หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กาญจนา ดำจุติ
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามหลักพุทธธรรมของผู้นำชุมชนในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร
ชื่อผู้วิจัย : กาญจนา ดำจุติ ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ยุทธนา ปราณีต
  สุรพล สุยะพรหม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

                        

                                                    บทคัดย่อ


                 การวิจัยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปในการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในการปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและบูรณาการหลักพุทธธรรมและทฤษฎีเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ๓) เพื่อเสนอการส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามหลักพุทธธรรมของผู้นำชุมชนในการปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Method Research) ใช้การวิจัยเชิงปริมาณ กับกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้นำชุมชน เขตดุสิต เขตบางคอแหลม เขตบางซื่อ เขตบางกะปิ เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ จำนวน 154 คน และการวิจัยเชิงคุณภาพจาก การสัมภาษณ์แบบเชิงลึก รวมทั้งสิ้น ๑๙ รูป/คน ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์/นักวิชาการ จำนวน ๘ รูป นักวิชาการ ๓ คน ผู้บริหารสำนักงานเขต จำนวน ๔ คน ผู้นำชุมชน ๔ คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentages) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
            ผลการวิจัยพบว่า
            ๑.    ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาโดยเรียงตามค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ตามกิจกรรมดังต่อไปนี้ ได้แก่ การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ ที่ได้จากการแก้ปัญหายาเสพติดทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รองลงมาได้แก่ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการในการเข้าร่วมในกิจกรรมการเฝ้าระวัง ติดตาม และแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการในการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การมีส่วนร่วมในการประเมินผล ในระดับติดตามผลการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
             ๒.    ปัญหาและอุปสรรค การมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในการดำเนินการในระดับนโยบาย เรื่องการศึกษา ยาเสพติด สุขภาพและสวัสดิการสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมงบประมาณ ผู้นำชุมชนเป็นเพียงผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ กรุงเทพมหานครยังเป็นผู้กำหนดนโยบาย ปัญหาระดับชุมชน เป็นการมีส่วนร่วมแบบบางส่วน เช่น การแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน เป็นปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบต่อตนเองและบุตรคนในชุมชน ที่ผู้นำชุมชนตัดสินใจแก้ปัญหา ดำเนินการจัดหางบประมาณ ตั้งคณะกรรมการตำรวจชุมชนในการสอดส่องดูแลแจ้งเบาะแส เพื่อหาทางป้องกัน ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานกับผู้นำชุมชนเกี่ยวกับระบบการทำงานของหน่วยงานราชการ ปัญหาของผู้นำชุมชน คือ การไม่ได้รับการยอมรับในศักยภาพ ความรู้ความสามารถ และไม่เห็นความสำคัญต่อบทบาทของผู้นำชุมชน ในการเข้าร่วมเสนอนโยบาย ปัญหา หรือความต้องการของชุมชน ทำให้ขาดโอกาสในการนำเสนอปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้การแก้ปัญหาของไม่ได้รับความร่วมมือและไม่ต่อเนื่อง
               ๓.    การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน กรุงเทพมหานคร มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความทันสมัยทางวัตถุ และคาดหวังเรื่องงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมกิจกรรมของชุมชน จึงนำหลักอปริหานิยธรรมมาบูรณาการในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน ในรูปแบบที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วม คือ MBB Model ที่สามารถประยุกต์ใช้โดยให้มีการร่วมประชุม (Meeting) กันเป็นประจำภายในชุมชนและระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังปัญหา รับรู้ข้อตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียงกัน ร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงาน (Board) เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ให้การยอมรับในการเข้าร่วมกิจกรรม ให้โอกาสในการนำเสนอความเห็น ปัญหา ความต้องการของชุมชน ให้ความสำคัญในการรับฟัง หาแนวทางป้องกัน แก้ไขให้ความรู้แก่ชุมชน และร่วมรักษาผลประโยชน์ (Benefits) ซึ่งเป็นผลจากการร่วมตั้งแต่กิจกรรม การตัดสินใจ ดำเนินการ รับผลประโยชน์ และประเมินผล ไม่ให้เกิดความเสื่อม ในเรื่องของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม สิ่งที่ดีงามเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรม อาชีพเฉพาะชุมชน หรือบุคคลที่มีคุณประโยชน์ มีภูมิรู้ ในชุมชน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งในด้านการศึกษา ปัญหายาเสพติด สุขภาพและสวัสดิการชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาของชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองและบริหารจัดการได้โดยคนในชุมชน
             ๔.    ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรุงเทพมหานคร ๑) จัดให้มีการให้ความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการฝึกอบรม/สัมมนา/ประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ๒) เพิ่มงบประมาณ เช่น เบี้ยประชุม ค่าดำเนินกิจกรรมของชุมชน จัดตั้งเงินกองทุนชุมชนให้คณะกรรมการและชุมชนร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบ ๓) นโยบายเปิด Website ชุมชน ให้ชุมชนมีการเปิดรับข้อมูลจากสำนักงานเขต แลกเปลี่ยนข้อมูลของชุมชนอื่น อบรมให้ความรู้ในการสื่อสาร หรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสื่อสารระหว่างกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต สถานีตำรวจ หรือระหว่างชุมชนด้วยกัน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕