หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
กระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับผู้นำ
ชื่อผู้วิจัย : ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีคัมภีรญาณ
  อำนาจ บัวศิริ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

                                                          บทคัดย่อ

             งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดคำสอนเกี่ยวกับศีล ๕ และแรงจูงใจในการรักษาศีล ๕ ในพระพุทธศาสนา  (๒) ศึกษาแนวคิดกระบวนการสร้างแรงจูงใจ          ในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ และ (๓) นำเสนอชุดฝึกอบรมกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับผู้นำ รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research Design) ซึ่งประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และ การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) แบบทำการทดลอง (Pre- Experimental Design) เพื่อทดลองชุดฝึกอบรมฯ กับกลุ่มตัวอย่างผู้นำจำนวน ๑๕ คน และทำการวิเคราะห์ผลด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ เพื่อปรับปรุงพัฒนาและนำเสนอชุดฝึกอบรมกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับผู้นำ

             ผลการศึกษา พบว่า ศีล ๕ มีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม เป็นพื้นฐานการพัฒนาตนเองให้พบกับความสุขสงบเย็น เข้าถึงการดับทุกข์ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความสามัคคี ในหมู่ชน เกิดความรักใคร่ปรองดอง อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น  ศีล ๕ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้นำพึงกระทำตนให้เป็นแบบอย่างให้กับสังคม  โดยมีหลักธรรมที่เกื้อหนุนการรักษาศีล ๕ เช่น สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) เป็นต้น การจูงใจให้รักษาศีล ๕ ควรเกิดจากความปรารถนาที่จะทำตนเองให้มีความสุข  ทำให้มีความเพียรเพื่อไปให้ถึงจุดหมายของชีวิต  เป็นแรงจูงใจภายในที่เป็นด้านบวก และเป็นแรงจูงใจตามแนวพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้สร้างแรงจูงใจให้รักษาศีล ๕ เพื่อจุดหมาย คือ การเดินสู่เส้นทางแห่งการหลุดพ้นตามหลักมรรคมีองค์ ๘ ทำให้รู้จักทางเดินชีวิตในทางที่ดีงามเป็นกุล เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

             กระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับคนส่วนใหญ่อาศัยการเรียนรู้จากการฟังผู้อื่น (กัลยาณมิตร) และคิดพิจารณาเหตุผลด้วยตนเอง (โยนิโสมนสิการ) ลองนำไปปฏิบัติและฝึกฝน (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ) กระบวนการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือกลไกที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ ผู้เข้าอบรม อยากนำศีล ๕ ไปปฏิบัติ ซึ่งแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ เป็นการบูรณาการการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนาและตามตะวันตก โดยมีหลักการพื้นฐานสำคัญ คือ (๑) การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  (Learner Centered) (๒) ผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้จัดการเรียนรู้วิถีพุทธ (Buddhist Learning Facilitator) (๓) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) (๔) กระบวนการเรียนรู้ตามหลักมรรคมีองค์ ๘ (Learning Process of the Noble Eightfold Path) โดยมีแรงจูงใจตามแนวพระพุทธศาสนา คือ มีกุศลธรรมฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา กล่าวคือ มีอิทธิบาท ๔ ในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕

ชุดฝึกอบรมกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ สำหรับผู้นำ           ด้วยหลัก K A M  คือ ทำให้เกิดการเรียนรู้ (Knowledge) เกิดความเข้าใจ (Attitude Positive Thinking) และ มีแรงจูงใจตามหลักพระพุทธศาสนาในการรักษาศีล (Motivation  According to  Buddhist’s Concept)  ด้านของเนื้อหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย (๑) การเรียนรู้กลุ่มเสริมสร้างศรัทธา มี ๖ กิจกรรมย่อย (๒) การเรียนรู้กลุ่มโยนิโสมนสิการ มี ๑๐ กิจกรรมย่อย และ (๓) การเรียนรู้กลุ่มเสริมสร้างสติ  ด้านรูปกิจกรรมที่นำมาใช้ในการจัดกิจกรรม ด้วยหลัก 2R 2S 2D  ได้แก่  เกมนันทนาการ (Recreational Games), บทบาทสมมุติ (Role Playing) เรื่องเล่า (Story telling), การฝึกเจริญสติ (Satipattana), การอภิปราย (Discussion), ธรรมะในภาพยนตร์และเพลง (Dhamma in the movies and music)

             ผลการทดลองใช้ชุดฝึกอบรม พบว่า ผู้นำที่เข้าอบรมมีคะแนนเฉลี่ยของแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕  โดยแยกตามศีลแต่ละข้อ และโดยรวมทั้ง ๕ ข้อ หลังการทดลอง มีคะแนนสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕  ผู้นำที่เข้าอบรมมีความตั้งใจ ความพยายาม ความเอาใจใส่  และใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองในการรักษาศีล ๕ มากขึ้น  เกิดความเห็นถูกและมีจิตสำนึกเห็นคุณค่าของศีล  มีทัศนคติบวกในการดำเนินชีวิต สรุปได้ว่า ชุดฝึกอบรม ฯ               สามารถนำทำให้ผู้นำมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามหลักศีล ๕ มากขึ้น

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕