หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอุดร สุทฺธิญาโณ (เกตุทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนากับภาวะผู้นำตามแนวคิดของ สตีเฟ่น อาร์. โควีย์
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอุดร สุทฺธิญาโณ (เกตุทอง) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร. สมิทธิพล เนตรนิมิต, ป.ธ.๙, พธ.บ.(ปรัชญา), พธ.ม.(พระพุทธศาสนา), Ph.D. (Pali&Buddhist Studies).
  .
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑)   เพื่อศึกษาภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนากับภาวะผู้นำตามแนวความคิดของสตีเฟ่น อาร์. โควีย์  ๒) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนากับภาวะผู้นำตามแนวความคิดของ สตีเฟ่น อาร์. โควีย์

ผลการวิจัย พบว่า ภาวะผู้นำตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้นำกับภาวะผู้นำมีความหมายต่างกัน ผู้นำหมายถึงคน ส่วนภาวะผู้นำหมายถึงสภาพที่เป็นนามธรรม เช่น ความสามารถหรืออิทธิพลในการนำ เป็นต้น ผู้นำแนวพุทธกำเนิดจากการที่มนุษย์ต้องการบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ มีศีลธรรมและคุณธรรม มาปกครองดูแล จนเกิดคำว่า มหาชนสมมติ  กษัตริย์ และราชา   สำหรับลักษณะผู้นำแนวพุทธ  มีลักษณะเป็นผู้มีหลักธรรมในการเป็นผู้นำ เช่น หลักในการครองตน ด้วยคุณธรรม ๕ ประการ ครองคนด้วยหลักพรหมวิหาร และครองงานด้วยหลัก การมีวิสัยทัศน์ มีปัญญา  นอกจากนี้หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา เพื่อการเป็นผู้นำที่ดียังมีอีกเป็นจำนวนมาก  ในงานวิจัยนี้ได้นำมากล่าวคือ หลักจักรวรรดิวัตร๑๒  หลักทศพิธราชธรรม๑๐ หลักราชสังหควัตถธรรม ๔  หลักอคติ ๔ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักสาราณียธรรม ๖ หลักอธิปไตย ๓ โดยเฉพาะธรรมาธิปไตย ที่ทำให้ผู้นำมองเป้าหมายและวิธีการให้ประสานกันทั้งคนและงาน โดยมีภาวะผู้นำตามหลักสัปปุริสธรรม ๗  และหลักอปริหานิยธรรม ๗  อนึ่งผู้นำควรมีอำนาจบารมี ซึ่งหลักธรรมที่สนับสนุนคือ หลักพละ ๔ มีปัญญาพละ เป็นต้น ผู้นำที่มีหลักธรรมตามที่กล่าวมานี้ สามารถเป็นผู้นำที่ดีในทางพระพุทธศาสนา  นำหมู่คณะไปสู่ความเจริญ ความหมดจด บริสุทธิ์  ผ่องแผ้วได้   ส่วนผู้นำตามแนวคิดของ สตีเฟ่น อาร์. โควีย์ พบว่า  ผู้นำในทัศนะนี้ ควรเป็นผู้มีปัญญา มีวิสัยทัศน์   มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความเป็นกลางไม่โอนเอียงข้างใดข้างหนึ่ง   รู้จักเสริมสร้างและพัฒนาตนเอง ทั้งด้านกายภาพ สังคม อารมณ์ จิตใจและสติปัญญา  จึงจะเป็นผู้นำที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้

ในการเปรียบเทียบ ผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบภาวะผู้นำของทั้ง ๒ ทฤษฎี  ใน ๗ ด้าน คือ  ๑) ด้านความหมาย  ๒) ด้านเป้าหมาย  ๓) ด้านลักษณะของผู้นำ  ๔) ด้านพฤติกรรม    ๕) ด้านบทบาท  ๖) ด้านคุณสมบัติ  ๗) ด้านหลักธรรม  จากการเปรียบเทียบพบว่า    ทั้งพระพุทธศาสนาและ สตีเฟ่น โควีย์  มีความเหมือนกันในด้านที่หมายถึงผู้ที่ช่วยให้คนไปถึงจุดหมาย และผู้ที่เป็นใหญ่ในหมู่  ต่างกันตรงที่พุทธศาสนานำเพื่อให้พ้นทุกข์  ส่วนโควีย์เพื่อความสำเร็จขององค์กร  ด้านเป้าหมายเหมือนกันตรงเพื่อบรรลุผลตามที่วางแผนไว้  ต่างกันตรงที่พุทธศาสนาเน้นเรื่องความดี ความบริสุทธิ์    หมดจด  แต่โควีย์  เน้นเรื่องความประสบผลสำเร็จทางด้านธุรกิจ     ด้านลักษณะทั้งพุทธศาสนาและโควีย์  เห็นตรงกันว่าผู้นำต้องมีคือ ต้องมีปัญญา และมีวิสัยทัศน์  ต่างกันตรงที่พุทธศาสนาเน้นการให้และเสียสละ ส่วนโควีย์เน้นการคิดแบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ด้านพฤติกรรม เหมือนกันคือตรงที่การเป็นแบบอย่างที่ดี การประพฤติตามหลักเหตุผล และการมีอัธยาศัยดี ต่างกันตรงที่พุทธศาสนา เน้นปฏิบัติตนเพื่อความเพียงพอ โควีย์ เน้นการค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ และพระพุทธศาสนาเน้นศีลธรรม  แต่โควีย์เน้นกฎหมายและค่านิยมของสังคม  ด้านบทบาททั้งพระพุทธศาสนาและโควีย์ เหมือนกันตรงที่การมีภาวะผู้นำในตัวเอง  ต่างกันตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นพัฒนาจิตใจ  ส่วนโควีย์เน้นพัฒนาธุรกิจ  ด้านคุณสมบัติทั้งพุทธศาสนาและโควีย์  เหมือนกันตรงที่ต้องมีความรู้ความสามารถ และแก้ไขความขัดแย้งได้  ต่างกันตรงที่พุทธศาสนาผู้นำได้รับการคัดเลือกจากสังคม  ส่วนโควีย์ได้รับการคัดเลือกจากองค์กร  ด้านหลักธรรมเหมือนกันตรงที่  หลักการวางตัวเป็นกลางไม่ลำเอียง  ต่างกันตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นการเอาธรรมมาเป็นเครื่องในในการประพฤติปฏิบัติ   ส่วนโควีย์ไม่เน้นการนำเอาธรรมมาเป็นเครื่องมือพัฒนา เพียงพูดถึงการพัฒนาเท่านั้น

 ดาวน์โหลด   

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕