่คือความที่กายสังขารมีผิวหนังเหี่ยวย่น กายขาดความคล่องแคล่ว เป็นต้น ความเจ็บคือกายสังขารถูกโรคภัยเบียดเบียน ทำให้เกิดความบกพร่องในการทำหน้าที่และเกิดความไม่สบายตามมา ความตายคือภาวะที่กายสังขารขาดชีวิตินทรีย์ครอง ไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องเน่าเปื่อยผุพังไปในที่สุด การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจคือการสูญเสียสิ่งที่ตนยึดมั่นด้วยความรักความผูกพันด้วยความเป็นมมังการ ส่วนความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตนคือเมื่อมีการกระทำด้วยเจตนา ย่อมมีผลของการกระทำตามมา คือเหตุดีทำให้ได้รับผลดี เหตุชั่วทำให้ได้รับผลชั่ว

การพิจารณาความแก่อยู่เนือง ๆ ทำให้ละหรือบรรเทาความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวได้การพิจารณาความเจ็บไข้อยู่เนือง ๆ ทำให้ละหรือบรรเทาความมัวเมาในความไม่มีโรคได้ การพิจารณาความตายอยู่เนืองๆ ทำให้ละหรือบรรเทาความมัวเมาในชีวิตได้ เช่น มัวเมาในยศอำนาจ เป็นต้น การพิจารณาการพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจอยู่เนือง ๆ ทำให้ละหรือบรรเทาความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในของรักของชอบใจนั้นได้ส่วนการพิจารณาการมีกรรมเป็นของตนอยู่เนือง ๆ ทำให้ละหรือบรรเทาทุจริต และขวนขวายในกรรมดี คุณค่าและประโยชน์ของการพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติ มี ๒ ลักษณะ คือ (๑) การมีบุคลิกภาพที่ดี ทำให้เป็นคนสุขุมเยือกเย็น จิตใจมั่นคง แม้ประสบกับความสูญเสียก็สามารถที่จะปล่อยวางได้ (๒) การมีสุขภาพจิตดี คือมีใจสงบและเป็นสุข คุณค่าและประโยชน์ต่อบุคคลอื่นคือทำให้ละเว้นการเบียดเบียนกัน และการขวนขวายทำความดีแก่ผู้อื่น คุณค่าและประโยชน์แก่สังคมเป็นผลที่เกิดมาจากการประพฤติของปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม เมื่อคนส่วนมากประพฤติดีและพัฒนาจิตใจของตนให้เจริญได้สังคมก็ย่อมมีความสงบสุขด้วย ส่วนประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเป็นผลที่เกิดจากการพิจารณาและปฏิบัติตามหลักอภิณหปัจจเวกขณ์ของพุทธบริษัท ทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่งคงสถาพรสืบไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕