หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาจันทราวุฒิ วชิรเมธี (อรรถโยโค)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๖ ครั้ง
พุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาจันทราวุฒิ วชิรเมธี (อรรถโยโค) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๑๒/๒๐๑๖
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู
  วรกฤต เถื่อนช้าง
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “พุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท”นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา  ๒. เพื่อศึกษาพุทธวิธีการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา  ๓. เพื่อประยุกต์พุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาในสังคมไทยปัจจุบัน

ผลการวิจัย พบว่า

๑. การอบรมสั่งสอนหมายถึง การพร่ำสอนให้ซึมซาบเข้าไปจนติดเป็นนิสัย โดยในสังคมตะวันตกได้มีการจำแนกการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา ออกเป็นหลายรูปแบบ เช่น การอบรมสั่งสอนแบบประชาธิปไตย แบบทอดทิ้ง แบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป เป็นต้น ในขณะเดียวกับที่สังคมตะวันออก ก็ได้มีการจำแนกการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา หลายรูปแบบเช่นกัน ได้แก่ การอบรมสั่งสอนแบบใช้อำนาจควบคุม แบบดูแลเอาใจใส่ แบบรักตามใจ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา ๒ ประการ คือ ทฤษฎีความผูกพัน ทฤษฎีการอบรมสั่งสอนและปลูกฝังจริยธรรม สำหรับหลักการอบรมสั่งสอนบุตรธิดานั้น มี ๕ ประการ คือ ให้ความรักความเข้าใจ เป็นตัวอย่างที่ดี มีความเสมอภาค และมีการลงโทษที่เหมาะสม ส่วนวิธีการอบรมสั่งสอนนั้น มี ๖ ประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางครอบครัว ได้แก่ ประเภทรักมาก ประเภทไม่ต้องการลูก ประเภทตามใจมาก ประเภทวิตกกังวลเกินเหตุ ประเภทเจ้าระเบียบ และ ประเภททางสายกลาง

๒. ตามหลักพุทธวิธีที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทเบื้องต้น ผู้ที่จะทำหน้าที่อบรมสั่งสอนบุตรธิดา ต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการ คือ ๑) มีคุณสมบัติของผู้สอน  ๒) มีลีลาการสอน    ๓) มีวิธีการสอน ๔) มีกลวิธีและอุบายประกอบการสอน การศึกษาพุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนบุตรธิดา มีแหล่งที่มา ๔ แห่ง คือ ๑) พุทธวิธีที่ทรงใช้ในสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ๒) พุทธวิธีที่ทรงใช้กับพระราหุล ๓) พุทธวิธีของพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล และ ๔) พุทธวิธีของพุทธสาวกหลังสมัยพุทธกาล สรุปได้เป็น ๒ ประเด็น คือ ๑) การอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของพระพุทธเจ้าในชาดกต่าง ๆ มุ่งเน้นให้บุตรธิดาเป็นผู้มีคุณธรรม  ว่าง่ายสอนง่าย มีสัจจะ  มีเมตตา มีความกตัญญู  มีความพร้อมในการดำรงชีวิต  ๒) การอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของพุทธสาวก มุ่งเน้นให้ปฏิบัติตามความประสงค์ของบิดามารดา  มีการใช้รางวัลเป็นแรงจูงใจ เพื่อให้บุตรธิดาสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของการดำเนินชีวิต  รู้จักปรับตัวให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การยกตัวอย่างที่ดีเปรียบเทียบ และต้องอบรมสั่งสอนในสิ่งที่เป็นไปได้ พร้อมกับกระตุ้นให้มีความกล้าต่อเป้าหมายที่แท้จริง

๓.  การประยุกต์พุทธวิธี ๒ ประเภท คือ พุทธวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ และพุทธวิธีที่พุทธสาวกใช้  มาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยให้เหมาะสมกับบุตรธิดาแต่ละวัย โดยปรับให้เข้ากับหลักการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาในสังคมไทย ๕ ประการ ได้ดังนี้ ๑. ใช้หลักการอบรมสั่งสอนธิดาของพระพุทธเจ้าจากชาดต่างๆ ประยุกต์กับหลักการให้ความรัก ความเป็นตัวอย่างที่ดี และความเสมอภาค ๒. ใช้หลักการอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของพุทธสาวกประยุกต์กับหลักการให้ความเข้าใจ และหลักการลงโทษที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ควรนำหลักธรรมจากพุทธวิธีมาอบรมสั่งสอนบุตรธิดา ใน ๓ ด้าน คือ ก) ด้านการครองเรือน  ด้วยหลักธรรม สัจจะ  เมตตา กตัญญูกตเวที และทิศ ๖  ข) ด้านการวางตัวในสังคมด้วยหลักกัลยามิตตธรรม คารวธรรม อปจายนธรรม และการคบมิตร  ค) ด้านการบริโภคสื่อเทคโนโลยี  ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ หลักอัปปมาทธรรม และหลักสมชีวิตา เป็นต้น

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕