หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุนทร รตนปฺญโญ (มติยาภักดิ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๗๑ ครั้ง
การศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบัน(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระสุนทร รตนปฺญโญ (มติยาภักดิ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา
  ดร. พรจิต อรัณยกานนท์
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาเพื่อการเผยแผ่ธรรมะในยุคปัจจุบันโดยศึกษาร่องรอยปัญหาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ว่ามีผลต่อปัจจุบันอย่างไร เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอนาคต การศึกษาการวิจัยนี้ เป็นการศึกษาเชิงวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง ๓ กลุ่มคือ ประชาชนที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นประจำของวัดเพลง และนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ๒ แห่ง ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในเขตภาษีเจริญ และพระนิสิตระดับปริญญาตรี โท และเอก ของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างในการรับข้อมูล และการสื่อสารในเรื่องภาษา ปัญหาในการสื่อสารของทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งพระสงฆ์ และฆราวาส เมื่อศึกษาแล้วผู้วิจัยได้นำข้อมูลมาประมวลวิเคราะห์ เชิงสถิติ โดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Means)เพื่อช่วยในการประเมินผลตามขั้นตอนจากการศึกษาปัญหาพบว่า
๑. ในสมัยก่อนพุทธกาล อิทธิพลของพราหมณ์มีพลวัตต่อวิถีชีวิตของผู้คนยุคนั้นมากเครื่องมือในการสื่อความหมายและเจตนาจากมนุษย์ไปสู่เทพคือ ภาษาสันสกฤต โดยมีพราหมณ์เป็นเจ้าพิธีกรรม ต่อมาภาษานี้เอง กลายเป็นภาษาของวรรณะชนชั้นสูงไป ส่วนภาษาที่ชาวบ้านพูดกันคือ ภาษาปรากฤต หรือภาษาตามแคว้นในถิ่นของตน ผู้คนจึงถูกกีดกัน ถูกแบ่งชั้นขึ้น กลายเป็นภาษาสองระดับคือ ภาษาระดับชนชั้นสูง และภาษาระดับชาวบ้าน แต่เมื่อมาถึงยุคพุทธกาล
พระองค์ทรงเข้าใจในบริบททางสังคมเหล่านี้ดีว่า แท้จริงแล้วมิใช่พระพรหมหรือเทพใดที่คอยลิขิตโชคชะตาให้เป็นไป แต่เกิดมาจากพวกพราหมณ์นี่เองกำหนดขึ้นมา ดังนั้น พระองค์จึงกำหนดวิธีการเผยแผ่ธรรมะที่แตกต่างจากพราหมณ์ โดยอาศัยภาษาชาวบ้าน (ภาษาปรากฤต) ในการเผยแผ่ธรรมะ ด้วยเหตุผล ๓ อย่าง ที่เป็นองค์ประกอบในการเผยแผ่คือ (๑) จากอิทธิพลของพราหมณ์ (๒)ด้วยการใช้ภาษาชาวบ้าน (๓) ด้วยคุณสมบัติเดิมและคุณสมบัติที่พระองค์ตรัสรู้ ทำให้พระองค์ได้พบวิธีการเผยแผ่ในรูปแบบใหม่ ถึงกระนั้น ด้วยความแปลกใหม่ จึงทำให้ผู้คนสงสัยเนื้อหาธรรมและวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่พราหมณ์ยังเกิดความอยากรู้อยากเห็น เมื่อมีปัญหาในครั้งนั้น ปัญหาทุกอย่างพระองค์ทรงแก้ไขได้ แต่ภายหลังพุทธปรินิพพาน ปัญหากลับเริ่มเห็นเป็นรอย
แยกด้านทัศนะต่างกันอย่างชัดเจน และก็กลายเป็นปัญหาที่ทับถมเรื่อยมา จนกลายเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกนิกายขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ไม่มีใครตัดสินเรื่องคำสอน และภาษาพุทธพจน์ได้อย่างหมดจดนั่นเอง
๒. ครั้นเมื่อสาวกได้รวบรวมหลักธรรมคำสอน โดยการทำสังคายนามาหลายครั้ง จนกลายเป็นพระไตรปิฎก จากการท่องจำ ก็กลายมาเป็นการจดบันทึกเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลีจากยุคสู่ยุค จากการท่องจำ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านวันเวลาที่เนิ่นนาน ทำให้เนื้อหา หลักการคำสอนเหล่านั้น เกิดผิดเพี้ยน เกิดข้อสงสัยว่า ภาษาที่บันทึกกับเนื้อหาที่ถูกบันทึกนี้ เป็นพุทธพจน์จริง ๆหรือไม่ แม้แต่ปัจจุบันมีคนสงสัยมากว่า พระไตรปิฎกเป็นพุทธพจน์หรือไม่ เพราะจากการสังคายนา การจดจำ การรวบรวม ได้ผ่านกาลเวลามานาน ความบกพร่องย่อมเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นเกิดการแต่งคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา เพื่ออธิบาย ขยายเนื้อหา ภาษา ให้เข้าใจมากขึ้นซึ่งก็เป็นเหตุให้เกิดการสวมรอยของอรรถาจาย์เข้าไปด้วย จนกลายเป็นการบิดเบือนไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีผลต่อการตีความ การขยายความจึงต้องอาศัยฐานอรรถาจารย์เหล่านี้เป็นหลัก เกิดการถกเถียงกันมากขึ้นในเนื้อหา และภาษาของพระองค์ จนในขณะปัจจุบัน พระสงฆ์ที่ออกไปเผยแผ่ธรรมะยังไม่มีความรู้ ไม่แตกฉานในหลักเท่าที่ควร ไม่รู้นิรุตติปฎิสัมภิทาเพียงพอ (เชี่ยวชาญด้านภาษา) ไม่รู้จักการวิเคราะห์บริบทผู้ฟัง ไม่รู้จักการถ่ายทอดในรูปแบบวิทยาการโลกยุคใหม่ การเทศน์ การบรรยายยังคงใช้ภาษาเก่า ๆ เดิม ๆ ตามจารีตประเพณี ทำให้เกิดปัญหาในการเผยแผ่
ธรรมะ ในขณะที่พุทธศาสนิกชนไทย เกิดปัญหาการไม่เข้าใจภาษาธรรมะนี้ด้วย ซึ่งพอสรุปปัญหาได้ดังนี้ปัญหาหลักที่พบกับชาวพุทธคือ (๑) ขาดกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดปัญญา (๒) ไม่รู้ภาษาบาลีดีพอ (๓) ไม่เข้าใจความหมายที่พระสงฆ์สื่อ (๔) คนไทยใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยน ขาดความจริงใจต่อกัน (๕) ชาวบ้านได้รับรู้คำ และความหมายของศัพท์มาจากสื่ออย่างผิด ๆปัญหาหลักที่พบจากพระสงฆ์คือ (๑) พระมีโอกาสเทศนาน้อย (๒) พระสงฆ์ขาดประสบการณ์และขาดความมั่นใจ (๓) ขาดความรู้วิทยาการสื่อสารยุคใหม่ (๔) ไม่เข้าใจหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง (๕) ขาดความรู้ด้านภาษายุคใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ
๓. การเผยแผ่ธรรมะที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น ย่อมเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ปัจจัยที่เป็นสาเหตุในการเผยแผ่ธรรมะที่ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งอดีตและปัจจุบัน สืบเนื่อมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
-เรื่องการศึกษาพบว่า ไม่ว่า อดีตและปัจจุบัน เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานในการเข้าใจธรรมชาติ ตัวเอง และหลักศีลธรรม
-เรื่องภาษา พบว่า ในอดีตและปัจจุบัน การใช้ภาษามีความแตกต่างกัน ในอดีตมีภาษาที่ใช้ในกลุ่มย่อยมากมาย แต่ละที่ แต่ละเผ่ามีภาษาของตัวเอง การสื่อสารต่างที่ ต่างถิ่นจึงเป็นปัญหาส่วนในปัจจุบัน โลกแคบลงการสื่อสารก็ง่ายขึ้น แต่ภาษากลับเป็นอุปสรรคในการบอกกล่าวหรือแสดงเจตจำนงของตนเองให้แก่ผู้อื่นเข้าใจ อีกทั้งผู้คนก็เดินทางไปมาหาสู่กันทั่วโลก การเผยแผ่ธรรมะหากไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่นอื่นก็ประสบผลสำเร็จยาก
-เรื่องการถ่ายทอดด้วยวิธีการในรูปแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ แม้เนื้อหาธรรมจะดีแค่ไหนแต่วิธีการถ่ายทอดไม่ชัดเจน ย่อมเกิดปัญหาการเข้าใจได้ วิธีการนี้จะนำมาซึ่งความสนใจ เมื่อคนสนใจวิธีการ เนื้อหาธรรมก็น่าสนใจตามมาด้วย
-เรื่องทัศนคติ การเผยแผ่ธรรมะ เบื้องต้นหากผู้ฟังหรือผู้รับมีทัศนคติที่เอนเอียงหรือไม่ชอบขึ้นมา ย่อมจะตั้งแง่ต่อต้าน เหมือนพวกพราหมณ์ในครั้งพุทธกาลที่ไม่ชอบวิธีการเผยแผ่ของพระพุทธเจ้า จึงกลายเป็นปัญหาได้
-เรื่องเทศะ คือ ท้องถิ่นแต่ละที่อาจจะไม่เหมาะในการเผยแผ่ธรรมะเช่น สถานที่มีสงคราม ที่แห้งแล้ง สถานที่มีศาสนาอื่น ๆ ที่เคร่งครัด ย่อมเกิดปัญหาในการเผยแผ่ธรรมะได้
-เรื่องวัยและเพศ ย่อมเกิดปัญหาได้ เด็กอาจจะยังไม่พร้อมที่รับธรรมที่ยาก คนแก่เกินไปก็ยากที่ฟังรู้เรื่อง ในขณะผู้เผยแผ่เป็นพระสงฆ์ ที่ใกล้ชิดสตรีมากไป อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื่องชู้สาวได้๔. แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสารธรรมะ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้คือ
-ศึกษาเรื่องภาษาธรรมะของตนเองให้แตกฉาน ในขณะเดียวกันควรศึกษาภาษาท้องถิ่นที่ตัวเองจะไปยังถิ่นที่นั้น ๆ ให้เข้าใจบ้าง
-ศึกษาเรียนรู้บริบททางสังคมให้กว้าง เพื่อจะได้มองเห็นทัศนคติ พฤติกรรมของสังคมนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร
-ศึกษาเรียนรู้วิธีการสื่อสาร วิทยาการโลกยุคใหม่ให้ทัน เพื่อปรับประยุกต์ในการนำเสนอ
-ปรับปรุงภาษาในการถ่ายทอดให้เป็นภาษาง่าย ๆ ที่บุคคลทั่วไปเข้าใจนอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจากบุคคลที่ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ ให้คำแนะแนวทางในการ
แก้ไขปัญหาดังนี้พระสงฆ์แนะนำว่า ผู้เผยแผ่ธรรมะ ควรศึกษาเรียนรู้ให้มาก รู้ทันโลกยุคใหม่ และใน
ขณะเดียวกัน ควรปฏิบัติธรรมให้เกิดปัญญาอย่างแท้จริงด้วยนักวิชาการแนะนำว่า ควรหาทางสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบที่ชัดเจน มีการจัดระบบการบริหาร การจัดการ การประเมินผลงานด้วยส่วนกลุ่มนักเรียนให้ข้อเสนอแนะว่า ควรนำเสนอธรรมสู่สาธารณชนในรูปแบบบันเทิง ผู้เผยแผ่ธรรมะควรใช้ภาษาที่ง่าย อยู่ในโลกความเป็นจริง และควรใช้ภาษาที่ร่วมสมัยด้วย
Download : 254915.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕