หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สมปอง ขวัญพุทโธ
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อผู้วิจัย : สมปอง ขวัญพุทโธ ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  บุษกร วัฒนบุตร
  ธิติวุฒิ หมั่นมี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพทั่วไป ปัญหาและอุปสรรคการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์     ๒) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์

ระเบียบวิธีวิจัยเป็นแบบผสานวิธี (Mixed Methods Research) ระหว่าง การวิจัย
เชิงคุณภาพ ที่ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ  ๒๓ รูป/คน เพื่อ
หารูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธร ที่จะนำไปสู่รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยได้ทำการสนทนากลุ่มเฉพาะ
จากผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๐ รูป/คน เพื่อยืนยัน
รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรองรับกับรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล และผู้วิจัยทำการศึกษาข้อมูลไปสู่การวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้การศึกษาวิจัย
เชิงสำรวจ จากกลุ่มตัวอย่าง ๑๘๒ คน โดยการแจกแบบสอบถาม เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทั่วไป ปัญหาและอุปสรรคการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนนำเสนอต่อเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้ได้เป็นแนวทางที่เป็นมาตรฐานก่อนที่จะนำเสนองานวิจัยต่อสาธารณะ

ผลการวิจัยพบว่า

๑. สภาพทั่วไปปัญหาและอุปสรรคการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า การมีส่วนร่วมด้านการวางแผนตัดสินใจ ด้านการร่วมดำเนินการ ด้านการรับประโยชน์ และด้านการติดตามประเมินผล โดยภาพรวม อยู่ในระดับ
ปานกลาง (
=๒.๖๑, S.D.=๐.๐๓) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านทั้ง ๔ ด้าน พบว่า
อยู่ในระดับ
ปานกลางทุกด้าน ประชาชนทั่วไปมักจะไม่รู้จักคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ซึ่ง กต.ตร. บางตำแหน่งไม่รู้บทบทหน้าที่ของตนเอง

๒. แนวคิด ทฤษฎี และหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวคิดการมีส่วนร่วม ๔ ด้าน ได้แก่ การตัดสินใจ (Decision Making) การดำเนินการ (Implementation) การรับผลประโยชน์ (Benefits) และการประเมินผล (Evaluation) และการบริหารงานของสถานีตำรวจ ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การจราจร การดูแลสาธารณสมบัติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น มาบูรณาการร่วมกันกับหลักสาราณียธรรม ๖ ประการ ซึ่งเป็นฐานในการอยู่ร่วมกัน และทำงานร่วมกันนำมาบูรณาการกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธร ได้แก่ ๑) เมตตากายกรรม ๒) เมตตาวจีกรรม ๓) เมตตามโนกรรม ๔) สาธารณโภคี ๕) ทิฏฐิสามัญญตา และ ๖) สีลสามัญญตา คือการ คิด พูด ทำด้วยเมตตา การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทุกคนประพฤติตนอยู่ในกรอบกติกาเดียวกัน ทุกคนพยายามปรับความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

๓. รูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีองค์ประกอบ คือ จะต้องเริ่มจากหลักสาราณียธรรม ๖ คือ ๑) เมตตากายกรรม         ๒) เมตตาวจีกรรม ๓) เมตตามโนกรรม ๔) สาธารณโภคี ๕) ทิฏฐิสามัญญตา และ ๖) สีลสามัญญตา นำมาบูรณาการกับการมีส่วนร่วม ๔ ด้าน คือ ด้านการวางแผนตัดสินใจ ด้านการดำเนินการ ด้านการรับผลประโยชน์ และด้านการติดตามประเมินผล ผ่านกระบวนการการบริหารงานของสถานีตำรวจ
ทั้ง  ๖ ด้าน
คือ ๑) ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ๒) ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชน ๓) ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
๔) ด้านการจราจร ๕) ด้านการดูแลสาธารณสมบัติ และ ๖) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
พบว่ามีการระดมสมอง ระดมความคิด กำหนดกิจกรรม วิเคราะห์ปัญหาและทางเลือกในการป้องกันอาชญากรรม มีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่น แบ่งปัน กำหนดกลวิธีการดำเนินงาน ทุกคนช่วยกันแก้ไขสังคม ไม่ปล่อยปละละเลยไม่นิ่งดูดาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชน ดังนั้น รูปแบบการมีส่วนร่วมนี้ สามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรในจังหวัดนครสวรรค์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะได้แนวทางจากการสังเคราะห์ (Synthesis Model)          

 

ดาวน์โหลด                                                                     

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕