หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ปุณยนุช ฟ้าภิญญ์โญ
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๒ ครั้ง
การศึกษาวิธีคลายความริษยาตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : ปุณยนุช ฟ้าภิญญ์โญ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยเรื่อง การศึกษาวิธีคลายความริษยาตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาความริษยาที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาความริษยาตามแนวคิดของนักจิตวิทยาและนักการศาสนา ๓) เพื่อศึกษาวิธีคลายความริษยาตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท แนวคิดนักจิตวิทยาและนักการศาสนา งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยคุณภาพเชิงเอกสาร

ผลการวิจัยพบว่า ความริษยาเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งที่มีอยู่ในมนุษยชาติ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น แล้วเกิดความไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม จึงนำมาสู่การประทุษร้ายผู้อื่น โดยเริ่มจากมโนกรรมไม่พอใจอยากให้ร้ายผู้อื่นก่อน แล้วจึงก่อกายกรรมหรือวจีกรรม นำมาซึ่งความเสียหายหรือความสูญเสียแก่ผู้อื่น เพื่อตอบสนองความริษยาของตนเอง

เมื่อเปรียบเทียบแนวคิดปมด้อยของนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย Alfred Adler กับ มานะ ๙ ในปปัญจธรรมในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้วคล้ายคลึงกัน คือ สาเหตุของความริษยาเกิดจากการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นแล้วไม่มีอย่างเขา ทำไม่ได้เหมือนเขา เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย จึงเกิดความริษยาผู้อื่น

ตัวอย่างเรื่องความริษยาในคัมภีร์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น กรณีพระเทวทัตริษยาต่อพระพุทธองค์ พยายามทำร้ายจนถึงขั้นปลงพระชนม์ ในบั้นปลายชีวิตของพระเทวทัตอาพาธจนมรณภาพ กรณีมหาเศรษฐีกรุงโกสัมพีริษยานายโฆสกะที่ได้รับคำทำนายว่าจะได้เป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในเมือง จึงพยายามฆ่าหลายครั้ง ในบั้นปลายชีวิตมหาเศรษฐีผู้มีความริษยาเครียดจัดที่ฆ่าโฆสกะไม่สำเร็จต้องตายไปพร้อมความริษยา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโทษของความริษยาที่ไม่ได้ให้คุณแก่ผู้ใดเลย

วิธีคลายความริษยาตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทและแนวคิดนักจิตวิทยามีความคล้ายคลึงกัน คือ แนะนำให้คบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรหรือผู้ที่ไว้วางใจได้ เล่าพฤติกรรมริษยาที่เกิดขึ้น พร้อมตั้งใจคลายความริษยาของตนตามหลักเมตตาและบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

พระพุทธองค์ทรงชี้ทางให้มนุษย์มีเมตตาปรารถนาดีต่อกันเป็นธรรมะข้อหลักในการคลายความริษยา เมื่อมีเมตตาและปรารถนาดีแล้วจะไม่คิดทำร้ายเบียดเบียนกัน ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ สำหรับผู้ที่ถูกริษยานั้นเมื่อมีความเมตตาก็ย่อมไม่โกรธ ไม่คิดร้าย และส่งกระแสแห่งความเมตตากลับไปยังผู้ริษยา ในที่สุดพลังแห่งความเมตตาก็แผ่เข้าสู่ผู้ริษยา เมื่อผู้ริษยารับกระแสความเมตตาอย่างเต็มเปี่ยมก็จะคลายความริษยาจนทำให้วงจรแห่งการทำลายล้างกันสิ้นสุดลง

ความเมตตาเป็นหลักธรรมสากลที่ทุกคนสามารถทำให้มีขึ้นในตนเองได้ อย่างไรก็ตามเรื่องการบอกให้คนทั่วไปมีความเมตตานี้พูดง่าย แต่ทำได้ยากเพราะความที่เป็นปุถุชนมีกิเลสอยู่ในใจ ถ้าไม่เริ่มสั่งสมความเมตตาไว้ในจิตใจเรา ความริษยาพร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้  ดังนั้นเราควรหมั่นเจริญเมตตาต่อสรรพสัตว์เพื่อคลายความริษยา เมื่อเจริญเมตตาอยู่เป็นประจำจนสามารถรู้เท่าทันความริษยาได้ ความริษยาย่อมไม่มีโอกาสแทรกเข้าสู่จิต ทำให้สามารถลด ละการทำบาป ความสงบสันติก็จะบังเกิดแก่คนในทุกสังคมในที่สุด

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕