หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดประพจน์ สุปภาโต (อยู่สำราญ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๒ ครั้ง
การศึกษารูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จังหวัดนครปฐม(การจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดประพจน์ สุปภาโต (อยู่สำราญ) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๙/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พิเชฐ ทั่งโต
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  พระมหาโยตะ ปยุตฺโต
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

                    การศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์ จังหวัดนครปฐม” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาและรูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (๒) เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในจังหวัดนครปฐม และ (๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดนครปฐม ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ๑) ผู้บริหารศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จำนวน ๒๒ รูป/คน ๒) พระสงฆ์หรือครูประจำศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ จำนวน ๕๕ รูป/คน ๓) ผู้เรียน จำนวน ๕๕ คน ๔) ผู้ปกครอง จำนวน ๒๒ คนรวมผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๕๔ คน เพื่อให้ได้มุมมองของการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดนครปฐม ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑) ด้านบริบท (Context) ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ นำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับสังคมด้วยการเรียนรู้ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมกับเยาวชนและพุทธศาสนิกชน เพื่อให้เกิดความสงบและสว่าง รู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัยและเงื่อนไข และรู้เท่าทันกระแสสังคม ครอบคลุมการพัฒนาทุกมิติของชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง

                   ๒) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีการดำเนินการใน ๕ ด้าน คือ ๑)ด้านบุคลากร ๒)ด้านการบริหารจัดการ ๓)ด้านการจัดทำหลักสูตร ๔)ด้านสภาพแวดล้อมของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ๕)ด้านการมีส่วนร่วมชุมชนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

                   ๓)  ปัจจัยกระบวนการ (Process) มีการจัดกระบวนการสอนตามหลักพุทธวิธีการสอน และหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อพัฒนาพฤติกรรม ๓ ด้านหลักๆ คือ ๑)ด้านพุทธิศึกษา (Cognitive Domain) มุ่งเน้นการเกิดความรู้ และความคิดสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้ ๒)ด้านจริยศึกษา (Affective Domain) มุ่งปลูกฝังเจตคติและค่านิยมชาวพุทธ ๓)ด้านทักษะศึกษา (Psychomotor Domain) มุ่งสร้างความสามารถในการปฏิบัติ หรือการกระทำอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักของพฤติกรรมศาสตร์

                   ๔) ปัจจัยผลผลิต (Output) คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาเป็น คนเก่ง และ คนดี”  มีการพัฒนาในด้านต่างๆ คือ ๑)ด้านการพัฒนาทางกาย ๒)ด้านการพัฒนาทางสังคม ๓)ด้านการพัฒนาทางจิตใจ และ ๔)ด้านการพัฒนาด้านปัญญา

                   ๕) ปัจจัยผลกระทบ (Impact) ผลกระทบที่ตามมาก็คือ วัด บ้าน โรงเรียน ได้รับประโยชน์จากการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และเกิดความสมานฉันท์ร่วมมือกันพัฒนาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และสังคมตามวิถีพุทธอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นว่า ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์จะช่วยแก้ปัญหาศีลธรรมในเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน                  

                   ๖) การพัฒนาศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์รับประชาคมอาเซียน ๑)สร้างแนวคิดวิถีพุทธ วิถีอาเซียนสอนวิชาธรรมศึกษาตรี โท เอก รวมทั้งพัฒนาทักษะเรื่องภาษาอังกฤษและภาษาที่ ๓ ให้เหมาะสมกับสถานภาพของผู้เรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ๒)พัฒนารูปแบบวิถีชีวิต (Way of Life) ของเยาวชนไทย ให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาทั่วถึง ทันโลก และมีคุณธรรมจริยธรรม ๓)มีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ในลักษณะ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง๔)ปรับปรุงและจัดทำหลักสูตรตำราเรียนของศูนย์ฯ เน้นความเป็นสากล ควบคู่กับเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

                   ๗) ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประกอบด้วย ๑)ปัญหาด้านบุคลากร ๒)ปัญหาด้านวิชาการ ๓)ปัญหาด้านงบประมาณ ๔)ปัญหาด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม ๕)ปัญหาด้านกิจการนักเรียน ๖)ปัญหาด้านการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน บ้าน วัด และโรงเรียน

                    ๘) รูปแบบการบริหารงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (Inputs) และกระบวนการ (Process) ได้แก่ หลักสูตร ครูและบุคลากรทางการศึกษา กระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดผลผลิต (Outputs) คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยให้มีมาตรฐานสูง มีคุณภาพในระดับสากล ผู้เรียนสามารถเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลง เพื่อดำรงตนในสังคมได้อย่างดีมีความสุขร่วมรับผิดชอบพัฒนาชุมชนประเทศชาติ และมีชีวิตอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕