เข้าชม : ๒๐๐๒๑ ครั้ง |
การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์โสตัพพมาลินี (พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา)) |
|
ชื่อผู้วิจัย : |
พระครูศรีวรพินิจ (สมคิด คมฺภีรญาโณ) |
ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๖/๒๐๑๔ |
ปริญญา : |
พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา) |
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ : |
|
พระครูพิพิธสุตาทร, ดร. ป.ธ. ๓, พธ.บ., M.A., M.Phil., Ph.D.(Buddhist Studies) |
|
ผศ.ดร.เทพประวิณ จันทร์แรงพธ.บ., ศศ.บ., M.A., Ph.D. (Bali and Buddhism) |
|
ผศ.ดร.ปรุตม์ บุญศรีตัน ป.ธ. ๙, พธ.บ., ศษ.บ., อ.ม., พธ.ด. (พระพุทธศาสนา) |
วันสำเร็จการศึกษา : |
2557 |
|
บทคัดย่อ |
งานวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์โสตัพพมาลินี มีวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัย ๓ ประการ คือ (๑)เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของคัมภีร์โสตัพพมาลินีฉบับวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ (๒)เพื่อปริวรรตตรวจชำระคัมภีร์โสตัพพมาลินี ฉบับวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ให้เป็นภาษาบาลี อักษรไทย และ แปลเป็นภาษาไทย (๓)เพื่อวิเคราะห์คัมภีร์โสตัพพมาลินี ฉบับวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
จากผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์โสตัพพมาลินีฉบับวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นคัมภีร์ใบลานที่จารคัดลอกมาจากวัดวิชุนราช เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถรแห่งวัดสูงเม่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๙ โดยมีหลักเกณฑ์การปริวรรตคือ (๑) ปริวรรตตามต้นฉบับ (๒) ยึดตามสำเนียงของการอ่าน และ (๓) สามารถแปลความหมายเป็นภาษาไทยได้ การตรวจชำระ กระทำโดยการเทียบเคียงกับฉบับที่ปริวรรตจากตัวอักษรขอม เพื่อให้สามารถแปลเนื้อหาที่จะนำมาเป็นประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตได้
คัมภีร์โสตัพพมาลินีแต่งขึ้นเพื่อแนะนำวิธีการฟังธรรมที่ถูกต้อง ทุกเรื่องในคัมภีร์ล้วนแต่เป็นการตั้งใจฟังพระสัทธรรมโดยความเคารพไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้แสดงก็ตาม หากฟังด้วยความเคารพและนำไปปฏิบัติย่อมเกิดปัญญา เพื่อการดับทุกข์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสะท้อนให้เห็นว่า การจะบรรลุถึงองค์ธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่เพียงจะให้ความสำคัญกับผู้แสดงหรือเนื้อหาธรรม แต่ผู้ฟังจะต้องมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นเบื้องต้นด้วย การแต่งคัมภีร์มีลักษณะเป็นความเรียงร้อยแก้วล้วน เน้นความชัดเจน เข้าใจง่าย รัดกุม และมีวิธีการนำเสนอไปตามลำดับการแต่งคัมภีร์บาลีโดยทั่วไป คือ อุทเทส นิทเทส และปฏินิทเทส โดยรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก อรรถกถา รวมถึงนิทานพื้นบ้านศรีลังกามาเล่าประกอบ เมื่อนำหลักเทสนาหาระในคัมภีร์เนตติปกรณ์มาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการฟังธรรม พบว่า การฟังธรรมโดยความเคารพมีข้อดี คือนำมาซึ่งความสุข ปัญญา กระทั่งความหลุดพ้นมาสู่ตน แต่หากตั้งใจฟังธรรมโดยไม่ระวังหรือรอบคอบ อาจทำให้เกิดทุกข์แก่ตนเองและคนรอบข้างได้ อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ได้ชี้ทางออกของปัญหาไว้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละบุคคล แต่ล้วนเริ่มต้นจากการตั้งใจฟังโดยความเคารพและศรัทธา เพื่อใช้ปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นกุญแจเปิดประตูสู่ความหลุดพ้นหรืออย่างน้อยให้ได้รับผลตามที่ต้องการ ดังช้างที่สามารถยกตนเองขึ้นจากหล่มได้ฉันใด บุคคลย่อมยกตนขึ้นจากกิเลสได้ฉันนั้น.
|
|
|