หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ผศ.ชลธิชา จิรภัคพงค์ » คุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
 
เข้าชม : ๙๕๓๒ ครั้ง

''คุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่''
 
ผศ.ชลธิชา จิรภัคพงค์ และคณะ (2556)

 

คุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

The quality of organized administration of

Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Phrae Campus

 

ผศ.ชลธิชา  จิรภัคพงค์: ศศ..(การบริหารธุรกิจ),

กศ..(การบริหารการศึกษา)

พระเมธีธรรมาลังการ,ผศ.ดร.: .. ๙,

พธ..(จิตวิทยา เกียรตินิยม),

M.A.(จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ  เกียรตินิยม), Ph.D

ผศ.พูนทรัพย์  เกตุวีระพงศ์: ..(สังคมศึกษา),

กศ..(การบริหารการศึกษา)

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาคุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) 

และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารองค์กรของของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ โดยผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐใน 7 ด้าน คือ ด้านการนำองค์กร ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ด้านการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ ด้านการมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล ด้านการจัดการกระบวนการ และด้านผลลัพธ์การดำเนินการตามโยบายของมหาวิทยาลัย วิธีดำเนินการวิจัยคณะผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากสภาพที่เป็นจริงขององค์กร ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สังเกต และสัมภาษณ์จากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น (Key informant)  ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ จำนวน  8 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการสังเกต และการสัมภาษณ์

ผลการวิจัยพบว่า

1. การนำองค์กร มีการกำหนดทิศทางในการทำงานไว้ชัดเจน ตามปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ มีการพัฒนาโครงสร้าง ระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยให้เกิดความคล่องตัว มีการกำหนดขอบข่ายหน้าที่ของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยไว้ชัดเจน ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ผู้บริหารบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และกำหนดภาระงานให้แต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน มีการกระจายอำนาจในการบริหารและการจัดการศึกษา มีการบริหารเป็นระบบ มีขั้นตอน และมีการทำงานร่วมกันภายใต้กฎระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด

2.  การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่สอดคล้องกับปรัชญา พันธกิจ และนโยบายในการบริหารงาน  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมจัดทำแผนพัฒนาวิทยาเขตและมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาวิทยาเขต เสนอให้คณะกรรมการประจำวิทยาเขตแพร่เห็นชอบ มีการแปลงแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 ไปเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี แต่ยังขาดการทบทวนแผนพัฒนาวิทยาเขตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกประเด็น การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปียังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานระหว่างปีการศึกษา การดำเนินงานยังมีบางโครงการที่มีผลการประเมินยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

3. การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการเชิญบุคลภายนอก เช่น ตัวแทนของภาครัฐ ตัวแทนของชุมชน ตัวแทนของคณะสงฆ์ และตัวแทนของนิสิต เข้ามาเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ มีรูปแบบการสอนที่หลากหลาย มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถทางวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน มีอุปกรณ์ สื่อการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพียงพอ มีห้องสมุดแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีระบบคอมพิวเตอร์ไร้สาย มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับนิสิต มีฐานข้อมูลให้บริการแก่นิสิต แต่ยังขาดการสำรวจความต้องการของผู้รับบริการและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

4.  การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ มีระบบและกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษาโดยผู้บริหาร และบุคลากรทุกระดับให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือสนับสนุน มีการจัดการข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ มีความทันสมัย ครอบคลุมและ ทันต่อการใช้งาน ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (Formula) ระบบทะเบียนและวัดผล (TSMCU17) และระบบสืบค้น/ยืม/คืนหนังสือห้องสมุด (E-lib) แต่ยังใช้ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ขาดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการประกันคุณภาพ

5.  การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล มีการคัดเลือกบุคลากร และการมอบหมายงานอย่างเป็นระบบตามประกาศมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ        มีการจัดบรรยากาศของสถานที่ทำงาน จัดสวัสดิการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่บุคลากร          มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีรูปแบบที่ชัดเจนตามประกาศของมหาวิทยาลัย แต่ขาดการวางแผนกำลังคนอย่างรัดกุม การสรรหาและคัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง

6. การจัดการกระบวนการ ได้ดำเนินการจัดกระบวนการดำเนินงานโดยมีแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2554 มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารองค์กร แต่ยังบริหารองค์กรไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดเพราะมีบางโครงการที่ปรากฏในแผนปฏิบัติการประจำปียังไม่มีการดำเนินการ ขาดการตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และขาดการนำผลการนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไป

7.  ผลลัพธ์การดำเนินการ ได้ผลิตบัณฑิตรุ่นที่ 56 ประจำปีการศึกษา 2553 จำนวน 162 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 79.02 ได้พัฒนาด้านการวิจัยแก่บุคลากร และสนับสนุนให้บุคลากรทำวิจัย แต่ยังขาดระบบและกลไกการรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสู่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง และระบบและกลไกเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์  ได้ดำเนินการโดยจัดทำโครงการด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม จำนวน 10 โครงการ และได้ดำเนินการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยจัดทำโครงการ จำนวน 2 โครงการ

 

Abstract

 

               This research aims to study the quality of organized administration of    Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Phrae Campus according follow the public sector administration quality award (PMQA) and to suggest for the development the organized management at Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Phrae Campus in seven aspects; leadership, strategic planning, the server and stakeholder focus, measurement, analysis and acknowledge management, human resource focus, process management and result of implementation the policy of the University.                                                                                                                                              

               The research is the qualitative and the researcher teams are obtained from the natural condition of organization, study document, observation and interview the administrators, lecturers, staffs as well as the sampling groups are 8 graduate students of Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Phrae Campus.

               The results of the research were found as follows: 1) the leadership has conducted direction for working clearly according the philosophy, vision and mission, developed the structure, the jobs system and order of the University for flexibly and matching with action. The administrators have administrated by using the good governance principle, determined the job description of each section clearly, centralized the administration and educational management, had systems, procedure as well as worked together under the order of the University.

                 2) Strategic planning has made the Campus’s developmental plan on the ten period (2007-2011) which matched with the philosophy, vision and mission and administrative policy, set out and operated the committee for doing the Campus’s developmental plan for submitting to the committee of the Phrae Campus who is approved, brought the University’s developmental planning in the ten period to be the annual action plan but it is not summarized this plan for matching with the University’s developmental plan in all aspects. For the operation annual action plan have not matched with the education quality assurance standard, set out the value of goal on the index of this plan, followed the result of implement during the academic session and it also some project is not operated evaluation.

               3) The server and stakeholders focus it found that it has invited the outside person from public sector, community, Buddhist Sanghas and students for developing the organization by setting out to become the various committees.  As in term of the education, it is found that there are the various teaching module, arrange activity to promote the ability of academic, the instrument, the information technology media for study, the library and another learning sources by pass the computer network system, Wireless LAN, the welfare management system and data base for student but it was not surveyed the need of servers and stakeholders.

               4) Measurement, analysis and acknowledge management, it found that it has machinery and system for quality assurance by the executive and also all staffs have played important role on cooperation in every level.  On the other hand. There are information and measurement system, search, borrow, and return system, the information technology system that is comfortable to learn by them and participation’s learning however there are not the capability for working, and personal development .

               5) Human resource focus, in term of recruitment, selection and assignment have operated according the order of the university.  For the training and personal development have developed both academic and professional aspect. As morale in the working of the personal of Mahachulalongkornrajavidyalaya University, Phrae Campus has managed the atmosphere of the office, provided the welfares for development the quality of life to personal.  For evaluation have had the evaluate systems clearly according the order of the university, but  it has no making plan workforces concisely as well as the selection personal for propering with position.

               6) Process management have operated on the action plan in fiscal year 2011 and there are broght the information technology to apply in the organization but the administrations are not operated along with the action plan because there is some project appeared in action plan, but it is not operating, checking and evaluation the conduct continuously and bringing the result the evaluation to improve on the next conduct.

               7) Result implementation, in term of production graduate, it found that the  production graduate on the group 56 on academic session 2010  were 162 students, it was 72.02 %. As the research and development, it found that it has developed research for personal and encouraged personal to do research but it had no machinery and system for collection, analysis and synthetic the acknowledge from research to people. It also has no public relation and propagation the body of knowledge to pubic people and other concerns. As promote Buddhism and academic service for the society are operated 10 projects and in term of promote and develop learning resources for preserving arts and culture suitable was operated 10 projects.

 

 

บทนำ

 

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งมีพันธกิจที่มุ่งเน้นด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม และด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมีการจัดการศึกษาและแบ่งงานออกเป็นส่วนงานระดับคณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หน่วยวิทยบริการ สถาบันสมทบ และศูนย์อบรมปฏิบัติธรรม เป็นหน่วยงานสนับสนุนให้พันธกิจต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ได้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามาตั้งแต่ปี 2530 เพื่อพัฒนาคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพระภิกษุ สามเณร ให้มีคุณภาพทางด้านปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ อย่างแท้จริง ปัจจุบันได้จัดการศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต จำนวน ๑ สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต จำนวน ๓ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ นอกจากนั้นยังเปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์  และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู พร้อมกันนี้วิทยาเขตแพร่ก็ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คฤหัสถ์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนด้วย จึงส่งผลให้วิทยาเขตแพร่มีนิสิตที่สนใจเข้ามาศึกษามากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบราชการไทยที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐมีการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับมาตรฐานสากล (High Performance) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีการปรับปรุงการทำงาน ยกระดับการบริหารจัดการ

ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กร และการให้บริการแก่นิสิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ผู้วิจัยจึงทำการศึกษาคุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ขึ้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาคุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ตามเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) 

2. เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงคุณภาพการบริหารองค์กรของของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

 

ขอบเขตการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงสภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่  โดยผู้วิจัยได้ประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ใน 7 ประเด็น คือ การนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล การจัดการกระบวนการ ผลลัพธ์การดำเนินการตามโยบายของมหาวิทยาลัย เก็บข้อมูลจากสภาพที่เป็นจริงขององค์กร ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สังเกต และสัมภาษณ์จากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ (Key informant) ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ จำนวน            8 รูป/คน 

นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย

คุณภาพการบริหารองค์กร หมายถึง สภาพการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดโดยให้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) คือ

การนำองค์กร  หมายถึง การกำหนดทิศทางในการทำงาน การจัดองค์กร การกำหนดโครงสร้าง ระบบการทำงาน และการกระจายอำนาจ

การวางแผนเชิงกลยุทธ์  หมายถึง การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ การถ่ายทอดแผนกลยุทธ์เพื่อนำไปปฏิบัติ

การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง การนำบุคคลภายนอกมาร่วมพัฒนาองค์กร และร่วมในการจัดการศึกษา การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถทางวิชาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน การจัดและพัฒนาระบบดูแลนิสิต การมีฐานข้อมูลให้บริการแก่นิสิต การรับฟังความเห็น

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้  หมายถึง ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา การจัดการข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ การให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเลคทรอนิกส์ในการสื่อสารข้อมูลเพื่อให้บุคลากรภายในและภายนอกหรือผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลเข้าถึงข้อมูลได้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายในสถาบันและภายนอกสถาบัน และการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับแหล่งเรียนรู้ภายนอก  

การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล  หมายถึง การสรรหาคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร การสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน

การจัดการกระบวนการ  หมายถึง การวางแผนในการบริหารองค์กร การแจ้งพันธกิจหรือเป้าหมายขององค์กรแก่บุคลากรทุกส่วนงาน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารองค์กร การส่งเสริมการทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร และพัฒนาผู้เรียน การตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การนำผลการนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงาน

ผลลัพธ์การดำเนินการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย หมายถึง ผลการดำเนินงานโดยให้สอดคล้องกับพันกิจขององค์กร ได้แก่ การผลิตบัณฑิต การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

 

วิธีการวิจัย

 

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยคณะผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากสภาพที่เป็นจริงขององค์กร ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สังเกต และสัมภาษณ์จากบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น (Key informant) ได้แก่ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ จำนวน 8 รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการสังเกต และการสัมภาษณ์ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วเกี่ยวกับสภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ และเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพการบริหารองค์กรของของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ แล้วเขียนเป็นรายงานการวิจัย

 

ผลการวิจัย

 

1. คุณภาพการบริหารองค์กรของของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ดังนี้

                 1.1 การนำองค์กร ได้มีการกำหนดทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน คือ ปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ มีการพัฒนาโครงสร้าง ระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยให้เกิดความคล่อง ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ผู้บริหารบริหารงานตามหลัก        ธรรมาภิบาล และกำหนดภาระงานให้แต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน มีการกระจายอำนาจในการบริหารและการจัดการศึกษา มีการบริหารเป็นระบบ มีการทำงานร่วมกันภายใต้กฎระเบียบที่มหาวิทยาลัยกำหนด

1.2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่สอดคล้องกับปรัชญา พันธกิจ และนโยบายในการบริหารงาน  โดยมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาวิทยาเขต เสนอให้คณะกรรมการประจำวิทยาเขตแพร่เห็นชอบ มีการแปลงแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 ไปเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี แต่ยังขาดการทบทวนแผนพัฒนาวิทยาเขตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกประเด็น ไม่มีการกำหนดค่าเป้าหมายตามตัวบ่งชี้ของแผนพัฒนาวิทยาเขต และแผนปฏิบัติงานการประจำปี ยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานระหว่างปีการศึกษา               การดำเนินงานยังมีบางโครงการที่มีผลการประเมินยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

1.3 การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการเชิญบุคลภายนอกเข้ามาเป็นพัฒนาองค์การ โดยแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ มีรูปแบบการสอนที่หลากหลายให้อิสระผู้เรียน มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถทางวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน มีอุปกรณ์ สื่อการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพียงพอ มีห้องสมุดแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีระบบคอมพิวเตอร์ไร้สาย มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับนิสิต มีฐานข้อมูลให้บริการแก่นิสิต แต่ยังขาดการสำรวจความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจะได้นำเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเพื่อสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม

1.4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ มีระบบและกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษาโดยผู้บริหาร  มีการจัดการข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ มีความทันสมัย ครอบคลุมและ ทันต่อการใช้งาน ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (Formula) ระบบทะเบียนและวัดผล (TSMCU17) และระบบสืบค้น/ยืม/คืนหนังสือห้องสมุด (E-lib) มีการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แต่ยังใช้ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ขาดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการประกันคุณภาพ

                 1.5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล ดำเนินการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ด้านการสรรหา คัดเลือกบุคลากร และการมอบหมายงานอย่างเป็นระบบตามประกาศมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ สร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร โดยจัดบรรยากาศของสถานที่ทำงาน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมบรรยากาศในการทำงาน จัดสวัสดิการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่บุคลากร และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่บุคลากร และมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีรูปแบบที่ชัดเจนตามประกาศของมหาวิทยาลัย แต่ขาดการวางแผนกำลังคนอย่างรัดกุม การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเหมาะสมกับตำแหน่ง การคัดเลือกบุคลากรไม่เป็นไปตามแผนและงบประมาณ การวิเคราะห์งานของมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดตำแหน่งของบุคลากรที่เหมาะสมกับงาน และการแจ้งผลการประเมินให้บุคลากรทราบเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น

                 1.6 การจัดการกระบวนการ ได้ดำเนินการจัดกระบวนการดำเนินงานโดยมีแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2554 มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารองค์กร แต่ยังบริหารองค์กรไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดเพราะมีบางโครงการที่ปรากฏในแผนปฏิบัติการประจำปียังไม่มีการดำเนินการ ขาดการตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และขาดการนำผลการนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไป

1.7 ผลลัพธ์การดำเนินการ ด้านการผลิตบัณฑิต ได้ผลิตบัณฑิตรุ่นที่ 56 ประจำปีการศึกษา 2553 จำนวน 162 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 79.02 แยกเป็น บรรพชิต จำนวน 42 รูป คฤหัสถ์ จำนวน 120 คน ด้านการวิจัยและพัฒนา ได้พัฒนาด้านการวิจัยแก่บุคลากร และสนับสนุนให้บุคลากรทำวิจัย แต่ยังขาดระบบและกลไกการรวบรวม คัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสู่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง และการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ ด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ได้ดำเนินการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมโดยจัดทำโครงการ จำนวน 10 โครงการ และ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ได้ดำเนินการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยจัดทำโครงการ จำนวน 2 โครงการ แต่ยังขาดการนำผลการประเมินไปปรับปรุงการบูรณาการด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมและด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรม

2. แนวทางการปรับปรุงคุณภาพการบริหารองค์กรของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

การนำองค์กร ควรให้แต่ละส่วนงานมีเอกภาพในการบริหารงานและการตัดสินใจในขอบข่ายภาระงานที่ส่วนงานรับผิดชอบ ควรทบทวนแผนพัฒนาวิทยาเขตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ควรจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปียังให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพโดยมีการกำหนดค่าเป้าหมายตามตัวบ่งชี้ของแผนพัฒนาวิทยาเขต และการติดตามผลการดำเนินงานทุกช่วงระยะเวลา การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนบริหารงานวิทยาเขตอย่างเหมาะสม การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยให้ระบบดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการประกันคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ  การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล ควรวางแผนอัตรากำลังทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการวิชาชีพ สรรหาและคัดเลือกบุคคลเหมาะสมกับตำแหน่งสอดคล้องกับแผน และงบประมาณ โดยการวิเคราะห์งานของมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดตำแหน่งของบุคลากรที่เหมาะสมกับงาน และแจ้งผลการประเมินให้บุคลากรทราบเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น การจัดการกระบวนการ ควรบริหารงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการประจำปี ตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และนำผลการการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไป มีระบบการบริหารความเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นคงขององค์กร เช่น ความเสี่ยงด้านการเงินควรตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและวิเคราะห์สถานทางการเงิน ผลลัพธ์การดำเนินการ ควรเน้นการจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีระบบและกลไกการรวบรวม คัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสู่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง และควรมีระบบ และกลไกเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ ประโยชน์  พัฒนาให้มหาวิทยาลัยศูนย์กลางในการเรียนรู้แก่บุคลากรทั้งภายใน และภายนอก ควรดำเนินกิจกรรมที่สืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา และนำผลการประเมินไปปรับปรุง ตลอดจนการบูรณาการด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และบริการวิชาการแก่สังคมและด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรม

 

วิจารณ์

 

1.  การนำองค์กร วิทยาเขตแพร่ได้มีการกำหนดทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน คือ ปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจ  มีการพัฒนาโครงสร้าง ระบบงานต่าง ๆ ให้เกิดความคล่องตัว โดยกำหนดขอบข่ายหน้าที่ของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ผู้บริหารบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และกำหนดภาระงานให้แต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน มีการกระจายอำนาจในการบริหารและการจัดการศึกษา มีการบริหารเป็นระบบ มีขั้นตอน มีการทำงานร่วมกัน แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางในการทำงาน  สอดคล้องกับ ทศพร  ศิริสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นการบริหารที่เน้นการวางแผน การกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และกลยุทธ์การดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม เช่นเดียวกับ วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์ กล่าวว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นการบริหารที่ให้ความสำคัญต่อผลการดำเนินงานและการตรวจวัดผลสำเร็จในการดำเนินงานขององค์การ ทั้งในแง่ของปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ไว้ล่วงหน้า

2.  การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ วิทยาเขตแพร่มีการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่สอดคล้องกับปรัชญา พันธกิจ และนโยบายในการบริหารงาน  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมจัดทำแผนพัฒนาวิทยาเขต และมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนพัฒนาวิทยาเขต เสนอให้คณะกรรมการประจำวิทยาเขตแพร่เห็นชอบ มีการแปลงแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะที่ 10 ไปเป็นแผนปฏิบัติการประจำปี แสดงให้เห็นว่า วิทยาเขตแพร่ได้มีกระบวนการจัดทำแผนกระบวนที่ให้บุคลากรทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำ สอดคล้องกับ Canadian International Development Agency; CIDA ได้กล่าวว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย ประเมินความเสี่ยง กำกับติดตามกระบวนการดำเนินงานเพื่อการบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางบริหาร และการรายงานผลการปฏิบัติงาน แต่วิทยาเขตแพร่ยังขาดการทบทวนแผนพัฒนาวิทยาเขตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกประเด็น การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปียังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา ยังไม่มีการกำหนดค่าเป้าหมายตามตัวบ่งชี้ของแผนพัฒนาวิทยาเขตและแผนปฏิบัติงานการประจำปี ยังไม่มีการติดตามผลการดำเนินงานระหว่างปีการศึกษา              การดำเนินงานยังมีบางโครงการที่มีผลการประเมินยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด แสดงว่า วิทยาเขตแพร่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การวัดผลของการดำเนินงานว่าสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถึงแม้ว่าจะมีแผนในการดำเนินงานก็ตาม แต่การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธ์จะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน สอดคล้องกับ ทิพาวดี เมฆสวรรค์ กล่าวว่า การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นการบริหารโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์หรือความสัมฤทธิ์ผลเป็นหลัก ใช้ระบบการประเมินผลงานที่อาศัยตัวชี้วัดเป็นตัวสะท้อนผลงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นและแสดงผลงานต่อสาธารณะ

3.  การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นพัฒนาองค์การ โดยแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ มีรูปแบบการสอนที่หลากหลายให้อิสระผู้เรียน มีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามารถทางวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน มีอุปกรณ์ สื่อการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพียงพอ มีห้องสมุดแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีระบบคอมพิวเตอร์ไร้สาย มีการจัดระบบสวัสดิการให้กับนิสิต มีฐานข้อมูลให้บริการแก่นิสิต แต่ยังขาดการสำรวจความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจะได้นำเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเพื่อสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นว่า วิทยาเขตแพร่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ภาครัฐ ประชาชนทั่วไป นิสิต ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีความต้องการต่อองค์การแตกต่างกันออกไป แต่การที่จะทำให้วิทยาเขตแพร่สามารถบริหารจัดให้ประสบความสำเร็จวิทยาเขตแพร่จำเป็นต้องสำรวจความต้องการของกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ชัดเจน ส่งผลให้เกิดการตอบสนองความต้องได้อย่างเหมาะสม นั่นหมายความว่า องค์การที่มีประสิทธิผลคือ องค์การที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์การได้ หรือองค์การที่สามารถสร้างความพอใจให้แก่ทุกฝ่าย องค์การจึงต้องคอยตอบสนองความต้องการของผู้มีอิทธิพลต่อองค์การหรือประสานความต้องการต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ หากองค์การมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไปโดยละเลยกลุ่มอื่น ๆ ก็จะก่อให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มอื่นๆ และทำให้องค์การเสียดุลยภาพในการทำงานขององค์การไป

4.  การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ มีระบบและกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษาโดยผู้บริหาร และบุคลากรทุกระดับให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือสนับสนุนให้การดำเนินการประกันคุณภาพดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีการจัดการข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ มีความทันสมัย ครอบคลุมและ ทันต่อการใช้งาน มีการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แต่ยังใช้ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ขาดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการประกันคุณภาพ และสามารถดำเนินงานได้ตามมาตรฐานคุณภาพทุกองค์ประกอบ แสดงให้เห็นว่า วิทยาเขตแพร่ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรยังไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังขาดผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาโดยตรง

5.  การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล วิทยาเขตแพร่ได้ดำเนินการด้านการสรรหา คัดเลือกบุคลากร และการมอบหมายงานอย่างเป็นระบบตามประกาศมหาวิทยาลัย มีการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ การสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร โดยจัดบรรยากาศของสถานที่ทำงาน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมบรรยากาศในการทำงาน จัดสวัสดิการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่บุคลากร และมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีรูปแบบที่ชัดเจนตามประกาศของมหาวิทยาลัย มีคู่มือการประเมินผลการปฏิบัติงาน แต่ขาดการวางแผนกำลังคนอย่างรัดกุม การสรรหาและคัดเลือกบุคคลเหมาะสมกับตำแหน่ง การคัดเลือกบุคลากรไม่เป็นไปตามแผนและงบประมาณ การวิเคราะห์งานของมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดตำแหน่งของบุคลากรที่เหมาะสมกับงาน และการแจ้งผลการประเมินให้บุคลากรทราบเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น แสดงให้เห็น วิทยาเขตแพร่ได้ดำเนินการบริหารงานบุคคลได้ครบกระบวนการเพียงแต่ยังไม่มีการวิเคราะห์งานและนำผลการวิเคราะห์มาเป็นข้อมูลในการวางแผนอัตรากำลังคนทั้งสายวิชาการและสายปฏิบัติการวิชาชีพ               

6.  การจัดการกระบวนการ ได้ดำเนินการจัดกระบวนการดำเนินงานโดยมีแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2554 มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารองค์กร แต่ยังบริหารองค์กรไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดเพราะมีบางโครงการที่ปรากฏในแผนปฏิบัติการประจำปียังไม่มีการดำเนินการ ขาดการตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และขาดการนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไป แสดงให้เห็นว่า วิทยาเขตแพร่มีการวางแผนในการบริหารองค์กร มีการปฏิบัติการตามแผนแต่ยังขาดการตรวจสอบเพื่อจะทำให้รับรู้สภาพของงานที่เป็นอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่วางไว้ พร้อมกันนี้ยังไม่มีการนำผลการประเมินไปปรับปรุงดำเนินงานในครั้งต่อไปเพื่อจะทำให้รู้ว่าเกิดข้อบกพร่องขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

7.  ผลลัพธ์การดำเนินการ ได้ผลิตบัณฑิตรุ่นที่ 56 ประจำปีการศึกษา 2553 จำนวน 162 รูป/คน คิดเป็นร้อยละ 79.02 แสดงให้เห็นว่า วิทยาเขตแพร่ได้บรรลุพันธกิจด้านการผลิตบัณฑิตเนื่องได้ผลิตบัณฑิตรุ่นที่ 56 คิดเป็นร้อยละ 79.02 เป็นไปตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 10 พ.ศ. 2550 –2554 โดยมีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรระดับปริญญาตรี ร้อยละ 75 สนับสนุนให้บุคลากรทำวิจัย แต่ยังขาดระบบและกลไกการรวบรวม คัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัย และระบบ และกลไกเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ ประโยชน์ เนื่องจากการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ขออนุมัติทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์จึงทำให้ระบบและกลไกการรวบรวม คัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัย การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสู่สาธารณชน และผู้เกี่ยวข้อง และระบบและกลไกเพื่อช่วยในการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการเอง จึงส่งผลต่อขั้นตอนการดำเนินอาจจะเกิดความล่าช้า ดำเนินการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมโดยจัดทำโครงการ จำนวน 10 โครงการ และ ดำเนินการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยจัดทำโครงการ จำนวน 2 โครงการ แสดงว่า วิทยาเขตแพร่ได้บรรลุพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการนำผลการประเมินไปปรับปรุงการบูรณาการด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมและด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรม

 

ข้อเสนอแนะ

 

๑.  ข้อเสนอแนะจากผลของการวิจัย การนำองค์กร ให้ผู้บริหารในแต่ละส่วนงานมีเอกภาพในการบริหารงานและการตัดสินใจในขอบข่ายภาระงานที่ส่วนงานรับผิดชอบ ควรมีการทบทวนแผนพัฒนาวิทยาเขตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกประเด็น จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีโดยการกำหนดค่าเป้าหมายตามตัวบ่งชี้ของแผนพัฒนาวิทยาเขตและแผนปฏิบัติงานการประจำปี ควรมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรสำรวจความต้องการของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อจะได้นำเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเพื่อสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ ควรพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ใช้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ควรพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการประกัน การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล ควรวางแผนกำลังคน ควรสรรหาและคัดเลือกบุคคลเหมาะสมกับตำแหน่ง และเป็นไปตามแผนและงบประมาณ ควรมีการวิเคราะห์งานของมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดตำแหน่งของบุคลากรที่เหมาะสมกับงาน และควรแจ้งผลการประเมินให้บุคลากรทราบ การจัดการกระบวนการ ควรบริหารองค์กรให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ควรตรวจสอบติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และนำผลการประเมินมาปรับปรุงการดำเนินงานในครั้งต่อไป ควรมีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นคงขององค์กรโดยการตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและวิเคราะห์สถานทางการเงิน และผลลัพธ์การดำเนินการ การเรียนการสอนควรเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ด้านการวิจัยและพัฒนา ควรมีระบบและกลไกการรวบรวม คัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ และมีระบบการคุ้มครองสิทธิ์ของงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ ควรพัฒนาให้มหาวิทยาลัยศูนย์กลางในการเรียนรู้แก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอก ควรดำเนินกิจกรรมที่สืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาให้มากขึ้น และควรนำผลการประเมินไปปรับปรุงการบูรณาการด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคมและด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรม

               2.  ข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรเพิ่มกระบวนการทำการวิจัยในลักษณะที่ให้ได้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงสูง เช่น ทำการสนทนากลุ่ม (Focus Group)

 

กิตติกรรมประกาศ

 

            ขอขอบคุณสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่สนับสนุนงบประมาณ

 

เอกสารอ้างอิง

 

งานนโยบายและแผน.  แผนพัฒนาระยะที่ 10 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

วิทยาเขตแพร่ ปีงบประมาณ 2550-2554.  แพร่: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช

วิทยาลัย วิทยาเขตแพร่, 2550.

_______.  แผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554.  แพร่: มหาวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่, 2554.

ทิพาวดี เมฆสวรรค์.  การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์.  กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ

พลเรือน, 2543 (เอกสารอัดสำเนา).

วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์.  “ระบบบริหารจัดการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน”.  สถาบันวิจัยและ

พัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2550.

(ที่มา: บทความทางวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕