หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูพินิจรัตนากร (อนุสรณ์ ฐานทตฺโต)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๔ ครั้ง
การประยุกต์ใช้พรหมวิหารธรรมในการสร้างสันติสุขใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูพินิจรัตนากร (อนุสรณ์ ฐานทตฺโต) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  ผศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดพรหมวิหารธรรมในพระไตรปิฎก ๒. เพื่อศึกษาแนวคิดสันติสุขในพระไตรปิฎก และ ๓. เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหารธรรมในการเสริมสร้างสันติสุขในเขตตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นการวิจัย

เชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research)
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชากรในสายงานชั้นบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี สมุทรปราการ และประชาชานทั่วไปจำนวน ๒๑๗ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม แบ่งเป็น ๓ ตอน  คือ  ตอนที่ ๑ เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับลักษณะประชากรของกลุ่มตัวอย่าง ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างต่อการนำหลักพรหมวิหารธรรมมาใช้ในการสร้างสันติสุขในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และตอนที่ ๓ เป็นแบบสอบถามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้พรหมวิหารธรรมในการสร้างสันติสุขในเขตตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การหาค่าความถี่ (Frequency) และร้อยละ (Percentage) ใช้สถิติหาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation - S.D.) ใช้สถิติ t-test ใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) และในกรณีที่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจะนำไปเปรียบเทียบเป็นรายคู่ตามวิธีของ LSD
ผลการวิจัย พบว่า
๑.ลักษณะประชากรของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๖ และส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง ๒๐-๓๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๓๕.๕ มีระดับการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๖ ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสแล้ว คิดเป็นร้อยละ ๕๓.๕ และมีรายได้ต่อเดือน ๑๐,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท คิดเป็นร้อยละ ๔๔.๒
๒.ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นต่อการนำหลักพรหมวิหารธรรมมาใช้ในการสร้างสันติสุขในตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๙ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ ด้านอุเบกขา โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๖ รองลงมาคือ ด้านมุทิตา โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๑ ถัดมาคือ ด้านกรุณา โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๐ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านเมตตา โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๓๓ ตามลำดับ
๓.ผลวิเคราะห์การทดสอบสมมติฐานการเปรียบเทียบความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักพรหมวิหารธรรมมีความสำคัญต่อการสร้างสันติสุขในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สรุปได้ว่า 
ความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักพรหมวิหารธรรมมีความสำคัญต่อการสร้างสันติสุขในตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการด้านอายุและระดับการศึกษาแตกต่างกัน ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนด้านเพศ สถานภาพและรายได้ต่อเดือน ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๔.ข้อเสนอแนะส่วนใหญ่ คือ ๑) ด้านเมตตาควรควรมีการแบ่งปันช่วยเหลือกันในบางครั้งที่โอกาสอำนวย ถ้าบุคคลในตำบลเดียวกันรู้จักเมตตากัน ช่วยเหลือกันทุกคนก็จะเป็นสุข บุคคลในชุมชนต้องมีน้ำใจและมีความแบ่งปันซึ่งกันและกัน ๒) ด้านกรุณาควรช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสเมื่อมีโอกาส การช่วยเหลือคนที่ทุกข์ให้พ้นทุกข์จะทำให้สังคมมีแต่ความสุข ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและไม่เห็นแก่ตัว ๓) ด้านมุทิตาควรไม่อิจฉาหรือว่าร้ายผู้อื่น โดยที่ตนเองก็ยังไม่ดีพอ ยินดีกับเพื่อนร่วมโลก ไม่ควรอิจฉานินทา และ ๔) ด้านอุเบกขาควรวางเฉยในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นทำผิดพลาด ควรให้กำลังใจเพื่อจะให้ผู้อื่นมีแรงสู้ต่อไป และควรนำหลักธรรมนี้ไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคือ ควรให้ความสำคัญโดยการส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติ นำหลักธรรมมาปฏิบัติ ทำให้ประชาชนในชุมชนมีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ควรให้ความสำคัญโดยการส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นและส่วนรวม ฟังความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล และควรให้ความสำคัญโดยการส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตนด้วยการวางใจเป็นกลาง วางเฉยกับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น
 

ดาวน์โหลด

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕