หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาปิยะ ปิยธมฺโม (แดนวงดร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ความมีอยู่ของอบายภูมิ ๔ ในพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาปิยะ ปิยธมฺโม (แดนวงดร) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพรชัย สิริวโร
  พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องความมีอยู่ (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอบายภูมิ ๔ ในพุทธปรัชญาเถรวาท และ (๓) เพื่อวิเคราะห์ความมีอยู่ของอบายภูมิ ๔ ในพุทธปรัชญาเถรวาท การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

ผลการวิจัยในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ พบว่า แนวคิดเรื่องความมีอยู่คือ การศึกษาธรรมชาติของสิ่งที่เป็นจริงในฐานะที่เป็นสากลที่สุด หรือในฐานะที่เป็น สิ่ง ไม่ใช่ในฐานะสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้โดยเฉพาะ โดยข้อพิสูจน์ความมีอยู่ ๔ ข้อ ดังนี้ (๑) การพิสูจน์เชิงภววิทยา คือ การอ้างเหตุผลในเรื่องความมีอยู่อย่างจำเป็น และการแสดงออกซึ่งศรัทธา เพื่อแสดงเหตุผลที่จำเป็นในการตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของพระเจ้า (๒) การพิสูจน์เชิงจักรวาลวิทยา คือ การอ้างเหตุผลจากการมีอยู่ของโลกไปสู่การมีอยู่ของพระเจ้าที่เป็นปฐมเหตุ (๓) การพิสูจน์เชิงอันตวิทยา คือ การอ้างเหตุผลจากการออกแบบซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของโลกธรรมชาติที่มีผู้สร้าง (๔) การพิสูจน์เชิงจริยธรรม คือ การอ้างเหตุผลที่อาศัยหลักจริยธรรมอันสัมบูรณ์ เพื่อยืนยันความดีสูงสุด และธรรมชาติของมนุษย์ยังมีข้อบกพร่องทางจริยธรรมอยู่ ดังนั้นมนุษย์มีจึงจริยธรรมที่ไม่สมบูรณ์ ผลการวิจัยในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ พบว่า อบายภูมิ ๔ คือ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย มีอยู่ในฐานะจิตวิสัย คือประกอบในจิตอันได้แก่ ความเป็นสัตว์นรก เพราะความโกรธ (โทสะ) เป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะความหลง (โมหะ) เป็นเปรตและอสุรกาย เพราะความโลภ (โลภะ) และมีอยู่ในฐานะวัตถุวิสัย คือมีภพภูมิที่อธิบายไว้อย่างละเอียดถึงสถานะที่อยู่ของสัตว์ในอบายภูมิแต่ละประเภท และผลการวิจัยในวัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ พบว่า ความมีอยู่ของอบายภูมิ ๔ ในพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น มีอยู่โดยเงื่อนไขของการพิสูจน์ผ่านทัศนะทั้ง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้ คือ (๑) การพิสูจน์เชิงภววิทยาได้ทราบเหตุผล ๒ ประการ คือ (๑) เรื่องกฎแห่งกรรมมีการดำรงอยู่อย่างจำเป็น เพราะมนุษย์กระทำความชั่วย่อมได้รับผลแห่งความชั่วจึงทำให้เกิดในอบายภูมิ และ (๒) เรื่องตถาคตโพธิศรัทธา ซึ่งเป็นการตระหนักรู้ในคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าที่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง และมีประสบการณ์จึงเป็นเหตุให้รู้ถึงความมีอยู่ของอบายภูมิ (๒) การพิสูจน์เชิงจักรวาลวิทยาได้ทราบเหตุผล ๒ ประการ คือ (๑) เรื่องจิตและ (๒) เจตสิก เพราะจิตและเจตสิกมีอกุศลเกิดขึ้นและดับพร้อมกันจึงเป็นตัวขับเคลื่อนให้มนุษย์ไปเกิดในอบายภูมิ (๓) การพิสูจน์เชิงอันตวิทยาได้ทราบเรื่องกฎแห่งความเป็นสาเหตุและผล เพราะกฎนี้เป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่อย่างแน่นอนตายตัว โดยไม่ขึ้นกับการรับรู้ของผู้ใด ความเป็นสาเหตุและผลนี้ทำให้ทราบว่าอบายภูมิมีอยู่ในกฎดังกล่าวด้วย (๔) การพิสูจน์เชิงจริยธรรมได้ทราบเหตุผล ๒ ประการ คือ (๑) เรื่องนิพพาน เพราะเป็นที่มาของจริยธรรมอันสัมบูรณ์ ซึ่งเป็นความดีสูงสุดโดยชี้ให้เห็นถึง (๒) เรื่องอบายภูมิ เพราะมนุษย์มีความประพฤติชั่วซึ่งผิดหลักจริยธรรมจึงทำให้จริยธรรมไม่สมบูรณ์หรือบกพร่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยเห็นว่า ความมีอยู่ของอบายภูมิ ๔ มีอยู่อย่างมีเงื่อนไขที่จำเป็น และมีอยู่อย่างมีเงื่อนไขที่เพียงพอในเรื่องของกฎแห่งความเป็นสาเหตุและผล กฎแห่งกรรม เรื่องตถาคตโพธิศรัทธา โดยอิงหลักจริยธรรมที่สมบูรณ์ไปสู่หลักจริยธรรมที่ไม่สมบูรณ์ โดยมีจิตและเจตสิกเป็นตัวรับรู้ถึงสภาพที่เป็นอกุศล

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕