หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุวิไล บุญธวัชชัย
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๐ ครั้ง
ศึกษาบทบาทของแม่คนเดียวต่อการปลูกฝังจริยธรรมแก่บุตรธิดา
ชื่อผู้วิจัย : สุวิไล บุญธวัชชัย ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การวิจัยเรื่อง “ศึกษาบทบาทของแม่คนเดียวต่อการปลูกฝังจริยธรรมแก่บุตรธิดา” มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของครอบครัวแม่คนเดียวในสังคมไทย (๒) เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของแม่และหลักธรรมสำหรับแม่คนเดียวในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์หลักธรรมในการปลูกฝังจริยธรรมแก่บุตรธิดาของแม่คนเดียว    

              การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยการผสมผสานการวิจัยเชิงเอกสารกับวิธีการสัมภาษณ์ประวัติชีวิต (Life history approach) ของกลุ่มตัวอย่างศึกษา คือ ผู้เป็นแม่ในครอบครัวแม่คนเดียวจำนวน ๗ ราย ผลการวิจัย พบว่า

             สภาพปัญหาของครอบครัวแม่คนเดียวในสังคมไทย พิจารณาจากปัญหาของผู้เป็นแม่ มี ๓ ประการ คือ (๑) ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงิน (๒) ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก (๓) ปัญหาด้านการอบรมเลี้ยงดู  โดยสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่มาจาก (๑) ความบกพร่องในการทำหน้าที่ของผู้เป็นแม่ (๒) การขาดแนวทางในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง จากการศึกษาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พบว่า แม่พึงปฏิบัติต่อลูกด้วยหน้าที่อันสำคัญ ๓ อย่าง ได้แก่ (๑) ให้การดูแลและเลี้ยงดู (๒) ให้การอบรมสั่งสอน (๓) ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง นอกจากนั้น หลักธรรมทางพระพุทธศาสนายังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของแม่ในครอบครัวแม่คนเดียวเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องใน ๓ ด้าน หลักธรรมเหล่านั้น ได้แก่ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม และหลักโภคอาทิยะ (ด้านเศรษฐกิจและการเงิน)  (๒) สาราณียธรรม และหลักธรรมว่าด้วยทิศ ๖ (ด้านความสัมพันธ์) และ (๓) พรหมวิหารธรรม ละฆราวาสธรรม (ด้านการอบรมเลี้ยงดู)

              การประยุกต์หลักธรรมเพื่อปลูกฝังจริยธรรมแก่บุตรธิดาของแม่คนเดียวมี ๓ แนวทาง  โดยการปฏิบัติบนหลักการพื้นฐาน และ เงื่อนไขพื้นฐาน (ความรู้คู่คุณธรรม) ดังนี้ (๑) แนวทางการประยุกต์หลักธรรมด้านเศรษฐกิจและการเงิน มี ๓ หลักการ คือ ความพอเพียง ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี และ ๒ เงื่อนไข คือ หลักวิชาความรู้ในการประกอบอาชีพ และหลักคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ ความขยันหมั่นเพียร ความมีวินัย และความพอเพียง (๒) แนวทางในการประยุกต์หลักธรรมด้านความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว มี ๓ หลักการ คือ ความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล ความเอื้ออาทร และ ๒ เงื่อนไข คือ หลักความรู้จักตัวเอง และหลักคุณธรรมด้านความมีสัจจะ ความอดทนอดกลั้น และความเสียสละ (๓) แนวทางในการประยุกต์หลักธรรมด้านการอบรมเลี้ยงดูมี ๓ หลักการ คือ ความประพฤติเป็นแบบอย่าง ความเสมอต้นเสมอปลาย การให้อภัย และ ๒ เงื่อนไข คือ หลักความรู้ในการอบรมเลี้ยงดู และหลักธรรมด้านความกตัญญูกตเวทิตา ความเมตตา ความกรุณา และอุเบกขา

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕