หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพิศาลศึกษากร (สุดใจ ยโสธโร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๔ ครั้ง
การบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาตามหลัก ธรรมาภิบาล
ชื่อผู้วิจัย : พระพิศาลศึกษากร (สุดใจ ยโสธโร) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๑/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระระพิน พุทฺธิสาโร
  สุรพล สุยะพรหม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัด (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎี และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัด (๓) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล

              การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธีทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยได้ศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑๘ รูป/คน และการสนทนากลุ่มเฉพาะ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๙ รูป/คน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอรรถาธิบายและพรรณนาความ ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๔๒ ชุด โดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมประยุกต์เพื่อการวิจัย โดยใช้สถิติพรรณนากล่าวคือค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

              ผลการวิจัยพบว่า

              ๑. สภาพทั่วไปและปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัด ได้แก่
ด้านบุคลากร ผู้บริหารและครูขาดวิสัยทัศน์ในการเรียนการสอน ครูผู้สอนไม่มีความชำนาญ
ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง ขาดความชำนาญเฉพาะด้าน ด้านงบประมาณ โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนล่าช้า ได้เงินอุดหนุนในปริมาณน้อย ด้านวัสดุอุปกรณ์ ภายในสำนักงานไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่องตัวเพราะไม่มีเงินงบประมาณจัดซื้อ ขาดการเตรียมการที่ดี นักเรียนที่ย้ายมาใหม่ไม่มีคอมพิวเตอร์ บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ด้านการจัดการ

ขาดแคลนครู อาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขาดแคลนครูเพราะการตัดอัตราการบรรจุครูใหม่และลูกจ้าง ทำให้มีครูใหม่มาทดแทนไม่เพียงพอ

              ๒. แนวคิดทฤษฎี และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัด คือแนวคิดการบริหารจัดการโรงเรียน เป็นบริบทที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงเรียน ได้แก่ ทฤษฎีระบบเน้นการบริหารระบบ เป็นการสร้างประสิทธิภาพให้เกิดแก่องค์การ และการบริหารจัดการโรงเรียนตามหลักธรรมาภิบาลประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า

              ๓. การบริหารจัดการโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนาตามหลัก
ธรรมาภิบาลประกอบด้วย ด้านการบริหารวิชาการ ผู้บริหารทำหน้าที่ในการกำกับดูแลบุคลากรภายในโรงเรียนให้มีการพัฒนาวิชาการเรียนการสอนให้ทันสมัย ตามหลักสูตร เน้นเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ด้านการบริหารงบประมาณ ผู้บริหารกำกับดูแลเจ้าหน้าที่การเงินงบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรทั้งครู ลูกจ้าง เน้นการเบิก การจ่ายเงินตามอัตราที่กำหนด

ด้านการบริหารบุคคล ผู้บริหารกำกับดูแลบุคลากรภายในโรงเรียนให้เป็นไปตามนโยบาย และวัตถุประสงค์ ด้านการบริหารทั่วไป ผู้บริหารมีภาระหน้าที่บริหารโรงเรียน เช่น อาคารสถานที่ ชุมชนสัมพันธ์ การพัฒนาห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโต๊ะเก้าอี้เป็นต้น
ให้พร้อมใช้งาน ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน กล่าวคือด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป

          การบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ได้แก่ หลักนิติธรรม (Legality) ผู้บริหารโรงเรียนส่งเสริมการรณรงค์การเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมศิลปวัฒนธรรม หลักคุณธรรม (Morality) ผู้บริหารมีมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเสมอต้นเสมอปลาย ยกย่องชมเชย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น หลักความโปร่งใส (Transparency) ผู้บริหารโรงเรียนมีการปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ตรงกับความเป็นจริง หลักการมีส่วนร่วม (Participation) ผู้บริหารมีความรักความผูกพัน ทุ่มเทกับการทำงาน หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) ผู้บริหารติดตามผลการใช้งบประมาณทั้งในและนอกให้บรรลุวัตถุประสงค์ หลักความคุ้มค่า (Value) ผู้บริหารได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ บุคลากร การเงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการอย่างประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ ตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน กล่าวคือหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม
หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕