หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม » แม่ชีกับสภาพปัญหาและโอกาส ในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ไทย
 
เข้าชม : ๒๒๕๐๙ ครั้ง

''แม่ชีกับสภาพปัญหาและโอกาส ในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ไทย''
 
ดร. แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม (2556)

แม่ชีกับสภาพปัญหาและโอกาส

ในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ไทย[๑]

Mae Chis’ Access to Higher Monastic Education in Thailand

 ดร. แม่ชีกฤษณา  รักษาโฉม*

  Dr. Martin Seeger**

 

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธระหว่างสภาพปัญหาและโอกาสของการเข้าถึงอุดมศึกษาของแม่ชีไทยกับปัญหาเรื่องสถานที่อยู่อาศัย และปัญหาเรื่องทุนการศึกษาสำหรับโอกาสด้านการศึกษานั้น คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้ส่งเสริมการศึกษาระดับอภิธรรมศึกษาแก่       แม่ชีครั้งแรกพ.ศ. ๒๔๙๔  คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายส่งเสริมการเรียนบาลีศึกษาแก่แม่ชีครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๖ ถึงแม้คณะสงฆ์จะส่งเสริมการเรียนภาษาบาลีแก่แม่ชี แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่เหมือนกัน   หลังจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้รับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพ.ศ.๒๕๔๐ แล้ว จึงได้เปิดรับแม่ชีเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา กล่าวได้ว่าการศึกษาของแม่ชีในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมาดีขึ้น วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของงานวิจัยนี้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการศึกษาและผู้รับการศึกษาและข้อแสดงความคิดเห็นจากแบบสอบถาม เพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ ทัศนคติ ประเมินศักยภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์แก่แม่ชีไทย

คำสำคัญ: แม่ชีไทย,โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของแม่ชีไทย, เพศภาวะในพระพุทธศาสนาไทย, บาลีศึกษา, พุทธศาสตร, ภิกขุนี

                                                              

                                                            Abstract

                        This research investigates the relationship between Thai mae chis’ access to higher monastic education, provided by the sangha, and their opportunities to find appropriate accommodation and financial support. While the Mahanikaya Sangha has supported mae chis in their Abhidhamma Studies since 1951, the Dhammayuttika-Nikaya Sangha has provided mae chis with the opportunity to pursue Pali Studies in a similar way to monks since 1963 (even though there still exist some significant differences). As a consequence of the enactment of their University Acts in 1997, both Mahachulalongkornrajavidyalaya University and Mahamakut Buddhist University have been able to admit mae chis to their programmes. Our research will show that monastic educational career opportunities for mae chis have improved significantly over the last 10 years or so. A major objective of our research is to provide an analytical investigation of the interviews we conducted with students, administrators and teachers in higher monastic education. Here, we will discuss the views and experiences of our interviewees in order to study the potential and effectiveness of the monastic education that has been made available to Thai mae chis in recent years.   

Keywords: Thai mae chis, access to higher monastic education, gender in Thai Buddhism, Pali Studies, Buddhist Studies, bhikkhunī

 

๑.  อารัมภบท

 

      ในช่วงเวลาประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา โอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของนักบวชสตรีในสังคมไทยในด้านต่างๆ มีมากขึ้นจะเห็นได้ว่า ในปีพ.ศ.๒๕๔๒ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยซึ่งเป็นโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เริ่มสอนอย่างเป็นทางการเปิดโอกาสให้แม่ชีศึกษาระดับปริญญาตรี  เป็นวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเพื่อการศึกษาสำหรับแม่ชีและสตรีแห่งแรกของประเทศไทย[๒] นอกจากนั้น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถยรธรรมสถาน  ได้จัดการศึกษาระดับปริญญาโทเป็นโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช้ชื่อว่า สาวิกาสิกขาลัยเริ่มจัดการศึกษาในปีพ.ศ.๒๕๕๑[๓] ก่อนที่แม่ชีไทยจะมีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น ได้มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มาแล้ว คือ สถานศึกษาธรรมจาริณีวิทยา ซึ่งเป็นสาขาของสถาบันแม่ชีไทย ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จัดการสอนโดยคณะแม่ชีสถาบันแม่ชีไทย สอนวิชาสามัญระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายในระบบการศึกษานอกระบบโรงเรียน (กศน.)  และสอนวิชาพระปริยัติธรรม  ธรรมศึกษาและบาลีศึกษา ให้แก่เด็กหญิงที่บวชและไม่ได้บวชแต่สมาทานศีลซึ่งเป็นการจัดการศึกษาแบบให้เปล่า[๔]นอกจากนั้นสำนักแม่ชีศาลาสันติสุข อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมได้เปิดการเรียนการสอนบาลีศึกษาแก่แม่ชีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน[๕] ขณะเดียวกันนั้น ภาพลักษณ์ทางสังคมของแม่ชีก็ดีขึ้น  พระไพศาล  วิสาโล ให้เหตุผลอย่างน่าสนใจว่า

                     “เป็นไปได้ว่า ผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในวัดคือแม่ชี จะมีบทบาทและสถานภาพสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนชั้นกลางที่มีการศึกษาจะเข้ามาบวชชีมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่ชีเองก็มีความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพของตนเองให้สูงขึ้นด้วย เช่น มีการจัดองค์กรควบคุมดูแลกันเอง (สถาบันแม่ชีไทย) และให้การศึกษาหรืออบรมฝึกฝนแม่ชีด้วยกันทั้งในทางปริยัติและปฏิบัติ (มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสำเร็จของแม่ชีหากจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการอุปถัมภ์สนับสนุนของฆราวาสหญิงที่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งนับวันจะมีทัศนคติที่ดีต่อแม่ชีมากขึ้น”[๖] 

      ยิ่งไปกว่านั้นปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเป็นผลหนึ่งที่เกิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ คือ แม่ชีมีสิทธิเข้าศึกษาในสถานศึกษาไทยในระดับปริญญาตรีปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลได้ สำหรับระดับปริญญาตรีนั้นถ้าเป็นมหาวิทยาลัยปิด มีการคัดเลือกนิสิตด้วยการสอบ Entrance ซึ่งมีการแข่งขันสูง ในส่วนของมหาวิทยาลัยเปิดนิสิตสามารถสมัครเข้าศึกษาได้โดยไม่ต้อง Entrance บางสาขาวิชาไม่อนุญาตให้นักบวชเรียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุนให้เหตุผลว่า  “วิชาบางวิชามีกิจกรรมไม่เหมาะสมกับนักบวช”[๗] นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลได้เปิดการเรียนการสอนภาคพิเศษ (เรียนเฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์และเรียนภาคค่ำ) แม่ชีสามารถเข้าศึกษาได้  ส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสำหรับคฤหัสถ์และแม่ชี ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นต้นมา หลังจากนั้นอีก ๑ ปี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงได้เปิดปริญญาตรหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาอภิธรรม คณะพุทธศาสตร์ ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ สำหรับแม่ชีและคฤหัสถ์ชายหญิง[๘]   ส่วนมหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อีกแห่งได้เปิดโอกาสให้แม่ชีศึกษาได้ในระดับปริญญาตรีเริ่ม พ.ศ.๒๕๔๒  ปริญญาโท ปี พ.ศ.๒๕๔๕ และปริญญาเอก ปี พ.ศ.๒๕๔๙[๙] ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า        มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเรื่องระบบการศึกษาที่แม่ชีสามารถเข้าถึงได้ดังที่กล่าวมานี้ ในขณะที่นักวิชาการทั้งไทยและนักวิชาการตะวันตกได้ศึกษาสถานศึกษาและโครงการศึกษาต่างๆ ของแม่ชีที่กล่าวมาข้างต้นนี้บ้างแล้ว  แต่ยังไม่มีการศึกษาระดับลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาระดับสูงสำหรับแม่ชีที่จัดโดยมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยทั้งสองแห่ง ทั้งที่การเปิดโอกาสนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญไม่ใช่น้อย โลกของนักวิชาการยังไม่ได้เอาใจใส่ในการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้เท่าที่ควร

         ปี พ.ศ.๒๕๕๐ นักมานุษยวิทยา ลินเบอร์ก ฟอล์ค (Lindberg-Falk) ได้เขียนเกี่ยวกับการศึกษาของแม่ชีไทยในหนังสือเกี่ยวกับนักบวชหญิง[๑๐]  ได้กล่าวถึงการศึกษาของแม่ชีไทยว่า “แม่ชีไม่ได้รับอนุญาตที่จะศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่งที่ประเทศไทยได้ นอกจากนี้ก็มีโอกาสน้อยสำหรับแม่ชีที่จะเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้”[๑๑]                    ในวิทยานิพนธ์เล่มเดียวกันนี้  ลินเบอร์ก ฟอล์ค (Lindberg-Falk) ก็ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่จัดการศึกษาเฉพาะปัจเจกบุคคลเท่านั้น โดยอธิบายว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้แม่ชีศึกษาในระดับปริญญาเอกได้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะบุคคล”[๑๒] และในเล่มเดียวกันนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า มีแต่บางชั้นเรียน (courses) ที่แม่ชีสามารถเรียนได้[๑๓] ลินเบอร์ก ฟอล์ค  (Lindberg-Falk) พูดถึงโอกาสในการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยเท่านั้น แต่ไม่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย            ที่ได้เปิดโอกาสให้แม่ชี (และสตรีทั่วไป) ศึกษาได้ในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก[๑๔]

         ในหนังสือ “บัดนาว” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก ในปีพ.ศ.๒๕๕๓ ภิกษุณีธัมมนันทา เขียนไว้ว่า “มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งในกรุงเทพฯ ทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดิมนั้นจัดการให้การศึกษาแก่พระเณรในธรรมยุตและมหานิกายเท่านั้น แม้ว่าปัจจัย           ที่สนับสนุนเป็นงบประมาณจากรัฐบาลที่ได้มาจากภาษีอากรของราษฎรทั้งหญิงและชาย                แต่การศึกษาพุทธศาสนาที่จัดให้ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนี้ จำกัดเฉพาะพระภิกษุสงฆ์         ก็ดูว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความชอบธรรมและยอมรับกันได้ นี่ไม่ใช่ความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง           ที่กระทำต่อสตรีในระดับรัฐหรือ?[๑๕]  ในบทความนี้ ภิกษุณีธัมมนันทาไม่ได้พูดถึงโอกาสของผู้หญิงในการเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง รวมทั้งการที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้สนับสนุนมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยและสาวิกาสิกขาลัย ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยแม่ชี นอกจากนั้น ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่งยื่นที่มหาวิทยาลัย Minnesota ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ Kaoru Adachi เขียนว่า “การขาดโอกาสในการศึกษาเป็นเรื่องตามแบบฉบับอีกเรื่องหนึ่งที่แม่ชีมีความกังวลขณะที่รัฐบาลสนับสนุนพระภิกษุในการศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านมหาวิทยาลัยสงฆ์สองแห่ง  รัฐบาลไม่จัดโอกาสทางการศึกษาให้แก่แม่ชีเลย ผลสืบเนื่องจากการขาดแคลนโอกาส             ในการศึกษาอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ (serious)”[๑๖] ข้อความดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสรุปโดยที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอและครอบคลุม

      ในบทความวิจัยต่อไปนี้ ผู้วิจัยจะบรรยายและวิเคราะห์พร้อมทั้งประเมินพัฒนาการเรื่องศักยภาพและประสิทธิภาพของโครงสร้างอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ไทย  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพร้อมทั้งในส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย โดยศึกษาประสบการณ์ทางการศึกษาของแม่ชีที่ศึกษาในระดับต่างๆ                    ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย  และบาลีศึกษา นอกจากนั้น จะวิเคราะห์ ปัญหา และโอกาสการเข้าถึงการศึกษา            ในส่วนของคณะสงฆ์ที่จัดการศึกษาและแม่ชีผู้ที่รับการศึกษา ในส่วนของแม่ชี คณะวิจัยไม่ละทิ้งในเรื่องของการดำเนินชีวิตในสังคมโดยไม่ได้ปฏิเสธความแตกต่างทางเพศยังมีอิทธิพลต่อการมีโอกาสในระบบการศึกษาที่จัดการโดยคณะสงฆ์ไม่ใช่น้อย ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ ความแตกต่างทางเพศในระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกการศึกษาภาษาบาลีของพระสงฆ์กับบาลีศึกษาของแม่ชี ในการได้รับนิตยภัตร (เงินที่รัฐถวายประจำเดือน)[๑๗]  รัฐบาลรับรองประโยค  ๙ เฉพาะของพระภิกษุเป็นปริญญาตรีแต่ยังไม่ได้รับรองบาลีศึกษาของแม่ชี และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษา[๑๘] งานวิจัยของปาริชาด สุวรรณบุบผา ที่กล่าวถึงการศึกษาของแม่ชีเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วว่า “ถึงแม้ว่าแม่ชีจะเป็นพลเมืองไทย มีสิทธิ เสรีภาพ เท่ากับผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานศึกษาบางแห่งจะไม่รับแม่ชีเข้าเรียน ด้วยพิจารณาว่าแม่ชีอยู่ในสภาพนักบวช มิควรเรียนปะปนกับฆราวาสชายหญิง”[๑๙] มนตรี สืบด้วงได้กล่าวถึงการศึกษาปริยัติธรรมของพระสงฆ์ที่แม่ชีไม่สามารถเข้าเรียนร่วมด้วยไว้อย่างน่าสนใจว่า                ในการศึกษาของคณะสงฆ์อื่นๆ (ไม่ใช่การศึกษาที่จัดที่มจร. และ มมร.)  ยังไม่เปิดโอกาสให้แก่ผู้หญิงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้หญิงหรือแม่ชีเรียนพระปริยติธรรมร่วมกับพระภิกษุสามเณร หรือการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นครูสอนปริยัติธรรม”[๒๐] ข้อกล่าวของปาริชาด สุวรรณบุบผาและมนตรี สืบด้วงยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ 

              การวิจัยครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative) มีวิธีการวิจัยดังต่อไปนี้

. สัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interviews (ใช้คำถามปลายเปิด ประชากร            ที่สัมภาษณ์ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ 

.๑ ผู้จัดการศึกษา ซึ่งมีบทบาทหน้าที่วางแผนและนโยบายการศึกษาสำหรับนักบวชและคฤหัสถ์ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยทั้งสองแห่ง  ประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และพระผู้ใหญ่ระดับบริหารท่านอื่นๆ  เพื่อศึกษาทัศนคติ มุมมองและประสบการณ์ในการบริหารจัดการและดำเนินการศึกษาสำหรับนักบวชหญิง

     . ผู้รับการศึกษา ประกอบด้วยแม่ชีที่เป็นนักศึกษาทั้งบาลีศึกษา อภิธรรมศึกษา และอุดมศึกษาในระดับต่างๆ การที่ผู้วิจัยเลือกวิธีสัมภาษณ์รายบุคคล ก็เพราะต้องการเก็บข้อมูลเชิงชีวประวัติส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับประสบการณ์ทางการศึกษาโดยมุ่งสอบถามเกี่ยวกับโอกาสอุปสรรคและปัญหาที่เผชิญมาในการเรียนบาลีศึกษาอภิธรรมศึกษาและอุดมศึกษา               ในขณะเดียวกันนั้นก็เปิดโอกาสให้แม่ชีมีส่วนร่วมในการแสดงความรู้สึกทัศนคติและข้อเสนอตลอดเวลาสัมภาษณ์

การที่นักวิจัยคนหนึ่งในคณะวิจัย (แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม) เป็นแม่ชีที่ผ่านการศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์จากระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอกเป็นรุ่นแรก (ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และพ.ศ.๒๕๔๕ ตามลำดับ) และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัยเป็นเวลา ๔ ปีมาแล้ว หมายความว่า มีประสบการณ์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับการศึกษาและผู้จัดการศึกษา ทำให้คณะวิจัยได้มีโอกาสที่จะตรวจทานข้อมูล ใช้เครือข่าย สร้างความไว้วางใจ        ในผู้ที่ให้ข้อมูลและพัฒนาคำถามปลายเปิดอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะแก่แม่ชี                            (ในขณะเดียวกันนั้นคณะวิจัยก็ต้องระมัดระวังความลำเอียงด้วย)

. การสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม (focus group) เป็นการสัมภาษณ์กลุ่มแม่ชี ๑๐ ท่าน[๒๑]  ที่เรียนบาลีศึกษา อภิธรรมศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติประสบการณ์และความรู้สึกส่วนบุคคล ที่ทำให้คณะวิจัยสามารถเห็นความแตกต่างและความคล้ายคลึงของทัศนคติและประสบการณ์ทางการศึกษาได้ชัดมากขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถไม่เพียงแต่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างชัดมากขึ้นและประเมินประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาได้ดีขึ้น หากยังเห็นสิ่งที่แม่ชีเห็นว่าดีขึ้นในสถานภาพของตนทางสังคมและการจัดการศึกษา พร้อมทั้งประสบการณ์ทางบวกและทางลบที่แม่ชีประสบในชีวิตประจำวัน (เช่น การเดินทางบนรถโดยสาร การได้รับความเคารพจากประชาชนและปฏิสัมพันธ์อย่างอื่นๆ กับประชาชน)  การที่ผู้วิจัยเลือกใช้การสัมภาษณ์แม่ชี           ที่เรียนบาลีศึกษา อภิธรรมศึกษาและเรียนระดับอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม เพราะเป็นวิธีการเก็บและประเมินข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากใช้ปฏิสัมพันธ์อันเป็นพลวัตของกลุ่มแม่ชีที่ตกลงร่วมการสัมภาษณ์เป็นกลุ่มครั้งนี้ ตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบข้อมูลทัศนคติและประสบการณ์เสนอและพิจารณาข้อเสนอต่างๆ (ทั้งนี้ทั้งนั้นแม่ชีกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนแม่ชีทั่วประเทศได้)

.การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ในช่วงแรกๆ ของการวิจัยคณะวิจัยพัฒนาและแจกแบบสอบถามและได้รับแบบสอบถามคืนประมาณ ๓๐๐ ชุดโดยมีความตั้งใจเก็บข้อมูล                เพื่อวิเคราะห์เชิงปริมาณ อย่างไรก็ตามเนื่องจากแจกแบบสอบถามที่สถาบันอุดมศึกษา                  และสถาบันแม่ชีไทยเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า แบบสอบถามนี้ได้เก็บข้อมูลจากแม่ชีเฉพาะกลุ่ม ทีมวิจัยยังไม่สามารถสรุปแบบสอบถามจำนวน ๓๐๐ ชุดนี้ในทางสถิติได้ เพราะในหลายเรื่อง        ผู้กรอกแบบสอบถามไม่สามารถเป็นตัวแทนของแม่ชีไทยทั่วประเทศได้[๒๒] แต่อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยได้นำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในแบบสอบถามที่แม่ชีทั้ง ๓๐๐ รูปแสดงความคิดเห็นมาวิเคราะห์ประกอบข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างและประสิทธิภาพ ในการจัดการศึกษาชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น แบบสอบถามนี้ แม้ว่า ไม่ได้ใช้ในการวิเคราะห์           เชิงปริมาณในครั้งนี้ ก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีประโยชน์มากสำหรับงานวิจัยครั้งนี้

วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของงานวิจัยนี้ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการศึกษาและผู้รับการศึกษาและข้อแสดงความคิดเห็นจากแบบสอบถาม               เพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ ทัศนคติ ประเมินศักยภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์แก่แม่ชีไทย

 

๒.   การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

              เพื่อเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น จำเป็นต้องศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ของการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดการเรียนการสอน คณะวิจัยจึงได้ศึกษาผลงานพระพรหมคุณาภรณ์           (ป. อ. ปยุตฺโต)เป็นหลัก เพราะท่านได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้บรรยาย และวิเคราะห์สถานการณ์ทางด้านการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างน่าสนใจ และมีช่วงหนึ่งที่ท่าน            มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                  การศึกษาในสังคมไทยในอดีตก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น คณะสงฆ์เป็นผู้จัดการเรียนการสอน วัดเป็นสถานที่ศึกษาเป็นสถานที่รักษาโรคต่างๆ เป็นสถานที่ให้ธรรมะแก่ชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ช่วงพ..๒๔๓๒[๒๓] เป็นต้นมา ได้มีมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาจุฬา            ลงกรณราชวิทยาลัย[๒๔] และพ..๒๔๓๖  ได้ก่อตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย[๒๕] ทั้งสองแห่งนี้สถาปนาโดยรัชกาลที่ ๕ คณะสงฆ์ได้จัดการศึกษาทั้งภาษาบาลี และวิทยาการสมัยใหม่ นอกจากนั้นพระองค์ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของไทย ในปี พ..๒๔๔๑ โดยให้พระสงฆ์เป็นผู้จัดการศึกษาให้ประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นฉบับแรกของไทยที่ประกาศใช้ในสมัยนั้น ในโครงการศึกษานั้น          ได้กล่าวถึงการศึกษาของสงฆ์และบทบาทของสงฆ์ในการจัดการศึกษาของบ้านเมืองไว้อย่างชัดเจน และได้เขียนเป็นหมายเหตุไว้อย่างชัดเจนว่าให้รวม มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นส่วนเรียนวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเรียนกฏหมาย[๒๖] หลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๕  การศึกษาของไทยได้เปลี่ยนแปลงโดยที่บทบาทของวัดในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษาน้อยลงมาก บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนค่อยหมดไป

                  พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๔๕๓ สิ้นสุดรัชกาลที่ ๕ แล้วกระแสความคิดในทางการศึกษาแห่งชาติก็ผันแปรไปอย่างพลิกหน้าเป็นหลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาดตัดตอนทันทีเกิดขึ้น การศึกษาของวัดกับของรัฐแยกต่างหากจากกัน รัฐรับเอาการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์หรือการศึกษามวลชน ตลอดจนการศึกษาระดับสูงทั้งหมดไปจัดดำเนินการเองฝ่ายเดียว การศึกษาวิชาการสมัยใหม่สำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้เริ่มต้นมาแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษ ก็สะดุดหยุดลงแล้วหายไป[๒๗]  ดูเหมือนว่ารัฐให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของสงฆ์น้อยลง   ไม่มีคำกล่าวถึงพุทธศาสนาในแผนการศึกษาของชาติ พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) อธิบายในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ว่า “ในโครงการและแผนการศึกษาแห่งชาติทุกฉบับทุกแผน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมา ไม่มีคำกล่าวถึงพระสงฆ์ วัด ปริยัติธรรม หรือพุทธจักรอีกเลย”[๒๘] จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๘๙ คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร                    ใน     มหามกุฏราชวิทยาลัย[๒๙]  ปี พ.ศ.๒๔๙๐ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[๓๐] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า “เป็นการรื้อฟื้นการศึกษาระดับสูงขึ้นเพื่อสืบสานปณิธานรัชกาลที่ ๕  ซึ่งทำให้ลูกชาวไร่ชาวนาที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของรัฐได้มีโอกาสเข้าอุดมศึกษาทางอื่นเพราะดูเหมือนว่าการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นจัดให้ประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเป็นส่วนมากโดยละเลยลูกชาวไร่ชาวนาในชนบท”[๓๑]

                  พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเฉพาะปี พ.ศ.๒๕๑๗ ว่า “นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหลายของรัฐเป็นลูกชาวไร่ชาวนาไม่เกินร้อยละ ๖ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย อยู่ในชนบทและเป็นชาวไร่ชาวนาประมาณร้อยละ ๗๖-๘๐ การลงทุนของรัฐทางด้านการศึกษากลายเป็นการลงทุนเพื่อคนที่มีโอกาสเหนือกว่าและได้เปรียบอยู่แล้ว”[๓๒] ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงสังคมในชนบท พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงข้อมูลนิสิตในมหาวิทยาลัยสงฆ์ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๑๖ พระนิสิตนักเรียนเป็นลูกชาวชนบทประมาณร้อยละ ๙๙ มาจากครอบครัวกสิกรร้อยละ ๙๑ ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยของรัฐนิสิต นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นลูกข้าราชการและพ่อค้าในเมืองในตลาดมีลูกกสิกรชาวชนบทห่างไกลเพียงร้อยละ ๖ หรืออย่างสูงไม่เกินร้อยละ ๘[๓๓]

                  โดยปกติประชาชนชนบทไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ดำเนินการโดยรัฐบาล พระเทพเวที (ป. อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ประชาชนไม่มีความเสมอภาคทางการศึกษา ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล และยากจน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของรัฐก็เลยต้องอาศัยช่องทางเก่าคือวัด[๓๔] ดังนั้น วัดจึงต้องจัดการศึกษาให้บุคคลที่เข้ามาบวช พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) กล่าวเพิ่มเติมว่า มันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ที่จะต้องช่วยให้การศึกษาแก่คนยากไร้แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ก็ได้จัดการศึกษาให้ประชาชนที่เข้ามาบวชตามศักยภาพของตนแต่ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนไม่สามารถเทียบได้กับการจัดการศึกษาของรัฐ  พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นช่องที่พอกล้อมแกล้มไป ไม่ใช่หมายความว่าได้ผลเต็มที่ เด็กจากชนบทที่คณะสงฆ์ช่วยไว้ ก็ใช่ว่าจะได้รับการศึกษาดี                      ก็กระท่อนกระแท่นกันไป เพราะทางฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ยอมรับ เป็นแต่เพียงว่ามันเกิดเป็นผลพลอยได้จากเรื่องเก่า อาศัยบทบาทเก่าเท่านั้น[๓๕]

                  ส่วนการจัดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์นั้นยังไม่ได้อยู่ในแผนจัดการศึกษาของรัฐ เพียงได้รับการสนับสนุนจากกรมการศาสนาด้วยเงินจำนวนน้อยไม่เพียงพอในการจัดการศึกษา จำนงค์ ทองประเสริฐ กล่าวถึงเหตุการณ์เริ่มแรกในการจัดการเรียนการสอนว่า "เรื่องอาคารเรียน ครูอาจารย์ งบประมาณในการบริหาร ด้านการศึกษาอาจเป็นเพราะงานใหม่เกินไป พระสงฆ์ไทยยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ยังมีประสบการณ์น้อย จึงทำให้รู้สึกว่าการศึกษาเล่าเรียนไม่ค่อยเป็นไปด้วยความราบรื่น[๓๖] กล่าวได้ว่าประสบอุปสรรคในการบริหารจัดการ จำนงค์ ทองประเสริฐได้อธิบายจากประสบการณ์ของตนเอง[๓๗] ว่า “งบประมาณการเงิน ได้จากกรมการศาสนาปีละ ๖๐,๐๐๐ บาทเกือบจะไม่พอค่าใช้จ่าย การบริหารงานยังอยู่ที่กุฏิส่วนตัว การดำเนินการต่างๆ ยังไม่คล่องตัว  ไม่มีสำนักงานกลางได้เรียนบ้างไม่ได้เรียนบ้าง”[๓๘]  และว่าในช่วงเปิดเรียนใหม่ส่วนมากจะเรียนกลางคืน ถ้าไม่เรียนตอนค่ำก็เกือบจะไม่ได้เรียนกันเพราะกลางวันเกือบไม่มีครูอาจารย์เลย เรียนโดยการจุดเทียนเรียนไม่มีไฟฟ้า”[๓๙] นอกจากปัญหาขาดงบประมาณและบุคคลกรในการจัดการและดำเนินการด้านอุดมศึกษาแล้ว คณะสงฆ์ยังเผชิญอุปสรรคหนักอย่างอื่นอีก คือ มีช่วงหนึ่งที่การศึกษาของรัฐพัฒนาขึ้นไปมากเท่าไหร่ การให้ความสำคัญแก่การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ก็น้อยลงนำไปสู่การไม่รับรองการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ และการศึกษาภาษาบาลีทั้งที่ทราบว่าไม่มีกฎหมายรับรองการศึกษาพระภิกษุสามเณรก็ต้องเรียนเพราะมีทางเลือกจำกัด จำนวนพระภิกษุสามเณรในมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้มากขึ้นตามลำดับในขณะเดียวกันกับงบประมาณการเงินไม่พอค่าใช้จ่ายเพราะรัฐบาลจัดงบให้มหาวิทยาลัยสงฆ์จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐ พระพรหมคุณาภรณ์ )ป. อ. ปยุตฺโต) ให้หมายเลขที่สะท้อนความไม่เสมอภาคนี้ว่า “ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ นั้น ที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ มีนักศึกษา ๘,๕๐๐ คน ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดิน ๔๒,๘๘๓,๓๐๐.๐๐ บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว ๕,๐๔๕.๐๐ บาท ในปี ๒๕๑๖ นั้นเช่นกัน ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งมีพระเณรเรียนอยู่ทั้งหมด ๙๗๕ รูป มีเงินงบประมาณทั้งสิ้น ๖๐๐,๐๐๐ บาท (จากงบประมาณแผ่นดินในรูปเงินอุดหนุน ๑๕๐,๐๐๐ บาท) นอกนั้น ได้รับอุปถัมภ์จากศาสนาสมบัติกลางและมูลนิธิอาเซีย กับเงินบริจาคทั่วไป คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัว ๖๑๕ บาท[๔๐]  ดังนั้น พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ว่า การศึกษาของภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ได้รับทุนจากประชาชนบำรุงเลี้ยงโดยตรงตามความพอใจหรือสมัครใจ จึงอาศัยงบประมาณของรัฐน้อยที่สุดต่างจากระบบการศึกษาของรัฐ ที่รัฐจัดสรรกะเกณฑ์เอาจากเงินภาษีอากรที่ต้องจ่ายตามกำหนด”[๔๑] สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลไม่รับรองวุฒิการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรที่เรียนจบแล้วไม่สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในประเทศไทยได้[๔๒] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของพระสงฆ์ว่า ถ้าเป็นพระสงฆ์จบเปรียญ ๙ หรือ จบมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่รัฐไม่รับรองแล้ว ก็ไปต่อในประเทศอินเดีย[๔๓] S.J. Tambiah ได้เขียนเกี่ยวกับการรับรองการศึกษาบาลีของพระภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผลงานเขียนเมื่อประมาณ ๓๖ ปีที่แล้วว่า พระภิกษุหรือสามเณรที่จบเปรียญธรรม ๓ ประโยค สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่นาน ต้องจบเปรียญธรรมอย่างน้อย ๖ ประโยคจึงจะสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เมื่อไม่นานนี้การศึกษาบาลีไม่ว่าจะประโยคไหนก็ไม่สามารถเข้าศึกษาได้เลย[๔๔]

                  มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีความพยายามที่จะให้รัฐบาลรับรองปริญญาและสถานภาพของมหาวิทยาลัย ดังนั้นคณะสงฆ์ผู้ใหญ่และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์[๔๕] จึงได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ในปีเดียวกันนี้ได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร  หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการคัดค้านจากบุคคลที่มีอำนาจ ตลอดจนการเมืองที่ไม่เสถียรภาพ เหตุปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคทำให้ล่าช้าถึงแม้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการพิจารณา ถึงกระนั้นคณะสงฆ์ก็ยังคงพยายามต่อไปจนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๒๗ รัฐบาลประกาศรับรองพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการทางพระพุทธศาสนาในพระราชบัญญัติฉบับนั้นรับรองเฉพาะวุฒิการศึกษาของผู้ที่จบปริญญาตรีและบาลีเท่านั้น[๔๖] ข้อความในพระราชบัญญัติมีดังนี้ “ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยคมีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า เปรียญธรรมเก้าประโยคใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.๙”” [๔๗] ถือว่า เป็นความสำเร็จขั้นแรกของคณะสงฆ์  แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของคณะสงฆ์ เพราะการรับรองครั้งนี้รัฐบาลรับรองเพียงปริญญาบัตรเท่านั้น แต่ไม่ได้รับรองมหาวิทยาลัย  รัฐจำกัดให้คณะสงฆ์จัดการศึกษาอยู่ในวงที่แคบคือปริญญาตรีเท่านั้น              ไม่สามารถจัดการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกได้ ในปี พ..๒๕๒๗-๒๕๓๙ พระสงฆ์ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้วไม่สามารถเรียนต่อการศึกษาระดับสูงทางพุทธศาสนาในประเทศไทยในเพศที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้ พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้ชี้ให้เห็นความไม่เสมอภาคของการศึกษา ที่รัฐจำกัดการศึกษาของคณะสงฆ์เพียงปริญญาตรีว่า “ คณะสงฆ์ซึ่งเ นสถาบันที่เป็น้นหลักของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยขณะนี้ (พ..๒๕๒๙) มีการศึกษาสูงสุดแค่ปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุดของคณะสงฆ์แล้วอยากจะศึกษาต่อให้สูงกว่านั้นต้องไปนอก ไปนอก มี ๒ อย่างคือ ๑) ไปนอกประเทศ ไปเรียนต่อ เช่น ที่ประเทศอินเดียเป็นต้น ๒) ไปนอกวัด ต้องสึกไปเรียน           ไปเป็นคฤหัสถ์"  ดังนั้นคณะสงฆ์จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๓๗  ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลรับรองในปี พ.ศ.๒๕๔๐  เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีพระราชบัญญัติแล้วจึงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นรายได้หลัก  ปรากฏข้อความในมาตราที่ ๑๓ ว่า เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี[๔๘]   

                  หลังจากนั้น ๒ ปีต่อมาใน พ.ศ.๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้เปิดรับคฤหัสถ์ซึ่งก็รวมทั้งแม่ชีอยู่ในจำนวนนั้นด้วยด้วยเหตุผลที่ได้บันทึกไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยว่า โดยจัดตั้งสถาบันการศึกษาดังกล่าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินงานด้านการศึกษา วิจัยส่งเสริม และให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์[๔๙]  เมื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีพระราชบัญญัติแล้ว สถานะทางการเงินมีงบประมาณแน่นอนชัดเจน พระภิกษุสามเณรที่เป็นนิสิตต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน ในส่วนของแม่ชีจ่ายค่าลงทะเบียนเท่าพระภิกษุสามเณร สำหรับคฤหัสถ์ชายและหญิงจ่ายเต็มราคา

                  จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้รับความไม่เสมอภาคทางการศึกษาดังที่กล่าวมาแล้วนั้นจึงทำให้มีงบประมาณไม่เพียงพอและไม่แน่นอนมาเป็นเวลา ๕๐ ปี การที่ยังคงจัดการเรียนการสอนต่อไปได้ เนื่องจากได้รับเงินจากการถวายจากประชาชนซึ่งเป็นรายได้ไม่แน่นอน นอกจากนั้น มีอีกข้อหนึ่งที่สำคัญมากในบริบทนี้ ก็คือไม่ได้มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาเนื่องด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังมีความไม่เสมอภาคทางด้านการศึกษาที่เนื่องด้วยเพศภาวะด้วย ก็คือก่อน พ..๒๔๗๐ ผู้หญิงไทยไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนในวัดได้ จนกระทั่งช่วงสมัยนั้นฝ่ายผู้หญิงจึงมีแต่กลุ่มอภิสิทธิ์กลุ่มเล็ก อย่างเช่น หญิงชาววังที่สามารถอ่านเขียนได้[๕๐]

 

. ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของแม่ชีไทยในมุมมองประวัติศาสตร์

              ในบทนี้คณะวิจัยจะศึกษาภาพรวมของการศึกษาระดับอุดมศึกษาและบาลีศึกษาพร้อมทั้งอภิธรรมศึกษาของแม่ชีเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจน โดยจะศึกษาการศึกษาของแม่ชี        ก่อนมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย

      ในประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องแม่ชีไว้น้อยมาก ดูเหมือนว่า ส่วนมากสตรี                           ในประวัติศาสตร์ไม่นิยมบวชในขณะที่อายุยังน้อยแต่จะบวชเมื่ออายุมาก ตามที่ มองซิเออร์  เดอ ลา ลูแบร์ ได้เขียนบันทึกเป็นจดหมายเหตุเกี่ยวกับแม่ชีในสมัยอยุธยาใน พ.ศ.๒๒๓๒ สรุปใจความว่า สตรีชาวสยามออกบวชเมื่ออายุขัยล่วงเข้าวัยชราแล้วไม่ปรากฏมีนางชีสาวๆ เลยไม่ได้มีทุกวัด”[๕๑] จดหมายเหตุฉบับของนิโคลาส์ แชร์แวส์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่มาอยู่ในเมืองไทยสมัยอยุธยา ได้กล่าวถึงแม่ชีว่า สตรีชาวสยามรักเสรีภาพมากเกินไปกว่าที่จะยอมมอบตนอยู่ในสำนักเหมือนอย่างนางชีของเรา และที่จะมีชีวิตอยู่ภายในที่นั้นจนตลอดอายุ นางจะไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่         ก็ต่อเมื่อล่วงเข้าถึงวัยที่เบื่อหน่ายในโลกียวิสัยแล้วเท่านั้น และน้อยรายนักที่จะอำลาจากสำนักนั้นออกมา ประการหนึ่งโดยที่พวกนางต้องติดต่อกับพระสงฆ์องค์เจ้าอยู่เสมอจึงได้มีกำหนดกฎเกณฑ์อนุญาตให้สตรีบวชเป็นชีได้ต่อเมื่ออายุล่วง ๕๐ ปี แล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันครหา  นางต้องโกนหัวโกนคิ้วเหมือนอย่างพระภิกษุ และต้องนุ่งขาวห่มขาว สีขาวนี้ถือเป็นสีที่สุภาพ สำหรับชนชาวสยามใช้ในโอกาสไว้ทุกข์ และคราวมีพิธีการที่สำคัญๆ พวกนางมิได้อยู่ในสำนักที่เป็นอาราม นางจากครอบครัวมาอยู่หมู่ละ ๓-๔ คน ในที่ใกล้ๆวัดนางมิได้ปฏิญาณตนและถือกำหนดกฎวินัยเอาตามอย่างภิกษุเท่านั้น ประพฤติปฏิบัติตนตามวินัยสงฆ์ทุกอย่าง ทั้งสวดมนต์ทุกวันและเจริญภาวนาเป็นเวลานานๆ อยู่ในโบสถ์ เวลาส่วนใหญ่ของนางคือปรนนิบัติพระสงฆ์ มีการจัดจังหันถวายและช่วยเหลือกิจการทางด้านต่างๆ ด้วยการอวยทานอยู่เนืองนิจ นางไปเยี่ยมคนจนและคนเจ็บไข้ได้ป่วยและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นในด้านทานมัยอย่างเคร่งครัดด้วยประการนี้                 ไม่มีสำนักเป็นของตนเองต้องอาศัยอยู่ในวัดของพระ กิจกรรมของแม่ชีสูงวัยเหล่านั้นคือปฏิบัติธรรม หรือการทำบุญโดยการช่วยบำรุงพระพุทธศาสนา และปรนนิบัติพระสงฆ์เท่านั้น[๕๒] ดังนั้น จึงไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาของแม่ชีในประวัติศาสตร์   

                  กิจกรรมแรกที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับการศึกษาของแม่ชีไทยปรากฏ         ครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๙ คือการศึกษาพระอภิธรรมหลักสูตร ๗ ปี ๖ เดือน มีทั้งหมด ชั้น            ได้เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๙๔ ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี กรุงเทพมหานคร[๕๓] เป็นการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายนำโดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร)[๕๔] โดยเปิดรับสมัครแม่ชีเข้าเรียนร่วมกับพระสงฆ์  หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๙ มีแม่ชีสำเร็จตามหลักสูตรจำนวน ๒ รูป รวมแม่ชีที่เรียนสำเร็จอภิธรรมตามหลักสูตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (๒๕๕๔ ) จำนวน ๑๕๒ รูป  เฉลี่ยแม่ชีที่เรียนสำเร็จจำนวนมากที่สุดในปี พ.ศ.๒๕๓๘ จำนวน ๑๐ รูป นอกนั้นประมาณปีละ ๗-๙ รูปต่อปี[๕๕]  ปี พ.ศ.๒๕๑๑ คณะสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร ฝ่ายมหานิกาย ได้จัดการเรียนการสอนพระอภิธรรม แม่ชีเข้าศึกษาร่วมกับพระสงฆ์ จำนวนแม่ชีที่สำเร็จการศึกษาอภิธรรมตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๕๔ มีจำนวน ๒๕๐ รูป  ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ มีแม่ชีสำเร็จการศึกษาอภิธรรมจำนวนมากที่สุด ๑๙ รูป นอกนั้น ปีละ ๑๐ รูป หรือ๑๔ รูป [๕๖]  ..๒๕๒๔ การศึกษาอภิธรรมได้เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีสาขาทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ๕๗ สาขา[๕๗]

                  ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้จัดการศึกษาภาษาบาลีแก่แม่ชีมีทั้งหมด ๙ ชั้น ใช้หลักสูตรเดียวกับพระสงฆ์ และสามารถเรียนร่วมกับพระสงฆ์ได้ มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นเพียงสถานที่จัดสอบและรับรองผลการศึกษาบาลีของแม่ชีเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในกำกับของแม่กองบาลีของมหาเถรสมาคมเหมือนการศึกษาของคณะสงฆ์ ดังนั้นแม่ชีจึงไม่ได้สอบรวมกับพระสงฆ์[๕๘]  แม่ชีที่เรียนบาลีรุ่นแรกมีจำนวน ๑๒ รูป ใน ๑๒ รูปนั้นไม่มีแม่ชีที่เรียนสำเร็จตามหลักสูตรบาลีชั้นที่ ๙ มีเพียงแม่ชีที่สอบผ่านบาลีชั้นที่ ๖ เท่านั้น[๕๙]  ในปี พ.ศ.๒๕๒๙[๖๐] มีแม่ชีสำเร็จบาลีชั้นที่ ๙ เพียง ๑ รูปเท่านั้น  นับเป็นเวลา ๒๓ ปีจึงมีแม่ชีสำเร็จการศึกษา หลังจากนั้นมีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยค อย่างมากที่สุด ปีละ ๒ รูปเท่านั้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ ถึง ๒๕๕๔ รวมเวลา ๔๙ ปี มีแม่ชีสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยคในประเทศไทย รวมทั้งหมด  ๒๐ รูป[๖๑]  

                  มหามกุฏราชวิทยาลัยรับรองการศึกษาบาลีของแม่ชีด้วยการออกประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศให้เป็นไปตามแบบคณะสงฆ์ ดังคำประกาศของมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยว่า ให้ใช้หลักสูตรและเกณฑ์การวัดผลของพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวงเป็นหลักสูตรและเกณฑ์การวัดผลบาลีศึกษาโดยอนุโลม[๖๒] ในเรื่องการมอบประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศของแม่ชีมีความแตกต่างกัน มีรายละเอียดดังนี้ บาลีศึกษา ๓  บาลีศึกษา ๖  และบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศพร้อมประกาศนียบัตร   ใน ๓ ประเภทนี้มีส่วนแตกต่างคือ บาลีศึกษา ๓ และ ๖ นั้น รับประกาศนียบัตรและพัดเกียรติยศจากสมเด็จพระสังฆราช สำหรับบาลีศึกษา ๙ ได้รับพัดเกียรติยศจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ   พระองค์เสด็จประทานพัดเกียรติยศแก่แม่ชีที่สำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยคครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาภาษาบาลี ของแม่ชีไทยใน พ.ศ.๒๕๒๙ ที่ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย[๖๓]          ในส่วนของบาลีศึกษา ๑-๒, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘ รับเฉพาะประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระสังฆราชหรือผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช

                  ถึงแม้แม่ชีจะได้รับการศึกษาบาลีเหมือนพระภิกษุสามเณร แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ภิกษุสามเณรที่เรียนจบประโยค ๙ นั้น ได้รับนิตยภัตร (เงินเดือน) จากรัฐบาลโดยผ่านกรมการศาสนา ปัจจุบันนี้ผ่านสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  สำหรับแม่ชีที่จบบาลีศึกษา ๙ประโยค  ไม่ได้รับนิตยภัตรเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการจัดการศึกษาบาลีศึกษาของแม่ชีไม่ไช่งานของมหาเถรสมาคม ดังนั้นมหาเถรสมาคมจึงไม่ได้มอบนโยบายให้แม่กองบาลีดำเนินการจัดการศึกษาภาษาบาลีให้แก่แม่ชี  แต่เป็นการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  การศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ได้รับการรับรองโดยมีพระราชบัญญัติ  พ.ศ.๒๕๒๗ ใน มาตรา ๓ ว่า วิชาการพระพุทธศาสนาหมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง[๖๔] ในช่วงที่มีพระราชบัญญัติรับรองการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น แม่ชีได้รวมกันก่อตั้งมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยแล้ว[๖๕] แต่แม่ชียังไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์

                  ในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗[๖๖] ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญได้กล่าวถึงการที่แม่ชีไม่ได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ไม่มีระเบียบหรือกฎห้ามแม่ชีเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีแม่ชีมาสมัครเข้าเรียน อาจเนื่องจากจารีตประเพณีไทยที่นักบวชไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเรียนทางโลกและเมืองไทยมองแม่ชีไทยแบบก้ำกึ่งระหว่างคฤหัสถ์และนักบวชจึงไม่มีแม่ชีมาสมัครเรียน ใน พ.ศ.๒๕๒๘ มีพระสงฆ์สามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลได้ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ปรากฏมี แม่ชีมาเรียน ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนในสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มีแม่ชีมาสมัครเรียน ๑ รูป ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา ถึงปี พ.ศ.๒๕๕๔ มีแม่ชีเรียน ๑๑ รูปกำลังจะมีแม่ชีเรียนสำเร็จเป็นรูปแรก[๖๗] อีกประการหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์             เป็นมหาวิทยาลัยปิด คือมีการสอบแข่งขันเข้าศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงคัดบุคคลเข้าศึกษาด้วยคะแนนตามเกณฑ์  ซึ่งแตกต่างจากมหาวิทยาลัยเปิดที่ไม่มีการสอบแข่งขันสามารถเข้าไปเรียนได้  แม่ชีส่วนมากมองว่า ตนเป็นนักบวชจึงมุ่งเรียนธรรมะและเรียนวิปัสสนาเท่านั้น                  แต่อย่างไรก็ตาม มีแม่ชีบางกลุ่มเท่านั้นที่มุ่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเปิด คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง[๖๘] ในปีพ.ศ.๒๕๒๐ มีแม่ชีศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก คือแม่ชีอุดมศรี    ช่อเกตุ หลังจากนั้น ๕ ปี คือ พ.ศ.๒๕๒๕  แม่ชีสีสลับ อุปมัย และแม่ชียุพิน ดวงจันทร์ ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แม่ชีสีสลับ อุปมัย ให้ข้อมูลว่า ครั้งแรกในการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้นทางวัดไม่อนุญาต เพราะเป็นนักบวชแล้วไม่ควรเรียนในมหาวิทยาลัยทางโลก           แต่เมื่อไปเรียนแล้วทางวัดก็ไม่ท้วงติง จนกระทั่งเรียนจบ แม่ชีวัดปากน้ำเป็นแม่ชีรุ่นแรกที่เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง[๖๙] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๕๒๑              เป็นมหาวิทยาลัยเปิด[๗๐] และเป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่แม่ชีเลือกศึกษา สาเหตุที่แม่ชีเลือกศึกษา              ที่มหาวิทยาลัยเปิดทั้งสองแห่งนี้เพราะค่าเรียนไม่สูงเข้าถึงง่าย นักบวชสามารถศึกษาได้ เปิดรับนักศึกษาไม่จำกัดจำนวน ศึกษาได้ด้วยตนเอง ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นไม่มีข้อห้ามสำหรับแม่ชี  คณะวิจัยไม่สามารถตรวจสอบจำนวนแม่ชีที่ลงทะเบียนเรียนของมหาวิทยาลัย            ทั้งสองแห่งและมหาวิทยาลัยเอกชนได้เพราะแม่ชีเหล่านั้นใช้คำนำหน้าชื่อนางสาวตามบัตรประจำตัวประชาชนในการเข้าศึกษา

๔.  การเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาของแม่ชีไทย

                  หลังจากที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฏราชวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยใน พ..๒๕๔๐ การศึกษาของแม่ชีในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ดีขึ้นจนถึงระดับสูงสุดคือปริญญาเอก ที่เป็นเช่นนี้อันเนื่องมาจากการศึกษาของคณะสงฆ์ที่มั่นคง นั่นคือการ                        มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย กล่าวได้ว่าได้หลุดจากความเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีกฎหมายรับรองแล้ว ซึ่งในช่วงนั้นถึงกับถูกเรียกว่าเป็น มหาวิทยาลัยเถื่อน ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ..๒๕๔๐ มีวัตถุประสงค์ ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัย                    มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์[๗๑] ดังนั้น พ..๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงได้เปิดรับแม่ชีและคฤหัสถ์เข้าเรียนระดับปริญญาโท แม่ชีรุ่นแรกที่เรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้งหมด รูป เรียนสำเร็จ รูป[๗๒] ในแม่ชี ๓ รูปนั้น สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก                  ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๑ รูป สำเร็จปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดลีประเทศอินเดีย ๑ รูป ทั้งสองเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย[๗๓] ปี พ..๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดในระดับปริญญาเอก ในส่วนปริญญาตรีนั้นเปิดรับคฤหัสถ์และแม่ชี ในปี พ..๒๕๔๘ สาเหตุที่เปิดปริญญาตรีช้าเนื่องจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้แก้ไขข้อบังคับ  แก้ไขข้อความที่ทำให้เปิดรับคฤหัสถ์และแม่ชีเข้าเรียนได้ในระดับปริญญาโทแล้วเสร็จก่อนปริญญาตรี[๗๔] นับตั้งแต่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดรับแม่ชีเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เริ่มใน พ.ศ.๒๕๔๒ จนถึง ๒๕๕๔           ได้มีแม่ชีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจำนวน ๑ รูป ระดับปริญญาโทจำนวน ๑๓  รูป[๗๕] ระดับปริญญาตรีจำนวน ๘ รูป[๗๖]

                  นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังได้รับรองการศึกษาพระอภิธรรมที่มีการเรียนการสอนอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการรับรองการศึกษาจากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยมติคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้ประกาศเทียบความรู้การศึกษาอภิธรรมในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ดังข้อความในประกาศว่า ประกาศนียบัตรมัชฌิมอาภิธรรมิกะเอกเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต เทียบเท่าปริญญาตรี[๗๗]  

                  ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยได้เปิดรับแม่ชีเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๒  ปริญญาโท พ.ศ.๒๕๔๕ ปริญญาเอก พ.ศ.๒๕๔๙[๗๘]  มีแม่ชีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน ๔๓ รูป ระดับปริญญาโท จำนวน ๒๙ รูป และ ปริญญาเอก จำนวน รูป[๗๙]  จำนวนแม่ชีที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งต่างกัน น่าจะสันนิษฐานได้ว่า มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยมีสำนักงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แม่ชีจึงมีความคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้เริ่มตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๒[๘๐]  สำหรับการศึกษาภาษาบาลี        นั้นนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ ยังไม่ได้มีการรับรองการศึกษา ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๕๔๓ มหาวิทยาลัย         มหามกุฏราชวิทยาลัย จึงประกาศรับรองสถานะบาลีศึกษาของแม่ชีโดยรับรองการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยให้ผู้เรียนมีวุฒิสอดคล้องกับการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์  ผู้สำเร็จการศึกษาบาลี ๕ ประโยคเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาบาลี ๙ ประโยค เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งและสามารถนำประกาศนียบัตรสมัครเรียนในระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลได้[๘๑] มีข้อความในประกาศดังต่อไปนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีตั้งแต่บาลีประโยค ๑-๒ ถึงบาลี ๙ ประโยคในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยตามความเหมาะสมโดยใช้อักษรย่อว่า “บ.ศ.” ให้ใช้หลักสูตรและเกณฑ์การวัดผลของพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวงเป็นหลักสูตรและเกณฑ์การวัดผลบาลีศึกษาโดยอนุโลม ให้เทียบชั้นการจบของแต่ละประโยคกับประโยคเปรียญธรรม ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง[๘๒] มหาวิทยาลัยประกาศสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาบาลีให้แก่แม่ชีโดยใช้มาตรฐานหลักสูตรเหมือนของพระสงฆ์ทุกประการ ให้ใช้อักษรย่อ บ.ศ. ซึ่ง มาจากคำเต็มว่า บาลีศึกษาเช่น บาลีศึกษา ๓เป็นต้น

                  จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งแสดงจุดยืนชัดเจนในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้แม่ชี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้นได้รับรองผู้ที่สำเร็จอภิธรรมโดยสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโทได้  มหามกุฎราชวิทยาลัยรับรองวุฒิการศึกษาภาษาบาลีของแม่ชีโดยรับรองบาลี ๙ ประโยคให้เป็นปริญญาตรีและสามารถเรียนต่อระดับปริญญาโทของทั้งสองมหาวิทยาลัย[๘๓] ตามที่คณะวิจัยสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมุ่งที่จะส่งเสริมการศึกษาทั้งแม่ชีและสตรีคฤหัสถ์ เพื่อต้องการให้สตรีได้มีความรู้ทางธรรม มุ่งให้สามารถนำความรู้ไปสั่งสอนให้สังคมได้รับประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม  คำนวณจากระยะเวลาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้จัดการเรียนและการสอนมาแล้วเป็นเวลากว่า ๐ ปี ดูเหมือนว่าเป็นเวลานาน กว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจะรับแม่ชีเข้าเรียน จากการสัมภาษณ์คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งต่างมีความเห็นอย่างสอดคล้องกันเกี่ยวกับการรับแม่ชีเข้าเรียน           ว่าด้วยเหตุผลหลักๆ คือยังไม่มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย    ไม่มีงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐบาล     มีเพียงทุนจากกรมการศาสนา          ที่มีจำนวนจำกัด และ เงินรับบริจาคจากประชาชน ถือได้ว่าบริหารบนความเสี่ยง ซึ่งจัดการบริหารการศึกษาเป็นไปตามยถากรรม ห้องเรียนไม่เพียงพอ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตโต) ได้ให้เหตุผลอย่างกระชับว่า “มหาวิทยาลัยสงฆ์ยังไม่มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ไม่มีงบประมาณ”[๘๔]  นอกจากนั้นพระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ     สิริญาโณ) ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์เรียนแบบลักษณะประชาชนบริจาค พระสงฆ์มีเงินบริหารไม่มากไม่พอค่าจ่าย”[๘๕]

 

๕.  ความท้าท้ายในการจัดการสอนบุคคลต่างเพศปนกัน

                  ก่อน พ.ศ.๒๕๑๒ คณะสงฆ์ที่จัดการศึกษาเกี่ยวกับอุดมศึกษาได้เสนอร่างพระราช บัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีคณะสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ทั้งธรรมยุติและมหานิกายบางกลุ่ม           ไม่เห็นชอบในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งไม่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยเกรงว่าการศึกษาบาลีที่เป็นการศึกษาดั้งเดิมของคณะสงฆ์จะเสื่อม จะไม่มีผู้เรียนภาษาบาลี พระสงฆ์จะเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งสอนทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อเรียนสำเร็จมหาวิทยาลัยแล้วเกรงจะลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์ เหนือสิ่งอื่นใดคือห่วงเรื่องความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ สมัยนั้นทั้งพระเถระผู้ใหญ่และกลุ่มนักการเมืองบางคนให้เหตุผลเหมือนกันคือพระสงฆ์ควรเรียนเฉพาะภาษาบาลีและพระธรรมวินัยเท่านั้น[๘๖] กล่าวได้ว่าพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือขยายการศึกษาได้ครอบคลุมถึงคฤหัสถ์ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ได้ชี้แจงเหตุผลในการเปิดรับนิสิตที่เป็นคฤหัสถ์ต่อคณะ กรรมาธิการ           ในรัฐสภาว่า “ถ้าให้พระเรียนอย่างเดียว ถ้าพระลดจำนวนลงจะทำอย่างไร ดังนั้น จึงควรเปิดรับคฤหัสถ์ด้วย”[๘๗]  พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) กล่าวถึงการแยกห้องเรียนว่า คณะกรรมาธิการเห็นชอบในหลักการแต่ในทางปฏิบัตินั้นให้จัดการเรียนการสอนแยกกัน               ด้วยเกรงปัญหาจริยธรรมทางเพศความกังวลเกี่ยวกับพรหมจรรย์”[๘๘] “ความเหมาะสมแก่สมณเพศของพระภิกษุสงฆ์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งตระหนัก             ในเรื่องนี้จึงประกาศเป็นนโยบายแยกห้องเรียน”[๘๙] พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) อธิบายว่า ตอนนั้นสังคมยังไม่อยากให้สตรีเข้ามาเรียนอยู่ในที่เดียวกันกับพระ คือถ้าจะเข้ามาเรียนก็ต้องแยกห้องเรียน ก็มีข้อติเตียนจากผู้ใหญ่ ก็ในเมื่อที่ไม่พอ แล้วยิ่งมาแยกห้องอีกก็ยิ่งไม่พอเพิ่มอีก ครูบาอาจารย์ก็น้อยอยู่แล้วถ้าแยกก็ต้องเกิดปัญหาอยู่แล้ว[๙๐]

                  ปัจจุบันนี้ หลังจากการเปลี่ยนแปลงในระบบการจัดการศึกษา การศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทนั้นพระสงฆ์และคฤหัสถ์เรียนแยกห้อง ในส่วนของปริญญาเอกเรียนรวมห้องเดียวกันทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ การที่ให้นิสิตปริญญาเอกเรียนรวมกันนั้นเนื่องจากมีวัยวุฒิสูงแล้ว  นอกจากนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์มองเรื่องสตรีเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นเรื่องปกติ เพราะวัดทุกวัดในประเทศไทยสตรีก็เข้ามาทำบุญและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นส่วนมาก ในส่วนของอาจารย์ที่สอนนั้นมีทั้งพระสงฆ์ คฤหัสถ์บุรุษและสตรี  มีการให้เหตุผลว่า การที่ให้สตรีมาสอนนั้นทำให้พระสงฆ์ตั้งใจเรียนและสำรวมมากขึ้นถือว่าเป็นการมองข้ามเพศและการฝึกฝนสติของตัวเอง[๙๑] ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นนอกจากจะรับแม่ชีเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ยังได้สร้างวิทยาลัยสำหรับแม่ชีโดยให้ชื่อว่ามหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยรับสตรีที่จบมัธยม ๖ เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะศาสนาและปรัชญา               และคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา และสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ ในส่วนของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีแผนที่จะสร้างวิทยาลัยของแม่ชี ภายในอาณาเขตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา                     ในขณะเดียวกันก็ได้สนับสนุนให้เสถียรธรรมสถานซึ่งเป็นสำนักแม่ชีในกรุงเทพมหานครเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทโดยให้ชื่อว่า สาวิกาสิกขาลัย[๙๒] มีนิสิตทั้งแม่ชีและคฤหัสถ์สตรีบุรุษ ประชาชนให้การสนับสนุนทุนในการสร้างอาคารเรียน

 

๖. ประสบการณ์ในการเรียนของแม่ชี

                  ในระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของแม่ชีดีขึ้นตามลำดับ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือแม่ชีมีการศึกษาสูงขึ้น และเป็นกำลังในการเผยแผ่พระศาสนาทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยอดีตที่แม่ชีมีโอกาสได้เรียนหนังสือค่อนข้างน้อย กิจกรรมของแม่ชีคือปฏิบัติธรรมและทำงานในวัดเท่านั้น   ในอดีตไม่มีโอกาสได้รับเชิญไปอบรมศีลธรรมตามสถานที่ต่างๆ หรืออาจมีเฉพาะบางแห่งเช่น สำนักแม่ชีศาลาสันติสุข อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมซึ่งไม่มากครั้ง หลังพ.ศ.๒๕๔๒ ถึงปัจจุบัน แม่ชีมีการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย            ดังข้อความตามที่แม่ชีท่านหนึ่งรายงานว่า “ในอดีตนั้นหัวหน้าแม่ชีไม่ให้ออกไปเรียนข้างนอก          ให้อยู่ในวัดให้ปฏิบัติธรรม แต่สมัยนี้มีการเปิดให้แม่ชีเรียนมากขึ้นเท่าที่จะไขว่คว้าได้ อยากเรียนอะไรก็ได้เรียนเต็มที่ แม่ชีพัฒนาเรื่องการศึกษามากขึ้น”[๙๓]  เมื่อแม่ชีมีการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว บทบาทของแม่ชีจึงได้รับการยอมรับในฐานะเป็นผู้สอนธรรมะและมีบทบาทในการสอนจริยธรรมเยาวชนมากขึ้นเนื่องจากได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น แม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า “แม่ชีที่สอนจริยธรรมและศีลธรรมตามโรงเรียนในชุมชนเมืองและชุมชนชนบทประชาชนยกย่องเสมอเหมือนยกย่องภิกษุสามเณร”[๙๔] ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของแม่ชีอีกท่านหนึ่งว่า “ช่วงที่มีอบรมภาคฤดูร้อนหรืออบรมศีลธรรม เขาก็จะให้เกียรติเชิญแม่ชีเข้าไปช่วยอบรมด้วย”[๙๕] และแม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อก่อนไม่มีโอกาสไปอบรมศีลธรรม แต่เดี๋ยวนี้มีโอกาสมากขึ้นและพระเณรเองก็ให้การยอมรับ     บางทีก็เปิดโอกาสให้ไปช่วยสอนบาลีให้พระเณรซึ่งในสมัยก่อนนี้จะไม่ค่อยมี สมัยหลังนี้เห็นแม่ชีมีความรู้ มีการศึกษา ก็ให้มีโอกาส         ไปสอน ให้การยอมรับ ทั้งพระเณรและฆราวาส”[๙๖] นอกจากฆราวาสจะยอมรับแล้วคณะพระสงฆ์         ก็ยอมรับในศักยภาพ วัดบางวัดเปิดโอกาสให้แม่ชีเป็นอาจารย์สอนบาลีประจำสำนักเรียน             โดยผู้เรียนคือภิกษุสามเณร  เช่น สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร จากคำบอกเล่าของแม่ชีที่สอนบาลีของสำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ว่า “สอนบาลีที่สำนักเรียนนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๕๔ ภิกษุสามเณรให้ความนับถือมากขึ้น”[๙๗] ในอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย          มีแม่ชีเป็นอาจารย์สอนอภิธรรมจำนวน ๘ รูปจากจำนวนอาจารย์ทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ทั้งหมด ๓๑ รูป/คน นักศึกษาอภิธรรมมีทั้งนักบวชและคฤหัสถ์ ผู้เรียนให้ความนับถือ  แม่ชีท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนมากจะสนใจในเรื่องความรู้มากกว่าเพศผู้สอน”[๙๘] แม่ชีที่สอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมี ๑ รูป สอนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน (๒๕๕๕)                   ให้สัมภาษณ์ว่า “นิสิตที่เรียนระดับบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ให้การยอมรับและมุ่งที่ความรู้ของผู้สอน ดังนั้นการสอนจึงไม่พบอุปสรรค”[๙๙] แม่ชีที่สอนที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย (วิทยาลัยแม่ชี) ซึ่งอยู่ในกำกับของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๒ รูป แม่ชีท่านหนึ่งที่สอนที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย มา ๓ ปีแล้ว ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองว่า “สมัยหลังนี้เห็นแม่ชีมีความรู้ มีการศึกษาได้มีโอกาสไปสอนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์พระภิกษุสามเณรและฆราวาสให้การยอมรับในศักยภาพ ประกอบกับพระภิกษุสามเณรเป็นคนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจในวุฒิการศึกษาของผู้สอน ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็มีอาจารย์ฆราวาสมาสอนเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้น การที่แม่ชีจะสอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใด”[๑๐๐]   

                  ในส่วนของการเรียนภาษาบาลี แม่ชีที่เรียนร่วมกับพระภิกษุสามเณรมีบรรยากาศ         ที่เป็นกันเองและสถานที่เรียนบาลีเป็นที่พอใจและสะดวก จากการสัมภาษณ์แม่ชีท่านหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัดว่า “ต่างจังหวัดเขาเปิดเรียนบาลีเยอะ ทางราชบุรีก็เยอะ พระเณรท่านก็ให้การสนับสนุนดี อาจารย์ที่สอนก็ดี  พระเณรที่เรียนร่วมกันก็ให้ความเป็นกันเอง บรรยากาศเหมือนเพื่อนให้ความคุ้นเคยให้เกียรติจนเรียนจบทุกชั้น”[๑๐๑] ในกรุงเทพมหานครสำนักเรียนบาลีที่แม่ชีนิยมมาเรียน คือสำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สำนักเรียนวัดสามพระยา สำนักเรียนวัดชนะสงคราม สำนักเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม จากประสบการณ์ของแม่ชีท่านหนึ่งเล่าว่า “เรียนบาลีประโยค ๘ และ ๙ ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา ได้ความรู้และเรียนอย่างมีความสุข  พระภิกษุสามเณรเป็นกันเอง หลังจากจบการศึกษาแล้ว พระภิกษุที่มีความคุ้นเคยกันในสมัยที่เรียน ยังคงเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”[๑๐๒]  สำนักเรียนบาลีของคณะสงฆ์ที่อนุญาตให้แม่ชีเรียนภาษาบาลีในสมัย พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๒๘  มีเฉพาะในกรุงเทพมหานคร หลังจากที่แม่ชีสมศรี จารุเพ็ง สำเร็จบาลี ๙ ประโยคเป็นแม่ชีรูปแรกของประเทศไทย ทำให้แม่ชีในประเทศไทยเริ่มตื่นตัวในการเรียนภาษาบาลี[๑๐๓] หลังจากนั้นสำนักเรียนของคณะสงฆ์ในต่างจังหวัดที่เปิดสำนักเรียนบาลีทุกแห่งได้อนุญาตให้แม่ชีเรียนบาลี[๑๐๔] เมื่อแม่ชีให้ความสนใจในการเรียนมากขึ้น การมีค่าใช้จ่ายในการเรียนจึงเป็นภาระอันหนักของแม่ชี  บางรูปอาศัยเงินของพ่อแม่เรียน บางรูปได้รับการอุปถัมภ์เรื่องเงินค่าเรียนจากคฤหัสถ์ดังคำให้สัมภาษณ์ของแม่ชีท่านหนึ่งว่า       ปริญญาโทและปริญญาเอกได้รับการอุปถัมภ์ค่าเทอมจากคฤหัสถ์”[๑๐๕] บางรูปทำงานเป็นครูสอนหนังสือในวัดและได้รับเงินเดือนจากมูลนิธิ จึงนำเงินเหล่านั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน  กล่าวได้ว่า การศึกษามีส่วนทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องของแม่ชีมีความภูมิใจไม่มีความกังวลใจในการบวชของลูกสาว และร่วมอนุโมทนาที่ลูกสาวได้บวชเรียนมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ถือว่าเป็น “การเกาะชายผ้าขาว” ซึ่งเป็นคำกล่าวของคนไทยที่มีลูกสาวบวชซึ่งล้อมาจากคำว่า “เกาะชายผ้าเหลืองของพระภิกษุ” แม่ชีได้ประพฤติปฏิบัติตนแบบพระภิกษุในการรับสิ่งของจากฆราวาสดังข้อความว่า "เมื่อพ่อแม่นำอาหารมาให้รับประทาน แม่ชีก็ยื่นมือออกรับเหมือนพระภิกษุรับประเคน และให้พรเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว”[๑๐๖]

                  ถึงแม้วัดจะอนุญาตให้แม่ชีเรียนภาษาบาลีรวมกับพระสงฆ์ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งของแม่ชี คือ สถานที่พักอาศัย บางวัดมีสถานที่ในวัดให้แม่ชีพักอาศัย แต่บางวัดไม่มีที่พักอาศัยมีแต่ที่เรียน วัดในกรุงเทพมหานครที่มีทั้งสำนักเรียนและที่พักอาศัยของแม่ชี ได้แก่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดเพลงวิปัสสนา วัดสร้อยทอง ในส่วนวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร  วัดปริณายก วัดอัมพวัน วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร วัดโสมนัสวรวิหาร  วัดมัชฌันติการาม วัดภาวนาภิรตาราม วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดเจ้ามูล วัดอาวุธวิกสิตาราม  มีสถานที่พักอาศัยแต่ไม่มีที่เรียน วัดในกรุงเทพมหานครไม่ได้รับแม่ชีให้อยู่อาศัยทุกวัด ดังนั้นสถานที่อยู่อาศัยของแม่ชีจึงลำบาก กุฏิหรือที่พักอาศัยตั้งอยู่ในสถานที่ไม่เหมาะสำหรับสตรี เช่น ใกล้ห้องน้ำของวัด หรือใกล้เมรุเผาศพ หรือไม่ก็เป็นสถานที่ผู้คนพลุกพล่าน  ในทางตรงกันข้ามบางวัดมีที่อยู่อาศัยสำหรับแม่ชีสะดวกสบาย และมีโรงเรียนอยู่ในวัด บางวัดมีสถานที่อยู่อาศัยอย่างดี แต่ไม่มีการเรียนการสอน     บางวัดมีโรงเรียนเรียนภาษาบาลี แต่ไม่มีที่พักอาศัย จากคำสัมภาษณ์แม่ชีท่านหนึ่งว่า “ครั้งแรกเริ่มมาเรียนลำบากมาก บางครั้งมีที่อยู่แต่ไม่มีที่เรียนได้เรียนในปี ๒๕๓๖ ทำให้การเรียนช้าไป อายุก็เพิ่มมากขึ้น”[๑๐๗]  วัดต่างจังหวัดบางวัดมีสถานที่พักอาศัยให้แม่ชีบางวัดไม่มี แม่ชีบางรูปที่อยู่วัดต่างจังหวัดได้รับการอุปถัมภ์จากวัดในเรื่องที่พักอาศัย พร้อมหนังสือเรียน[๑๐๘] แม่ชีบางรูปที่อยู่ในวัดที่มีเจ้าอาวาสสนับสนุนไม่ได้รู้สึกว่า เสียเปรียบในเรื่องการศึกษา วัดที่เปิดสอนอภิธรรมในต่างจังหวัดจะให้สิทธิแม่ชีที่เรียนอภิธรรมในการรับไทยธรรมในการทำบุญงานศพหรือการกุศลอื่นภายในวัด[๑๐๙] นอกจากนั้นเจ้าอาวาสบางรูปยังได้ส่งเสริมให้แม่ชีเรียนสำเร็จอภิธรรมบัณฑิตกันทุกรูปและส่งเสริมให้เรียนต่อระดับสูงขึ้นไป แม่ชีบางรูปได้รับความสะดวกสบายในเรื่องการเรียนตลอดทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่พบอุปสรรคปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยโดยที่เจ้าอาวาสบางวัดได้มองข้ามความเป็นเพศชายเพศหญิงดังข้อความว่า “ในบางวัดเจ้าอาวาสแต่งตั้งแม่ชีเป็นครูสอนในส่วนของแม่ชีที่เป็นครูสอนพระภิกษุสามเณรนี้ ส่วนมากเป็นแม่ชีที่เรียนจบอภิธรรมบัณฑิตและแม่ชีที่เรียนจบบาลีศึกษา”[๑๑๐] การส่งเสริมการศึกษาอภิธรรมและการเรียนภาษาบาลีสำหรับแม่ชีไม่ใช่มีทุกวัด  ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าอาวาสเท่านั้น และการอนุญาตให้แม่ชีได้อยู่อาศัยในวัดก็เหมือนกัน

๗. ทุนการศึกษาของแม่ชี

                  ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม่ชียังต้องเผชิญอุปสรรคไม่ใช่น้อยในด้านการเรียน ตามที่ได้สัมภาษณ์ อุปสรรคที่เป็นประเด็นหลักๆ คือ เรื่องทุนการศึกษาเป็นที่ทราบกันดีว่า แม่ชีไม่มีสถานภาพนักบวชที่เป็นที่ยอมรับอย่างทั่วถึง และเป็นเช่นนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  ดังนั้น ในสังคมไทยก็ยังมีการละเลยทอดทิ้งแม่ชีในหลายด้านคล้ายไม่มีตัวตนในสังคมไทย เป็นการปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีวัดใหญ่หลายวัดที่แม่ชีต้องประกอบอาหารเลี้ยงพระทำความสะอาดวัด ดูแลกิจการของวัด ดังคำสัมภาษณ์ของแม่ชีท่านหนึ่งว่า “ต้องเตรียมอาหารไว้ในช่วงเย็นของวันหนึ่งเพื่อรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง ถือว่าเป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบ”[๑๑๑]  วัดบางวัดรับแม่ชีไว้เป็นแม่ครัวเลี้ยงพระภิกษุสามเณร แต่ถ้าแม่ชีมาเรียนบาลีหรือระดับอุดมศึกษาจะถูกปฏิเสธ หรือถ้ารับเข้าอยู่อาศัย แม่ชีเหล่านั้นจะมีความลำบากเรื่องอาหาร จากคำสัมภาษณ์ของแม่ชีที่เรียนระดับอุดมศึกษาท่านหนึ่งกล่าวว่า ถ้าไปช่วยทำครัว ก็จะไม่ได้เรียน เพราะทำครัวในช่วงเวลา ๐๕.๐๐ นาฬิกา และต้องช่วยเก็บภาชนะล้างแล้วเสร็จในเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา การเรียนในระดับอุดมศึกษาเรียนในช่วงเช้า เมื่อไม่ได้ไปทำครัวในโรงครัวจึงต้องซื้ออาหารรับประทานเอง การไปรับประทานในครัวจึงไม่กล้า”[๑๑๒]

                  เป็นที่ทราบกันดีว่า แม่ชีในสังคมไทยมีต้นทุนทางสังคมยังค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังมีทุนสนับสนุนการศึกษา ซึ่งเป็นทุนของสำนักแม่ชีหรือประชาชนหรือวัดที่แม่ชีสังกัดหรือสถานศึกษานั้นๆ มอบให้ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของสถานที่นั้นตามที่แม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า “การศึกษาทางโลกนี้แม่ชีก็มีคนสนับสนุน โดยให้เป็นเทอมๆ”[๑๑๓]  เจ้าอาวาสบางวัดมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแม่ชี เมื่อแม่ชีสอบเลื่อนชั้นภาษาบาลีแต่ละชั้นผ่าน วัดได้จัดมอบทุนรางวัลให้แม่ชีที่สอบผ่านประโยคละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวนเงินรางวัลเท่าพระสงฆ์สามเณร[๑๑๔] สำหรับประโยคบาลีศึกษา ๙ ประโยคนั้น วัดที่ตนสังกัดมอบรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท หรือบางวัดที่มีเศรษฐกิจดีได้มอบให้ ๓๐,๐๐๐ บาท  นอกจากนั้นสมาคมเปรียญธรรมแห่งประเทศไทยวัดสามพระยาได้มอบทุนรางวัลรูปละ ๓,๐๐๐ บาท วัดพระธรรมกายมอบทุนรางวัล รูปละ ๗,๐๐๐ บาท และสถานที่ทั้ง ๒ แห่งนี้จัดฉลองอย่างสมเกียรติให้ทั้งพระสงฆ์สามเณร และแม่ชี สำหรับทุนสมาคมเปรียญธรรมแห่งประเทศไทยวัดสามพระยาและทุนวัดพระธรรมกาย พระสงฆ์สามเณรและแม่ชีได้รับทุนจำนวนเงินเท่ากัน  นอกจากนั้นบางวัดที่แม่ชีสังกัดอยู่อาศัย จัดฉลองให้อย่างสมเกียรติและพระสงฆ์ที่เป็นพระผู้ใหญ่ในวัดหลายรูปก็ได้มอบทุนรางวัลสนับสนุน  ในทางตรงกันข้ามแม่ชีบางรูปในบางวัด        ก็ไม่ได้ทุนรางวัลที่สอบเลื่อนชั้นผ่านหรือเรียนบาลีสำเร็จการศึกษา ดังคำกล่าวของแม่ชีท่านหนึ่งว่า “วัดไม่เคยสนับสนุนทุนการศึกษาหรือให้ทุนรางวัลเลย”[๑๑๕] จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารวัดที่มีแม่ชีสังกัด ดังข้อความว่า “การศึกษาของแม่ชีนั้นอันนี้เป็นความปรารถนาอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของแม่ชีหรือของภิกษุสามเณร ทั้งพระทั้งแม่ชีบวชเข้ามาแล้วต้องศึกษาเล่าเรียน ทางวัดให้การศึกษาทั้งนักธรรม ธรรมศึกษา บาลีศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ชีเรียนมหาวิทยาลัย”[๑๑๖] สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของแม่ชีที่สำเร็จการศึกษาบาลี ๙ ประโยคสังกัดวัดปากน้ำว่า “เมื่อเรียนสำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยคแล้ว สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปญฺโ) มอบทุนการศึกษาให้ ๕๐,๐๐๐ บาท สมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำให้รางวัลทุนการศึกษา ๕,๐๐๐ บาท”[๑๑๗]  ดังข้อความว่า “ทางวัดสนับสนุนการศึกษาของแม่ชี มอบทุนรางวัลให้แม่ชีที่สอบเลื่อนชั้นบาลีศึกษาและธรรมศึกษาทุกปี โดยให้ทุนรางวัลเท่ากับภิกษุสามเณร”[๑๑๘] แต่ก็มีบางวัดที่ยังไม่พร้อมในเรื่องเงิน  ดังข้อความว่า “ทางวัดไม่ได้วางนโยบายไว้ในเรื่องการให้ทุนรางวัลแม่ชี”[๑๑๙]    

               ในส่วนอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย ได้สนับสนุนแม่ชีที่มีผลการเรียนดี โดยการมอบหนังสือสำหรับเรียนในชั้นเรียน  ไม่ได้สนับสนุนเป็นเงิน  สำหรับสาวิกาสิกขาลัยนั้นมีทุนสนับสนุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่แม่ชี  ทุน ทุนละ ๒๗,๕๐๐ บาทต่อเทอม สนับสนุนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา   ปริญญาตรีมีจำนวนทุน ๒ ทุน เทอมละ ๑๒,๓๐๐ บาท สนับสนุนจนสำเร็จการศึกษา ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ขอทุน มีคณะกรรมการของมูลนิธิเสถียรธรรมสถานพิจารณาให้ทุน แม่ชีที่เรียนสาวิกาสิกขาลัยเสถียรธรรมสถานปริญญาโท ปี ๒๕๕๑ ครั้งแรกทั้งหมด ๓  รูป  ได้ทุนจากมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน ๑ รูป[๑๒๐] การให้ทุนของสาวิกาสิกขาลัยนั้นเป็นการพิจารณาให้เป็นรายๆ ไม่ใช่ให้ทั้งหมด ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดทุนให้พระภิกษุสามเณรและแม่ชีที่เรียนมหามกุฏราชวิทยาลัย ปริญญาตรี ปริญญาโท   สำหรับปริญญาตรีทุนละ ๑,๐๐๐ บาท ปริญญาโทจำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท  ในส่วนของ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย สถานที่ศึกษาระดับปริญญาตรีของแม่ชี ซึ่งอยู่ในสังฆราชูปถัมภ์ มีกองทุนมูลนิธิมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทุนประชาชนที่บริจาคผ่านมูลนิธิ  โดยกองทุนมูลนิธิได้ตั้งเงื่อนไขในการรับทุนคือแม่ชีหรือคฤหัสถ์สตรีที่ทำตามกฎคือสวดมนต์ไม่ขาด  

                  การจัดการศึกษาบาลีศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ ได้งบประมาณแผ่นดินจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๕๔ ได้งบประมาณจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เงินงบประมาณเหล่านี้ได้ในหมวดโครงการบำรุงศิลปวัฒนธรรม (บาลีศึกษา) ในแผนงบประมาณของมหามกุฏราชวิทยาลัย งบเหล่านี้เป็นงบจัดการศึกษาของคณะแม่ชี” [๑๒๑]   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดการเรียนการสอนพุทธศาสนาระดับปริญญาโทสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งมีพระภิกษุและแม่ชีเข้าศึกษา มีกองทุนให้พระเรียนปริญญาโท เรียกว่า กองทุนสร้างพระ ๖๐ ปีธรรมศาสตร์ เงินส่วนนี้เป็นเงินที่เหลือจากการสร้างพระพุทธรูปฉลอง ๖๐ ปีธรรมศาสตร์ งบส่วนนี้ให้เฉพาะพระภิกษุสามเณรที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในส่วนของแม่ชีและฆราวาส จะได้ในกองทุนของภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์และกองทุนเอกชนเป็นบางครั้ง เช่น กองทุนราชตฤณมัยสโมสร ผู้มีสิทธิ์รับทุนคือนิสิตพระ นิสิตแม่ชี  นิสิตคฤหัสถ์ ในส่วนเงินงบที่จัดให้แม่ชีไม่มีในแผนมหาวิทยาลัย แต่มีทุนสำหรับเขียนวิทยานิพนธ์สำหรับนักศึกษาทุกคนที่สอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ทุนละ ,๐๐๐ บาท งบประมาณมหาวิทยาลัย ที่ให้ไปตามโครงการต่างๆ เช่น งบ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๕๓ นี้ นำไปจ้างนักศึกษาช่วยงานอาจารย์ ในด้านต่างๆ เช่น งานธุรการของอาจารย์ในโครงการช่วยอาจารย์ประชาสัมพันธ์โครงการ เงินงบประมาณที่อาจารย์นำมาช่วยนิสิตนั้น ในปี ๒๕๕๔ มีจำนวน ๑ ทุน จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท มอบให้แม่ชี  ๒ รูป รูปละ ,๐๐๐ บาท นอกนั้นแม่ชีจะมีทุนต่างๆ จากเอกชนซึ่งรุ่นพี่หามาให้รุ่นน้อง สำหรับค่าเทอมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งพระทั้งแม่ชีเสียค่าใช้จ่ายเต็ม ไม่มียกเว้น นอกนั้น มีประชาชนศรัทธาแม่ชีได้มอบทุนค่าเรียนหรือได้ทุนจากพระเถระผู้ใหญ่เช่น แม่ชีณัฐหทัย ฉัตรทินวัฒน์  ซึ่งเรียนปริญญาโท สาขาวิชาสตรีศึกษา ได้รับทุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร[๑๒๒]  ในส่วนของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มูลนิธิมหาธาตุวิทยาลัย มูลนิธิศรีสรรเพชญ์ ได้มอบทุนรางวัลแก่แม่ชีที่สอบบาลีศึกษาได้    เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปีปัจจุบัน นอกจากนั้นวัดได้มอบทุนรางวัลแก่แม่ชีที่สอบธรรมศึกษาผ่านทุกชั้นปี[๑๒๓] วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้แม่ชีเรียนบาลี เมื่อจบการศึกษาบาลีชั้นที่ ๙ แล้วทางวัดได้สนับสนุนให้เรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก[๑๒๔] นอกจากนั้น แม่ชีที่เรียนสำนักศาลาสันติสุข ซึ่งเป็นสำนักแม่ชีที่เปิดการเรียนการสอนภาษาบาลีให้แก่แม่ชี นักเรียนภาษาบาลีได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเจ้าของที่ดินที่ถวายที่ดินสร้างสำนักแม่ชีกองทุนนี้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยดูแลให้การอุปถัมภ์เรื่องเงินแก่แม่ชี สำนักแห่งนี้ได้รับการอุปถัมภ์ปัจจัยและอาหารแห้งจากประชาชนบริเวณรอบๆ สำนัก[๑๒๕]

๘. บทสรุป[๑๒๖]

                  แม่ชีมีโอกาสและได้รับการสนับสนุนในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์มากขึ้นในระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมาตามที่แสดงในบทความนี้ แม่ชีที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่                         มีประสบการณ์ที่ดีในการได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์โดยรายงานว่า โอกาสการเข้าถึงระบบอุดมศึกษาดีขึ้นมาก สมัยใหม่นี้สำหรับแม่ชีเปิดโอกาสกว้างขึ้น เปิดโอกาสให้แม่ชีรุ่นหลังๆ ได้เรียนมากขึ้น  และมีแม่ชีท่านหนึ่งรายงานตามประสบการณ์ของตัวเองว่า คนเห็นว่า แม่ชีมีความรู้ความสามารถ ส่วนญาติโยมและสังคมก็ให้การยกย่องเหมือนเราเป็นนักบวชพุทธเช่นเดียวกับพระและเณร และพระเณรเองก็ให้การยอมรับ[๑๒๗] แม่ชีอีกท่านหนึ่งรายงานว่า การศึกษาก็มีส่วนทำให้คนมองผู้หญิงเปลี่ยนไปแล้ว เวลาไปบ้านญาติพี่น้องก็จะต้อนรับอย่างดี ทำกับข้าวมาถวาย แล้วมีการประเคนเหมือนพระ เราก็ต้องทำตามรูปแบบ เราก็ต้องให้พรด้วย เขาก็มีประเคนเหมือนพระ เขาถือว่าเราเปรียบเสมือนนักบวชรูปหนึ่ง ถ้าไปบ้านแทบจะไม่ให้เราหยิบจับอะไร เราจะต้องสำรวม[๑๒๘] ถึงขนาด “ในชุมชน (บางที่) ภาพลักษณ์แม่ชีดีขึ้นมากเลย[๑๒๙] และสอดคล้องกับคำนิยามของพระศรีคัมภีรญาณเกี่ยวกับแม่ชีว่า “แม่ชีก็คือ อนาคาริกมีความหมายกว้างกว่าบรรพชิต เพราะคำว่าบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร แต่อนาคาริกมีความหมายกว้างกว่า ก็คือนักบวช[๑๓๐] อันนี้แสดงว่า การศึกษาทำให้บทบาทของแม่ชีในสายตาชาวบ้าน เหมือนพระมากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น ในข้อนี้ก็ต้องเน้นว่า ก็ยังมีความแตกต่างตามค่านิยมและประเพณีท้องถิ่นที่ต่างกัน อีกอย่างหนึ่งการพัฒนาทางเทคโนโลยีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แม่ชีสามารถมีโอกาสทางด้านศึกษามากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้อุปกรณ์ทางการศึกษาได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ในระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ แม่ชีก็ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบของทุนการศึกษามากขึ้นตามที่แสดงมาในบทความนี้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไม่มีความเสมอภาคระหว่างนักบวชต่างเพศอย่างเต็มที่ เนื่องจากพระยังได้รับการสนับสนุนทางเงินและปัจจัยอื่นๆ มากกว่า ไม่ว่า เป็นที่พักอาศัย การถวายทุนการศึกษา และการรับรองความสำเร็จทางการศึกษาบาลี ฉะนั้น ก็ยังมีรายงานว่า “ส่วนใหญ่แม่ชีจะต้องเสียเงินเอง เสียค่าน้ำค่าไฟ แม่ชีก็ต้องสึกก่อนแล้วค่อยมาบวชใหม่ เพราะต้องไปหาค่าใช้จ่ายก่อน แล้วค่อยมาบวชใหม่[๑๓๑] การเก็บค่ารักษาที่โรงพยาบาลและค่าโดยสาร (ซึ่งก็มีความแตกต่างกัน เพราะว่า บางครั้งเก็บจากแม่ชี บางครั้งก็ไม่เก็บ)

                  ในขณะเดียวกันนั้น ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์มีทั้งศักยภาพและความพร้อมใจในการสนับสนุน เรื่องการรับสมัครสถานที่เรียนและสนับสนุนเรื่องทุนในการศึกษา แต่มีปัญหาหลักอย่างหนึ่งว่า จำนวนแม่ชีที่เข้ามาเรียนมีน้อยซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะเกี่ยวข้องกับอายุของแม่ชีที่เข้ามาศึกษา      ตามประเพณีไทยผู้ชายนิยมบวชตั้งแต่อายุยังน้อยคือบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเป็นเรื่องค่านิยมทางวัฒนธรรมประเพณีและสถานภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ลูกชาวบ้าน โดยเฉพาะลูกครอบครัวระดับล่างที่ไม่ค่อยมีกำลังทรัพย์ยังคงเลือกเส้นทางการรับการศึกษานี้อยู่  ฉะนั้น เด็กชายก็มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ในขณะเดียวกัน แม่ชีที่เข้าระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ตอนอายุยังน้อยมีค่อนข้างน้อย แม่ชีที่อายุน้อยอยู่ในวัยที่จะเรียนปริญญาตรี แล้วมาเรียนต่อโท ก็มีไม่มาก ส่วนมากเป็นคนที่เขาอายุพอสมควรแล้ว[๑๓๒] และอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ โอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาของแม่ชีส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าอาวาสแต่ละรูป ฉะนั้น วัดบางแห่งสนับสนุนการศึกษาของแม่ชีในขณะที่วัดบางแห่งไม่ได้ให้การสนับสนุนแก่แม่ชีเรื่องนี้  ดังนั้นข้อเสนอจากงานวิจัยนี้ เพื่อให้แม่ชีได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะสงฆ์ปัจจุบันจัดจำนวนมากขึ้น ข้อเสนอ ๒ ข้อหลักดังต่อไปนี้ควรให้เกิดขึ้นอย่างควบคู่และสนับสนุนซึ่งกันและกันดังนี้

                   ๑. การสร้างค่านิยม สร้างประเพณีนิยมใหม่ ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มของสตรีเองเท่านั้นแต่ในสังคมทั่วไปด้วย โดยการประชาสัมพันธ์กรณีศึกษาของแม่ชีที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตนักบวชสตรีเป็นชีวิตที่สวยงามได้ จัดระบบบวชช่วงปิดเทอมสำหรับแม่ชีน้อย (โครงการการบวชแม่ชีที่จัดโดยเสถียรธรรมสถานเป็นตัวอย่างที่ดี และได้ประสบความสำเร็จทางด้านนี้บ้างแล้ว) ในลักษณะเดียวกันกับระบบที่มีอยู่สำหรับเด็กชาย เพื่อให้ชวนบวชศึกษาธรรมะและเรียนต่อ วัตถุประสงค์ของข้อนี้คือ ให้ภาพลักษณ์ที่ดีระดับบุคคลช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีระดับสถาบัน (การส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันแม่ชีนี้ ควรร่วมการเผยแพร่ข้อมูลไปด้วยว่า แม่ชีไม่ได้รักษาเฉพาะศีลแปดเท่านั้น แต่ยังรักษาเสขิยวัตร อีก ๗๕ ข้อ ด้วย)

                    ๒. สร้างโครงสร้างพื้นฐานเด็กผู้หญิงที่มีจุดประสงค์ว่าจะเรียนสูงแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ  สามารถมาบวชเรียนได้   ควรมีการประชาสัมพันธ์ และ เก็บข้อมูลส่วนกลางการประสานงานระหว่างวัด สถานศึกษาและองค์กรที่ให้ทุน เพื่อให้ช่วยกันหาที่พักที่เหมาะสมสำหรับแม่ชี เพราะว่า ตอนนี้การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการศึกษาก็คงยังมีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังใช้ระบบปากต่อปาก นอกจากนั้นต้องเน้น “การป้อน” แม่ชีที่มีทักษะความสามารถทางด้านการศึกษาและตั้งใจที่จะศึกษาต่อระดับสูง ควรสร้างระบบที่อำนวยแก่การศึกษาของแม่ชี

                  นอกจากการประสานงานและนโยบายระดับสถาบันศึกษาต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว น่าจะเป็นประเด็นเรื่องการรับรองฐานะของแม่ชีทางกฎหมายด้วย ถึงกับว่า มีการให้เหตุผลว่า สภาพการไร้กฎหมายรับรองฐานะความเป็นนักบวชของแม่ชีอย่างชัดเจนและครอบคลุมเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหลายอย่างที่แม่ชีต้องเผชิญ ตามคำกล่าวว่า “ถ้ามีกฎหมาย สถานภาพแม่ชีจะดีขึ้น การศึกษาจะดีขึ้นเหมือนกับว่าสังคมจะยอมรับมากขึ้น”[๑๓๓] นอกจากนี้แล้ว มีการให้เหตุผลในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า การรับรองทางกฎหมายจะช่วยให้ “แม่ชี...จะยืนบนขาตัวเองได้  จะมั่นคงขึ้นจะมั่นใจขึ้น  สามารถที่จะเดินได้ด้วยตนเอง”[๑๓๔] และจะพ้นสภาพความคลุมเครือเกี่ยวกับฐานะความเป็นนักบวชของแม่ชี นอกจากนั้นแล้ว ตามวิจัยนี้ควรเปิดโอกาสเกี่ยวกับงานสอนศีลธรรมและจริยธรรมให้แม่ชีได้สอนตามโรงเรียนของรัฐบาลหรือเอกชนหรือสำนักเรียนของวัดเมื่อแม่ชีสำเร็จการศึกษาแล้ว ตามที่แม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า “ไม่เปิดโอกาสให้แม่ชีใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือสำนัก  ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของพระ แม่ชีก็ใช้แรงงานเหมือนเดิม”[๑๓๕] ในขณะที่พระสุธีวรญาณ (พระมหาณรงค์  จิตฺตโสภโณ) ได้กล่าวถึง “การพัฒนาแม่ชีโดยให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นมาสเตอร์ชี โดยกำหนดสถานภาพแม่ชีให้มีความชัดเจน ยกระดับความรู้ความสามารถแม่ชีให้ทัดเทียมพระสงฆ์เปิดโอกาสให้แม่ชีได้มีส่วนร่วมในการศึกษาพระศาสนาและการเผยแผ่พระศาสนาทั้งแก่เยาวชนในสถาบันการศึกษาต่างๆ และคนทั่วไป”[๑๓๖] ในขณะเดียวกันนั้น มีแม่ชีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจในการเข้าสู่ระบบการศึกษา เนื่องจาก อายุมากแล้ว ตามที่กล่าวมาแล้วหรือเพราะว่า “บวชเพื่อพ้นทุกข์  ไม่ต้องการบวชเพื่อการศึกษา”[๑๓๗]

            การที่สองเพศเรียนรวมกันที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งที่ช่วงแรกมีคนไม่พอใจเรื่องนี้เพราะเกรงว่า จะเกิดปัญหาจริยธรรมทางเพศนั้น  จากประสบการณ์ของคณะวิจัยพบว่า เป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการการเรียนรู้ระดับบุคคลและพลวัตในห้องเรียน   ส่วนการบวชเป็นภิกษุณีนั้นแม่ชีส่วนมากไม่ได้มีความรู้สึกว่าความเป็นภิกษุณีมีประโยชน์ในการช่วยสตรีเรื่องการได้รับการศึกษา ดังที่แม่ชีท่านหนึ่งกล่าวว่า “ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับการศึกษาตรงนี้หรอก”[๑๓๘] และแม่ชีอีกท่านที่เป็นผู้แทนแม่ชีหลายท่านได้กล่าวว่า “สำหรับตัวเองความเป็นแม่ชีพอแล้ว การปฏิบัติของแม่ชีไม่ได้ปิดกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานเลย”[๑๓๙] เพราะฉะนั้น แม่ชีส่วนมากไม่เห็นจำเป็นต้องเรียกร้องให้มีภิกษุณีสงฆ์เถรวาทเกิดขึ้นมา[๑๔๐]  บทวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า จากมุมมองประวัติศาสตร์เรื่องการขาดความเสมอภาคในการเข้าถึงอุดมศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ไม่ได้เป็นเรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างเพศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างคนที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจกับคนด้อยโอกาสทางสังคมมากกว่า  

 

                                                                บรรณานุกรม

 

๑.ภาษาไทย

กระทรวงธรรมการ.ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๑๐.

กองทะเบียนนักศึกษาอภิธรรม.อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย  ๒๕๕๔.มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร.

กองทะเบียน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๕๔.เอกสารอัดสำเนา.

ชาญณรงค์ บุญหนุน. ๒๕๕๑.พระสงฆ์ไทยในอนาคต.กรุงเทพมหานคร:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon  de  La  Loubère).๒๕๔๘.จดหมายเหตุ  ลา  ลูแบร์  ราชอาณาจักรสยาม.(แปลโดย สันต์  ท.โกมลบุตร.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.

จำนงค์  ทองประเสริฐ.๒๕๓๒. มหาจุฬาฯในอดีต.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจฬาลงกรณราชวิทยลัย.

นิโคลาส์  แชร์แวส.๒๕๔๑.ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม.แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร อ้างในยุพิน  ดวงจันทร์, สตรีกับการบวชในพระพุทธศาสนา: ศึกษาเปรียญเทียบสถานภาพ และทัศนะของแม่ชีวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครและสำนักปฏิบัติธรรมแดนมหามงคลกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต.

ปาริชาด  สุวรรณบุบผา.๒๕๔๕.แม่ชีกับภารกิจทางการศึกษาในประเทศไทย.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.๒๕๕๑.ประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเรื่องอนุมัติหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิตพุทธศักราช.

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๔๓.ประกาศมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เรื่องบาลีศึกษา.       

พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗.                                       

พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต).๒๕๒๙.การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.                                                                                

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต).๒๕๕๒.ตนไทยใช่กบเฒ่า เถรวาท vs. ลัทธิอาจารย์.กรุงเทพมหานคร:บริษัท       คิว พริ้นท์ แมเนจเม้นท์.                                                                        

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต).๒๕๔๒.การคณะสงฆ์กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.                                                                    

พระไพศาล  วิสาโล.๒๕๔๖. พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต.กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้ว การพิมพ์.                                                                                             

ภิกษุณีธัมมนันทา.๒๕๕๓.บัดนาว.กรุงเทพมหานคร: บริษัท ส่องศยามจำกัด.

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.๒๕๓๖. ๑๐๐ ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๔๓๖-๒๕๓๖.กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.๒๕๔๐. ๕๐ ปี อุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร:ไม่ปรากฏที่พิมพ์.  

มนตรี  สืบด้วง.๒๕๕๑. แนวพินิจเชิงสตรีนิยมว่าด้วยผู้หญิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย.วิทยานิพนธ์ ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย.๒๕๕๔.งานมอบประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต. กรุงเทพมหานคร: ธนาเพรสจำกัด.

เอนก นาวิกมูล.๒๕๔๗. หญิงชาวสยาม.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แสงดาว.                

แม่ชีณัฐหทัย ฉัตรทินวัฒน์.๒๕๕๒.อัตลักษณ์ของแม่ชี:กรณีศึกษาแม่ชีวัดปากน้ำภาษีเจริญ. กรุงเทพมหานคร           วิทยานิพนธ์ ตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

๒.ภาษาอังกฤษ.

Adachi, Kaoru. 2010. Leading with a Noble Misson: The Dynamic Leadership of Maechee  Sansanee Shtirasuta. Ph.D. Dissertation, University of Minnesota.

Adiele, Faith. 2004. Meeting  Faith  An Inward  Odyssey. New  York W.W. Norton.

Collins, Steven and McDaniel, Justin. 2010. Buddhist ‘nuns’ (mae chi) and the teaching of Pali in contemporary Thailand, Modern Asian Studies, Vol. 44, No. 6.

Chatsumarn Kabilsingh.1986. Buddhism and National Development: A Case Study of Buddhist Universities”. in: Religion, Bruce  Matthews and Judith Nagata (eds.), Religion, values and Development in Southeast  Asia. (Singapore: Institute of Southeast  Asian Studies).

Gosling, David. 1988. New Directions in Thai Buddhism, Modern Asian Studies. Vol. 14. No. 3, 1980.

Gosling, David. 1998. The Changing Roles of Thailand’s Lay Nuns (Mae Chii). Southeast Asian Journal of Social Science, Vol. 26, No. 1 .

Lindberg Falk, Monica.2007. Making Fields of Merit: Buddhist Female Ascetics and Gendered Orders In Thailand. Copenhagen/Washington: NIAS Press and University of Washington Press.

Tambiah ,S.J..1976. World Conqueror and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand Against a Historical Background. Cambridge: Cambridge University Press.

Terwiel, Barend Jan.2012. Siam Ten Ways to Look at Thailand’s Past . Gossenberg Oastasien Verlag.  

                            

๓.สัมภาษณ์.

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ).เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ.ธนบุรี.กรุงเทพมหานคร.

พระธรรมสุธี(พีร์ สุชาโต).อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร.

พระธรรมโกศาจารย์(ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ศาสตราจารย์.ดร.อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ราชบัณฑิต.

พระเทพปริยัติวิมล.อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๕๓.

พระราชสิทธิมุนี,วิ.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์.กรุงเทพมหานคร.

พระศรีคัมภีรญาณ,(สมจินต์  สมฺมาปญฺโญ).รองศาสตราจารย์.ดร.รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระสธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ),ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระศรีวัชรมุนี (วัชระ ฐิตเมโธ).ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม.กรุงเทพมหานคร.

พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก)รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬา         ลงกรณราชวิทยาลัย.

พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์.คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย(๒๕๕๔) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

พระครูสุตธรรมโกวิท.หัวหน้ากองพัฒนานักศึกษา.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ  งามจิตรเจริญ.อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน.หัวหน้าภาควิชาปรัชญา.มหาวิทยาลัยศิลปากร.

            กรุงเทพมหานคร.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.มนตรี ศิรโรจนานันท์. ประธานโครงการปริญญาโท  สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา   ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

คณะแม่ชีสถาบันแม่ชีไทย.ตำบลศาลายา.อำเภอพุทธมณฑล.จังหวัดนครปฐม.

ดร.แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน.ประธานสถาบันแม่ชีไทยพ.ศ.๒๕๕๕.นักเรียนบาลีรุ่นแรก,หัวหน้าแม่ชีสถาบันแม่ชีไทย  ปากท่อ จังหวัดราชบุรี.

ดร.แม่ชี ดวงพร  คำหอมกุล.บาลี ๙ ประโยค รูปที่ ๒ คนของประเทศไทย.อาจารย์ประจำ ปชาบดีเถรีวิทยาลัย (วิทยาลัยแม่ชี).อำเภอปักธงชัย.จังหวัดนครราชสีมา.

ดร.แม่ชีธัญญมาศ เนตรน้อย.ป.ธ.๙.อภิธรรมบัณฑิต.ปริญญาเอก. อาจารย์ประจำมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

แม่ชีสมศรี  จารุเพ็ง.สำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยครูปแรกของประเทศไทย.วัดชนะสงคราม.กรุงเทพมหานคร.

ดร.แม่ชี ดวงพร  คำหอมกุล.บาลี ๙ ประโยค รูปที่ ๒ คนของประเทศไทย.อาจารย์ประจำปชาบดีเถรีวิทยาลัย (วิทยาลัยแม่ชี) อำเภอปักธงชัย,จังหวัดนครราชสีมา.

แม่ชีสีสลับ  อุปมัย.วัดปากน้ำภาษีเจริญ.บาลีศึกษา , อาจารย์พิเศษที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยกรรมการสถาบันแม่ชีไทย.ที่ปรึกษารองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย.

แม่ชีอรรอำไพ   ภาสศักดิ์ชัย.ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมจาริณีวิทยา. อำเภอปากท่อ.จังหวัดราชบุรี.

แม่ชีกาญจนา  เตรียมธนาโชค.เสถียรธรรมสถาน.นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช     วิทยาลัย.

แม่ชีสุนันทา  เรียงแหลม.สำนักแม่ชีศาลาสันติสุข,อำเภอนครชัยศรี.จังหวัดนครปฐม.

             เปรียญธรรม ๙.นิสิตปริญญาเอกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แม่ชีสมควร ทองดี.วัดใหญ่ชัยมงคล.พระนครศรีอยุธยา.บาลีศึกษา ๙ ประโยค.

มูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย.วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร.กรุงเทพมหานคร.

สถาบันแม่ชีไทย.อำเภอปากท่อ.จังหวัดราชบุรี.

.อินเตอร์เน็ต

http://th.wikipedia.org/wiki/ เข้าใช้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

http://th.wikipedia.org/wiki/ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.เข้าใช้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

Wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เข้าใช้วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕

                       



                 [๑] คณะวิจัยขอขอบพระคุณท่านพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) อดีตผู้อำนวยการสถาบัน  วิจัยพุทธศาสตร์ (๒๕๕๔), พระมหาสุทิตย์  อาภากโร (อบอุ่น)  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ที่สนับสนุนด้วยการให้ทุนวิจัย นอกจากนั้นก็ขอขอบพระคุณพระภิกษุและแม่ชีที่อนุญาตให้สัมภาษณ์ Martin  Seeger ขอขอบพระคุณ Research Committee of the Association of Southeast Asian Studies in the United Kingdom (ASEASUK) funded by The British Academy ผู้ให้ทุนวิจัย คณะวิจัยขอขอบพระคุณ Justin McDaniel ที่ให้คำแนะนำ, ขอขอบพระคุณ พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโ) รองศาสตราจารย์ ดร., พระสธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.,ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ,ที่เมตตาอ่านงานวิจัยและให้คำแนะนำ.และขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน อุปนายกและเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน,ผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ประธานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติที่เมตตาอ่านและตรวจงานวิจัยอย่างละเอียดนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น.

                 *อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

             **Senior Lecturer ประจำภาควิชาเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ.

                [๒] แม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญและมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการก่อสร้าง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ฯ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย

                [๓] ประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เรื่องอนุมัติหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิตพุทธศักราช ๒๕๕๑.

                [๔] แม่ชีอรรอำไพ   ภาสศักดิ์ชัย, ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมจาริณีวิทยา, อำเภอปากท่อ, จังหวัดราชบุรี, วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๕] แม่ชีสุนันทา  เรียงแหลม, สำนักแม่ชีศาลาสันติสุข,อำเภอนครชัยศรี,จังหวัดนครปฐม,เปรียญธรรม๙, นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๖] พระไพศาล  วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคตแนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, (กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๙๑.

                [๗] ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน,หัวหน้าภาควิชาปรัชญา,มหาวิทยาลัยศิลปากร,กรุงเทพมหานคร, วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕, สัมภาษณ์.

                [๘] หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต, สาขาวิชาพระอภิธรรม คณะพุทธศาสตร์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

                [๙] บัณฑิตวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม.

                [๑๐] Lindberg Falk Monica, Making Fields of Merit: Buddhist Female Ascetics and Gendered Orders in Thailand, Copenhagen/Washington: NIAS Press and University of Washington Press, ๒๐๐๗.

                [๑๑] “Mae Chiis have not been entitled to study for Bachelor degrees at the two Buddhist universities in Thailand and there are few opportunities for them to attain higher education” (Lindberg  Falk, Making  Fields  of  Merit, หน้า ๒๑๘).

                [๑๒] Lindberg Falk, Making Fields of Merit, หน้า ๒๐๑.

                [๑๓] “…, Thai mae chiis have been excluded from the Buddhist universities with the exception of some courses that are open to them” (Lindberg Falk, Making Fields of Merit, หน้า ๑๙๘).

                [๑๔] Faith Adiele ได้เขียนเกี่ยวกับการศึกษาของแม่ชีว่า “I know that maechi are often relegated to the wat ghetto, cooking and cleaning and serving monks to earn their keep. Religious study is generally not open to them, certainly not at the two Dhamma universities in Bangkok,…” (Adiele, Faith, Meeting Faith: An Inward Odyssey, New York: W. W. Norton, ๒๐๐๔, หน้า ๖๕) หนังสือของ Faith Adiele เล่มนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ก็คือ หลังจากที่เปิดโอกาสให้แม่ชีศึกษาได้ในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกเป็นเวลา ๕ ปีมาแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า Faith Adiele ไม่ได้พูดถึง ก็เพราะว่า หนังสือเล่มนี้เกิดจากการบันทึกที่เขียนก่อนการเปลี่ยนแปลงและไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย. 

                [๑๕] ภิกษุณีธัมมนันทา,บัดนาว, (กรุงเทพมหานคร: บริษัท ส่องศยามจำกัด, ๒๕๕๓) หน้า ๕๗. ที่อ้างนี้มาจากบทความ“ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อสตรีไทย”ของท่านธัมมนันทา และท่านเขียนไว้ว่า “บทความนี้ [ก็คือ“ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อสตรีไทย”] แรกเริ่มเป็นบทความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในงานประชุมทางวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่จะจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๔๘ แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้อ่าน เสขิยธรรม จึงแปลมาเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง” (ภิกษุณีธัมมนันทา, บัดนาว, หน้า ๕๒)

                [๑๖] Adachi, Kaoru, “Leading with a ‘Noble Mission’: The Dynamic Leadership of Maechee Sansanee Shtirasuta”, PhD Dissertation, University of Minnesota, หน้า ๔๐.

                [๑๗] แม่ชีณัฐหทัย ฉัตรทินวัฒน์ ,อัตลักษณ์ของแม่ชี: กรณีศึกษาแม่ชีวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครวิทยานิพนธ์ ตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีศึกษา  วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๒, หน้า ๒๒๗-๒๒๘.

                [๑๘]  ดร.แม่ชีธัญญมาศ เนตรน้อย,ป.ธ.๙, อภิธรรมบัณฑิต,ปริญญาเอก, อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย,วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

                [๑๙] ปาริชาด  สุวรรณบุบผา, แม่ชีกับภารกิจทางการศึกษาในประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสำนักนายกรัฐมนตรี, (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๕) หน้า ๑๐๙.

                [๒๐] มนตรี  สืบด้วง,แนวพินิจเชิงสตรีนิยมว่าด้วยผู้หญิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์ ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.หน้า ๒๑๒.

                [๒๑] สถานที่วัดชนะสงคราม วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ๑๗ นาที.

                [๒๒] ผู้วิจัยตั้งใจที่จะพัฒนาแบบสอบถามบนพื้นฐานประสบการณ์งานวิจัยครั้งนี้เพื่อจะแจกแบบสอบถามในวงกว้างกว่านี้อีกครั้งในอนาคตเพื่อที่จะได้สรุปเชิงสถิติได้.

            [๒๓] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๕๐ ปี อุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, (กรุงเทพมหานคร: ไม่ปรากฏโรงพิมพ์, ๒๕๔๐),หน้า ๓.

                [๒๔] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓, เปลี่ยนชื่อจากมหาธาตุวิทยาลัยเป็น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใน วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๙.

                [๒๕] กระทรวงธรรมการ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ ๑๐, หน้า ๕๒๖. อ้างในหนังสือ มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย,๑๐๐ ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๔๓๖-๒๕๓๖ (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖).

                [๒๖] พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), การคณะสงฆ์กับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๒-๓.

                [๒๗]  พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต), การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๙), หน้า ๓๖.

[๒๘]  พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต),การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, หน้า ๓๖.

                [๒๙] มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๑๐๐ ปี มหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๔๓๖-๒๕๓๖, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖).

                [๓๐] มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๕๐ ปีอุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๒๒.

                [๓๑] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต), สรุปความจากเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, หน้า ๔๐-๔๑.

                [๓๒] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต),การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก,หน้า ๓๙.

                [๓๓] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต),การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, หน้า ๔๔.

                [๓๔] พระเทพเวที (ป. อ. ปยุตฺโต),ทิศทางการศึกษาของคณะสงฆ์,หน้า ๑๔.

                [๓๕] พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย, หน้า ๔๓-๔๔.

                [๓๖] จำนงค์  ทองประเสริฐ, มหาจุฬาฯในอดีต, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช-วิทยาลัย).หน้า ๑๗.

                [๓๗] ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ,นักเรียนรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๙๐,จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค,ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกา, เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพ.ศ.๒๔๙๗, อดีตผู้อำนวยการกองศิลปกรรม,นักวรรณศิลป์ ๘ พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓.กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ๒๕๔๐-๒๕๕๕,ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ราชบัณฑิตสาขาตรรกศาสตร์ ประจำราชบัณฑิตยสถาน,กรรมการประจำบัณฑิตวิทยาลัย.

                        [๓๘] จำนงค์ ทองประเสริฐ,มหาจุฬาฯในอดีต, หน้า ๓-๓๙.

                [๓๙] จำนงค์ ทองประเสริฐ,มหาจุฬาฯในอดีต, หน้า ๒๑.

                [๔๐] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), ตนไทยใช่กบเฒ่า เถรวาท vs. ลัทธิอาจารย์, (กรุงเทพมหานคร:บริษัท คิว พริ้นท์ แมเนจเม้นท์, ๒๕๕๒), หน้า ๓๘-๓๙. ดู Chatsumarn Kabilsingh, “Buddhism and National Development: A Case Study of Buddhist Universities”, in: Bruce Matthews and Judith Nagata (eds.) Religion, Values and Development in Southeast Asia, (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, ๑๙๘๖), หน้า ๖๒-๘๐.

                [๔๑] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต), การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, หน้า ๑๐๙.

                [๔๒] Gosling กล่าวในปี ๒๕๒๓ ว่า “There is a certain irony in the fact that the secular universities in Thailand do not recognize degrees from the Buddhist Universities. Graduates from both Mahamakut and Mahachulalongkorn have no difficulty in finding places in post-graduate courses at Indian Universities and to a lesser extent at universities in Europe and the U.S.A. One Mahachulalongkorn undergraduate who had passed prayog nine was fairly recently allowed to transfer directly to an undergraduate course at Cambridge. But even on completing his Mahachulalongkorn B.A. he would not have been eligible to start an undergraduate course at any secular Thai university.” (Gosling, David,(๑๙๘๐), “New Directions in Thai Buddhism”, Modern Asian Studies, Vol. ๑๔. No. ,หน้า ๔๑๘).ดู Chatsumarn Kabilsingh, “Buddhism and National Development: A Case Study of Buddhist Universities, หน้า ๖๕.

                [๔๓] พระราชวรมุนี (ป. อ. ปยุตฺโต), การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก, หน้า ๖๘.

                [๔๔]  Tambiah S.J., World Conqueror and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand Against a Historical Background, (Cambridge: Cambridge University Press, ๑๙๗๖),หน้า ๒๙๔.

                [๔๕] อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ปัจจุบัน ภิกษุณีธัมมนันทา) เขียนในปี ๒๕๒๙ ว่า “The central problem regarding these Buddhist universities (which the monks themselves emphasize as the most urgent) is the need to be academically recognized by the government. (Chatsumarn Kabilsingh, “Buddhism and National Development: A Case Study of Buddhist Universities, หน้า ๗๘.

                [๔๖] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๕๐ ปี  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,(กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐),หน้า ๖๒.

                [๔๗] พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗, มาตรา ๔.

                [๔๘] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย.๑ ตุลาคม ๒๕๔๐.

                [๔๙] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย. ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐.

                [๕๐] ดู เอนก นาวิกมูล, หญิงชาวสยาม, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แสงดาว, ๒๕๔๗), หน้า ๒๘; Terwiel, Barend Jan, “Siam”:Ten Ways to Look at Thailand’s Past, (Gossenberg: Oastasien Verlag, ๒๐๑๒), หน้า ๑๐๒-๑๐๔.

                [๕๑] ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon  de  La  Loubère), จดหมายเหตุ  ลา  ลูแบร์  ราชอาณาจักรสยาม, (แปลโดย  สันต์  ท.โกมลบุตร, (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๔๘),หน้า ๕๐๗.

            [๕๒] นิโคลาส์  แชร์แวส,ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร อ้างในยุพิน  ดวงจันทร์, สตรีกับการบวชในพระพุทธศาสนา: ศึกษาเปรียญเทียบสถานภาพและทัศนะของแม่ชีวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครและสำนักปฏิบัติธรรมแดนมหามงคลกาญจนบุรี, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, หน้า ๕๔.

                [๕๓] อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย, งานมอบประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต, (กรุงเทพมหานคร: ธนาเพรสจำกัด, ๒๕๕๔),หน้า ๗๕.

                [๕๔]ภายหลังเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์, อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์,             สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง,นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปที่ ๒, ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๐๔, และนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๓๒.

                [๕๕]  พ.ศ.๒๕๐๙  แม่ชีเรียนอภิธรรมสำเร็จตามหลักสูตร จำนวน  ๒ รูป, พ.ศ.๒๕๑๐ สำเร็จจำนวน ๓ รูป, พ.ศ.๒๕๑๔ สำเร็จ  ๓ รูป, พ.ศ.๒๕๑๕ สำเร็จ ๒ รูป, พ.ศ.๒๕๑๖ สำเร็จ ๔ รูป, พ.ศ.๒๕๑๗  สำเร็จ ๙ รูป, พ.ศ.๒๕๑๘ สำเร็จ ๙ รูป, พ.ศ. ๒๕๑๙ สำเร็จ ๖ รูป, พ.ศ.๒๕๒๐ สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๒๑ สำเร็จ ๓ รูป, พ.ศ. ๒๕๒๒ สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๒๓ สำเร็จ ๔ รูป, พ.ศ.๒๕๒๔ ไม่มีแม่ชีสำเร็จ, พ.ศ.๒๕๒๕  สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๒๖  สำเร็จ ๒ รูป, พ.ศ.๒๕๒๗ สำเร็จ ๔ รูป, พ.ศ.๒๕๒๘  สำเร็จ ๕ รูป, พ.ศ.๒๕๒๙ สำเร็จ ๑ รูป,  ..๒๕๓๐  สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๓๑ ไม่มีแม่ชีสำเร็จ, พ.ศ.๒๕๓๒  สำเร็จ ๔ รูป,  พ.ศ.๒๕๓๓ ไม่มีแม่ชีสำเร็จ, พ.ศ.๒๕๓๔ สำเร็จ ๕  รูป,  พ.ศ.๒๕๓๕  สำเร็จ ๕ รูป, พ.ศ.๒๕๓๖  สำเร็จ ๖  รูป, พ.ศ.๒๕๓๗  สำเร็จ ๕  รูป, พ.ศ.๒๕๓๘ สำเร็จ ๑๐  รูป,  พ.ศ.๒๕๓๙  สำเร็จ ๗  รูป, พ.ศ.๒๕๔๐ สำเร็จ ๙ รูป, พ.ศ.๒๕๔๑ สำเร็จ ๓ รูป, พ.ศ.๒๕๔๒ สำเร็จ ๕ รูป, พ.ศ.๒๕๔๓ สำเร็จ ๔ รูป, พ.ศ.๒๕๔๔ สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๔๕ สำเร็จ ๔ รูป, พ.ศ.๒๕๔๖ สำเร็จ ๕ รูป, พ.ศ.๒๕๔๗ สำเร็จ ๔ รูป,พ.ศ.๒๕๔๘ สำเร็จ ๓ รูป, พ.ศ.๒๕๔๙ สำเร็จ ๗ รูป, พ.ศ. ๒๕๕๐  ไม่มีผู้สำเร็จ, พ.ศ.๒๕๕๑  ไม่มีผู้สำเร็จ, พศ. ๒๕๕๒ สำเร็จ ๒ รูป, พ.ศ.๒๕๕๓ สำเร็จ ๑ รูป, พ.ศ.๒๕๕๔ สำเร็จ ๑ รูป,  รวมแม่ชีที่เรียนสำเร็จตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๕๔ จำนวน ๑๕๒ รูป, กองทะเบียนนิสิต,วัดระฆังโฆสิตาราม, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๕๔.

                [๕๖] กองทะเบียนนักศึกษาอภิธรรม,อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย,มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

                [๕๗] อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย, งานมอบประกาศนียบัตรอภิธรรมบัณฑิต, (กรุงเทพมหานคร:       ธนาเพรสจำกัด, ๒๕๕๔),หน้า ๗๕-๗๖.

                [๕๘] ดู Gosling David L. (๑๙๘๘), “The Changing Roles of Thailand’s Lay Nuns (Mae Chii)”,

in Southeast Asian Journal of Social Science, Vol. ๒๖, No. , หน้า ๑๒๖.

                [๕๙] แม่ชีประทิน ขวัญอ่อน,ประธานสถาบันแม่ชีไทย พ.ศ.๒๕๕๕.นักเรียนบาลีรุ่นแรก,หัวหน้าแม่ชีสถาบันแม่ชีไทยปากท่อ จังหวัดราชบุรี. วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๖๐] แม่ชีสมศรี  จารุเพ็ง,สำเร็จบาลีศึกษา ๙ ประโยครูปแรกของประเทศไทย,วัดชนะสงคราม, วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๖๑] พ.ศ.๒๕๒๙  มีแม่ชีสำเร็จบาลี  ๙ ประโยค เพียง ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๓๕  แม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๓๘ แม่ชีสำเร็จ  ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๓๙ แม่ชีสำเร็จ ๒ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๔๐ แม่ชีสำเร็จ ๒  รูป, ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ มีแม่ชีสำเร็จ ๒ รูป,      ปี พ.ศ.๒๕๔๒ แม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ไม่มีแม่ชีสำเร็จ, ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ มีแม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๔๕ มีแม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๔๖  มีแม่ชีสำเร็จ  ๒ รูป,  ปี พ.ศ.๒๕๔๗ มีแม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ไม่มีแม่ชีสำเร็จ, ปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีแม่ชี สำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๕๐ มีแม่ชีสำเร็จ ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๕๑ มีแม่ชีสำเร็จ  ๑ รูป, ปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๓ไม่มีแม่ชีสำเร็จ ปี พ.ศ.๒๕๕๔ มีแม่ชีสำเร็จ ๒ รูป, กองทะเบียน,มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, เอกสารอัดสำเนา.

                [๖๒] ประกาศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, เรื่องบาลีศึกษา พ.ศ.๒๕๔๓.

                [๖๓] ดร.แม่ชี ดวงพร  คำหอมกุล,บาลี ๙ ประโยค รูปที่ ๒ คนของประเทศไทย, อาจารย์ประจำ ปชาบดีเถรีวิทยาลัย (วิทยาลัยแม่ชี),อำเภอปักธงชัย,จังหวัดนครราชสีมา.

            [๖๔]  พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.๒๕๒๗.   

                [๖๕] สถาบันแม่ชีไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม  พ.ศ.๒๕๑๒.

                [๖๖] http://th.wikipedia.org/wiki/ เข้าใช้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

                  [๖๗] ศาสตราจารย์ ดร.วัชระ  งามจิตรเจริญ,อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,การศึกษา เปรียญธรรม ๙ ประโยค,พุทธศาสตรบัณฑิต,ปรัชญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเดลี อินเดีย,ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕, สถานที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,สัมภาษณ์.

                [๖๘] ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔, http://th.wikipedia.org/wiki/ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.เข้าใช้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

                [๖๙] แม่ชีสีสลับ  อุปมัย,วัดปากน้ำภาษีเจริญ,บาลีศึกษา , อาจารย์พิเศษที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยกรรมการสถาบันแม่ชีไทย,ที่ปรึกษารองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย, วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๗๐] Wikipedia.org/wiki/มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เข้าใช้วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕

                [๗๑] พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระราชบัญญัติมหามกุฏราชวิทยาลัย.

                [๗๒]  เอกสารอัดสำเนา,บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.พ.ศ.๒๕๔๒.

                [๗๓]  พระศรีคัมภีรญาณ, รองศาสตราจารย์,ดร., รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๗๔] พระศรีคัมภีรญาณ, รองศาสตราจารย์,ดร., รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๗๕] ทะเบียนบัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

                [๗๖] ทะเบียนคณะพุทธศาสตร์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

                [๗๗]  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องเทียบความรู้, พ.ศ.๒๕๔๖.

                [๗๘] พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์,คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,  วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๔, สัมภาษณ์.

                [๗๙] ทะเบียนบัณฑิตวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๔.

                        [๘๐] สถาบันแม่ชีไทยตั้งที่อาคารมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย,วัดบวรนิเวศวิหาร,กรุงเทพมหานคร,พ.ศ.๒๕๔๘ ย้ายมาตั้งข้าง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม.

                [๘๑] พระครูสุตธรรมโกวิท, หัวหน้ากองพัฒนานักศึกษา, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.

                [๘๒] มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,ประกาศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เรื่อง บาลีศึกษา, พ.ศ.๒๕๔๓.

                [๘๓] ดังที่ผู้บริหารสูงของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปหนึ่งกล่าวว่าเราก็มองว่าเราจะส่งเสริมให้แม่ชีมีสถานะในการศึกษา  มหามกุฎราชวิทยาลัยจัดการศึกษาบาลีให้แม่ชี ในส่วนของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดการศึกษาอภิธรรรมให้แม่ชี  ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้เราในการให้แม่ชีเข้ามาศึกษา” (พระศรีคัมภีรญาณ,รองศาสตราจารย์,.ดร., รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.)

                        [๘๔] พระธรรมโกศาจารย์, ศาสตราจารย์,ดร., อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ราชบัณฑิต,เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร, ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์, พระศรีคัมภีรญาณ, รองศาสตราจารย์, ดร. รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร, วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                        [๘๕] พระสุธีธรรมานุวัตร,ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร,คณบดีคณะพุทธศาสตร์, ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระ เชตุพลวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร, วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                        [๘๖] พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ), รองอธิการบดีวิทยาเขตนครราชสีมา, วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

                        [๘๗] พระธรรมโกศาจารย์,ศ.ดร., อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๘๘] ดู Chatsumarn Kabilsingh, “Buddhism and National Development: A Case Study of Buddhist Universities, หน้า ๗๐.

                [๘๙] พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก), รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ, ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

                [๙๐] พระศรีคัมภีรญาณ,รศ, ดร. รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร, ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๑] พระสุธีธรรมานุวัตร,คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๒] พระธรรมโกศาจารย์,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓. สัมภาษณ์.

                [๙๓] แม่ชีรูปที่ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๔] แม่ชีรูปที่  ๒ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๕] แม่ชีรูปที่ ๓ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๖] แม่ชีรูปที่ ๔ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๗] แม่ชีรูปที่ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๘] แม่ชีรูปที่ ๖ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๙๙] แม่ชีรูปที่ ๗ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๐] แม่ชีรูปที่ ๘ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๑] แม่ชีรูปที่ ๙  วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๒] แม่ชีรูปที่ ๑๐.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                        [๑๐๓] แม่ชีรูปที่ ๑๑.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๔] แม่ชีรูปที่ ๑๒.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๕] แม่ชีรูปที่ ๑๓.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๖] แม่ชีรูปที่ ๑๔.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๗] แม่ชีรูปที่๑๕.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๘] แม่ชีรูปที่๑๖.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๐๙] แม่ชีรูปที่๑๗.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๐] แม่ชีรูปที่๑๘.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๑] แม่ชีรูปที่๑๙.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๒] แม่ชีรูปที่ ๒๐. วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๓] แม่ชีรูปที่ ๒๑. วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๔] แม่ชีรูปที่ ๒๒.วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๕] แม่ชีรูปที่ ๒๓. วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน  ๒๕๕๕, สัมภาษณ์.

                [๑๑๖] สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ), เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ,วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๑๗] ดร.แม่ชีดวงพร  คำหอมกุล,อาจารย์ประจำมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย,บาลีศึกษา ๙  ประโยค คนที่ ๒ ของประเทศไทย,วันที่ ๑๘  ธันวาคม,สัมภาษณ์.

                [๑๑๘] พระธรรมสุธี(พีร์ สุชาโต),อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, วันที่ ๑๗ธันวาคม ๒๕๕๕, สัมภาษณ์.

                [๑๑๙] พระศรีวัชรมุนี (วัชระ ฐิตเมโธ),ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร, อาจารย์ผู้ดูแลการศึกษาภาษาบาลี,วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕, สัมภาษณ์.

                [๑๒๐] แม่ชีกาญจนา  เตรียมธนาโชค,เสถียรธรรมสถาน,นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,สัมภาษณ์, วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๔.

                [๑๒๑]  พระครูสุตธรรมโกวิท. วันที่  ๑๔ มิถุนายน  ๒๕๕๔, สัมภาษณ์.

                         [๑๒๒] ผศ.ดร.มนตรี สืบด้วง ประธานโครงการปริญญาโทสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

            [๑๒๓] เอกสารบันทึกข้อความ,พระราชสิทธิมุนี,วิ.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

            [๑๒๔] แม่ชีสมควร ทองดี, วัดใหญ่ชัยมงคล,บาลีศึกษา ๙. วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๕,สัมภาษณ์.

                [๑๒๕] แม่ชีรูปที่ ๒๔ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                        [๑๒๖] สิ่งที่ทีมวิจัยพบในงานวิจัยนี้บางอย่างสนับสนุนผลงานวิจัยของอาจารย์ Steve Collins และ Justin McDaniel ทั้งสองท่านเขียนรายงานน่าสนใจเกี่ยวกับแม่ชีกับการสอนภาษาบาลีในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน Collins, Steven and Justin McDaniel (๒๐๑๐), “Buddhist ‘nuns’ (mae chi) and the teaching of Pali in contemporary Thailand” Modern Asian Studies ๔๔, หน้า ๑๓๗๓๑๔๐๘ ในขณะที่ Steve Collins และ Justin McDaniel เน้นศึกษามุมมองและประสบการณ์ของแม่ชีอาจารย์ (ให้การศึกษา)ษาเราเน้นศึกประสบการณ์ของนักศึกษาและผู้จัดการศึกษา.

                [๑๒๗] แม่ชีรูปที่ ๒๖. วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๑๒๘] แม่ชี รูปที่ ๒๗. วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๑๒๙] แม่ชีรูปที่ ๒๘. วันที่ ๕  สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๑๓๐] พระศรีคัมภีรญาณ,รองศาสตราจารย์,ดร. รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร, ๘ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

                [๑๓๑] แม่ชีรูปที่ ๒๙ วันที่  ๕ สิงหาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๓๒] พระศรีคัมภีรญาณ,รองศาสตราจารย์,ดร. รองอธิการฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร, ๘ สิงหาคม ๒๕๕๔,สัมภาษณ์.

                [๑๓๓]  พระเทพปริยัติวิมล,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๑๓๔] พระเทพปริยัติวิมล,อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๓,สัมภาษณ์.

                [๑๓๕] แม่ชีรูปที่ ๓๐, จากแบบสอบถาม.

                [๑๓๖] อ้างใน ชาญณรงค์  บุญหนุน,พระสงฆ์ไทยในอนาคต, (กรุงเทพมหานคร:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร,๒๕๕๑.หน้า ๘๐.

                [๑๓๗] แม่ชีรูปที่ ๓๑, จากแบบสอบถาม.

                [๑๓๘] แม่ชีรูปที่ ๓๒,  วันที่ ๑๖ กรกฏาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๓๙] แม่ชีรูปที่ ๓๓,  วันที่    สิงหาคม ๒๕๕๓, สัมภาษณ์.

                [๑๔๐] เปรียบเทียบกับ Gosling, David L., “The Changing Roles of Thailand’s Lay Nuns (Mae Chii)”, หน้า 136.

(ที่มา: บทความวิชาการ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕