หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิสุทธิ์ ธมฺมธีโร (มิจาด)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
ศึกษากัลยาณมิตรที่มีผลต่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิสุทธิ์ ธมฺมธีโร (มิจาด) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิเวที
  จรูญ วรรณกสิณานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องกัลยาณมิตรในพระพุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท  และเพื่อศึกษากัลยาณมิตรที่มีผลต่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             คำว่า มิตร เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า มิตตะ และมีความหมายเดียวกับคำว่าเมตตา กัลยาณมิตร หมายถึง มิตรที่ดี ทั้งที่เป็นบุคคลและคุณธรรม ที่ช่วยเกื้อกูลสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อให้ก้าวไปสู่หนทางชีวิตที่ดีงาม เจริญงอกงาม จนถึงบรรลุธรรม กัลยาณมิตรในที่นี้ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยบุคคล ๘ จำพวก ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักทั้งหลาย มารดาบิดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ภรรยา สามี มิตรสหาย กัลยาณชนทั้งหลาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เกี่ยวข้องและเป็นมิตรที่ดี คุณธรรมพื้นฐานของกัลยาณมิตรได้แก่ อริยทรัพย์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ และคุณธรรมที่ถือเป็นคุณสมบัติโดยตรงของกัลยาณมิตรได้แก่ กัลยาณมิตตธรรม ๗

             การบรรลุธรรม หมายถึง การอบรมพัฒนาปัญญาเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ กล่าวคือ เมื่อเข้าใจอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรก ตามระดับโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ย่อมก้าวล่วงความเป็นปุถุชน เข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล จึงกล่าวได้ว่า การบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ชั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ก็ดี การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ขึ้นอยู่กับระดับปัญญาญาณหยั่งรู้ในอริยสัจ ๔ 

             กัลยาณมิตรนับได้ว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท เพราะเป็นผู้คอยเกื้อหนุนและค้ำจุนต่อการฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของการปฏิบัติ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นบุคคลเป็นกัลยาณมิตรเชิงโลกียะ ส่วนพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกเป็นกัลยาณมิตรในเชิงโลกุตตระ เพราะการที่บุคคลจะสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงจนกำจัดกิเลส และหลุดพ้นจากวัฎฎทุกข์ได้ ก็ด้วยอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นผู้แนะนำสั่งสอน โดยอาศัยพระธรรมเป็นเครื่องมือการปฏิบัติ และมีพระอริยสงฆ์เป็นแบบอย่าง และเป็นกัลยาณมิตรคอยชี้แนะ

ดาวน์โหลด

 ดา

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕