หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูเมตตากิตติวิมล (อภัย อภโย)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อในประเพณีฮดสรงของชาวตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย : พระครูเมตตากิตติวิมล (อภัย อภโย) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  อุดม บัวศรี
  ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

                  งานวิจัยเรื่องนี้มีประวัตถุประสงค์ ดังนี้  คือ  เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของประเพณีฮดสรงในภาคอีสาน เพื่อศึกษาความเชื่อในประเพณีฮดสรงของชาวตำบลป่าสังข์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อวิเคราะห์ประโยชน์และคุณค่าของประเพณีฮดสรงที่มีต่อชาวตำบลป่าสังข์อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยศึกษาภาคสนาม (Field work) นำบทสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ประกอบวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์

                 ผลการวิจัยพบว่า ประเพณีฮดสรง คือประเพณีรดน้ำพระภิกษุสามเณรเพื่อสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นการยกย่องเชิดชูพระภิกษุสามเณรด้วยเกียรติ  ในอีสานเหนือ  อีสานกลาง  หรืออีสานใต้  จะมีการจัดพิธีในเดือนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน  บุคคลากรที่ฮดสรงเป็นพระสงฆ์เช่นเดียวกัน ซึ่งในส่วนที่ต่างกันนั้นจะเป็นทางด้านบริบทในส่วนของที่เป็นรายละเอียดในการจัดพิธีฮดสรง  เช่นเครื่องบริขารไม่เหมือนกันวิธีปฏิบัติในพิธีและวิธีดำเนินงานแตกต่างกัน  เป็นต้น

                 ความเชื่อในประเพณีฮดสรงของชาวตำบลป่าสังข์ เป็นการยกย่องเชิดชูพระภิกษุสามเณร พิธีฮดสรงเป็นการปฏิบัติโดยความเห็นชอบของเจ้าภาพผู้ศรัทธา  พระภิกษุสามเณรที่จะได้รับความเห็นชอบให้ได้รับการฮดสรงต้องเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนทั้งปวง  ในการนิมนต์พระภิกษุสามเณรให้รับการฮดสรง  ผู้นิมนต์ต้องนำพานดอกไม้และธูปเทียนไปถวายเป็นเครื่องสักการะเมื่อท่านรับแล้วก่อนวันฮดสรง  จะมีการตั้งเครื่องฮดไทยทานขึ้น เรียกว่า กองฮด ไว้เท่าจำนวนผู้ได้รับการฮดสรง เครื่องไทยทานประกอบไปด้วย เครื่องสมณบริขาร เครื่องสาธารณูปโภค เทียนต่างๆ และบายศรี สถานที่ประกอบพิธีนิยมปลูกเป็นหอสรง ตั้งรางรดน้ำ  ศิลาอาสน์  และโอ่งน้ำหอม  เมื่อตั้งกองฮดเสร็จแล้ว  จะมีพิธีแห่สมโภช  จึงเข้าประกอบพิธีโดยการสรงน้ำอบน้ำหอมที่ศีรษะผู้ที่ได้รับฮดสรงมีการเจริญชัยมงคลคาถาโดยพระสงฆ์  พร้อมลั่นฆ้องชัย  เสร็จแล้วก็จะกลับสู่ศาลาการเปรียญเพื่อรับเครื่องไทยทาน  เครื่องกองฮดจากผู้มีจิตศรัทธาก็เป็นอันเสร็จพิธี  ซึ่งพระภิกษุผู้ได้รับการฮดสรงก็จะมีคำเรียกที่แตกต่างกันไปตามจำนวนครั้งที่สรง  เช่น  ยาซา  ยาคู  ตามลำดับ

                 ผลการวิเคราะห์ความเชื่อ ประโยชน์และคุณค่าของประเพณีฮดสรง  ชาวตำบลป่าสังข์ด้านความเชื่อยังคงเชื่อและปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  ความเชื่อในเครื่องประกอบฮดสรง  เช่น  รางฮด  ทำด้วยไม้เป็นรูปพระยานาค  สำหรับเทน้ำอบน้ำหอมให้น้ำรดพระรูปเข้าพิธีฮดสรงเพื่อความร่มเย็น  หลาบเงิน – หลาบคำ ใช้จารชื่อพระรูปที่ได้รับการฮดสรง  แทนการบูชาด้วยวัตถุมีค่า  หินศิลาอาสน์  สำหรับนั่งขณะประกอบพิธี  เป็นสัญลักษณ์แทนความหนักแน่นมั่นคงในพระธรรมวินัย ไม้เท้าสำหรับประธานสงฆ์นำทางผู้ได้รับการฮดสรง  การลั่นฆ้อง  ถ้าเสียงดังแสดงว่ากิตติศัพท์โด่งดัง  ส่วนการสรงน้ำอบน้ำหอมนั้น ใช้เป็นสิ่งชำระกายให้สะอาดก่อนเปลี่ยนผ้าไตรจีวรใหม่ด้านประโยชน์และคุณค่าช่วยในการจรรโลงพระพุทธศาสนา  ทำให้ท่านมีกำลังใจในการประกาศพระพุทธศาสนา  อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประเพณีฮดสรงยังช่วยในการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของบรรพบุรุษที่ได้ปฏิบัติตามกันมา ทั้งนี้ประเพณีฮดสรงยังมีคุณค่าต่อสังคม และจิตใจของชาวตำบลป่าสังข์  เพราะทำให้พระภิกษุสามเณรของชาวบ้านที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน  และเป็นที่น่านับถือของประชาชนทั่วไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕