Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » นางกัณห์ทิพย์ ชลวิสุทธิ์
 
Counter : 20033 time
การศึกษาเชิงวิเคราะห์พระอภิธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ (๒๕๔๖)
Researcher : นางกัณห์ทิพย์ ชลวิสุทธิ์ date : 21/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ
  รศ.ดร.จินดา จันทร์แก้ว
  นายสนิท ศรีสำแดง
Graduate : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖
 
Abstract

     วัตถุประสงค์หลักของการวิจัยนี้เพื่อการศึกษาเรื่องพระอภิธรรมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของจิต เจตสิก รูป รวมเรียกว่า รูป นาม หรือขันธ์ ๕ อันเป็นส่วนประกอบของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย แหล่งข้อมูล ส่วนใหญ่จะมาจากอภิธัมมัตถสังคหะ ที่พระอนุรุทธาจารย์ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้จากพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ งานวิจัยครั้งนี้เป็นงานค้นคว้าทางเอกสาร แหล่งข้อมูลประกอบด้วยแหล่งปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา เป็นต้น และแหล่งทุติยภูมิ ได้แก่ นักปราชญ์รุ่นหลังๆ ที่แตกฉานในพระอภิธรรม
     พระอภิธรรมเป็น ๑ ใน ๓ ของพระไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยส่วนที่เป็นปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่บัญญัติธรรมสมมติขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารปรมัตถธรรมให้เข้าใจ ปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ทนต่อการพิสูจน์ ทดลอง และสามารถนำพระอภิธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ได้แก่ จิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารมณ์เป็นธรรมชาติที่จิตเข้าไปรับรู้ เจตสิกเป็นธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ต่างๆ รูปเป็นธรรมชาติที่รู้ไม่ได้ ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเย็นและความร้อน นิพพานเป็นธรรมชาติที่ดับกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) และขันธ์ทั้งหลาย
     จากงานวิจัยครั้งนี้ทำให้เข้าใจเรื่องของพระอภิธรรม ดังนี้
     ๑. ทำให้เรารู้ความจริงเรื่องของจิตว่ามีจำนวน ๘๙ หรือ ๑๒๑ และมีหน้าที่การงานต่างๆ เป็นสิ่งที่มีอยู่ ในจิตใจของคนและสัตว์ทั้งหลาย ในชีวิตประจำวัน ในฝ่ายอกุศล เช่น ความโลภแตกต่างกัน ๘ ลักษณะ คือ อยากได้ประกอบด้วยความเห็นผิด ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดอยากได้พร้อมกับความดีใจ หรือเฉยๆ มีสิ่งชักชวนหรือไม่มีสิ่งชักชวน ให้เกิดความโลภ
     ความโกรธก็มี ๒ ลักษณะ คือ โกรธขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งชักชวนหรือโกรธโดยมีสิ่งชักชวน
     ความหลงมี ๒ ลักษณะ คือ ความฟุ้งซ่านและความสงสัย
     พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทรงแสดงว่าชีวิตทั้งหลายมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ซึ่งมีสาเหตุ (สมุทัย) มาจากตัณหาหรือโลภะ ความยินดีติดใจ พอใจอยากได้ เมื่อได้สมใจแล้วก็อยากได้เพิ่มมากขึ้นไม่มีที่สุด เมื่อไม่ได้ก็เกิดโทสะ คือความโกรธไม่พอใจ ทั้งโลภะและโทสะเกิดจากมีโมหะหรืออวิชชา ไม่รู้ความจริงของชีวิต พระพุทธองค์ให้แก้ไขโลภะด้วยการรู้จักเสียสละให้ทาน แก้ไขโทสะด้วยการเจริญเมตตา แก้ไขโมหะด้วยการเจริญปัญญา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีจิตในการทำมหากุศล มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จิตในการทำให้เกิดสมาธิจนได้ฌานเรียกว่า รูปาวจรจิต จิตในการทำให้เกิดอรูปฌาน ตลอดจนจิตในการเจริญวิปัสสนา จนได้มรรคผลนิพพาน และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
     ๒. ทำให้รู้ความจริงเรื่องเจตสิก ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีทั้งสิ้น ๕๒ จะประกอบปรุงแต่งจิตให้เกิดการรู้อารมณ์ต่างๆ เช่น อิจฉาเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว จะทำให้ผู้นั้นเกิดความไม่พอใจในสมบัติ หรือคุณความดีของผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีมุทิตาเจตสิก คือ พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข จึงเกิดมีการแสดงมุทิตาสักการะซึ่งกันและกัน โดยเพราะพระเถระที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นตัวอย่างอันดีให้แก่สาธุชนทั้งหลาย
     ๓. ทำให้รู้ความจริงเรื่องรูปที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ คือ ร่างกายของเราประกอบด้วยรูปต่างๆ ๒๘ รูป มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น เมื่อธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนไป ย่อมก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เมื่อใดที่จิตมีโลภะ โทสะ โมหะมาก ร่างกายก็พลอยเร่าร้อนไปด้วยอำนาจของกิเลส อาจก่อให้เกิดคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดีต่างๆ ได้ ความเป็นหญิงเป็นชายย่อมแตกต่างกันในอวัยวะทุกส่วนแม้แต่เส้นผม รูปร่างที่แตกต่างกันเนื่องจากจิตใจ ต่างกันทั้งเหตุในอดีตและปัจจุบัน เป็นต้น
     ๔. ทำให้รู้ความจริงเรื่องนิพพาน ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เมื่อมีโอกาสด้วยการใช้สติและปัญญา ในการนำพาชีวิตให้พ้นจากกิเลส เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ตนเอง ครอบครัวสังคม ประเทศชาติ และแม้แต่การสร้างสันติภาพอย่างถาวรให้แก่โลก
     จากการศึกษา ผู้วิจัยพบประเด็นสำคัญของเรื่องดังต่อไปนี้
     พฤติกรรม (การกระทำทางรูปกาย) ของคนทั้งหลาย ในชีวิตประจำวัน ดังที่ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ได้แก่
     ๑. การฆาตกรรม ทำร้ายซึ่งกันและกัน ตลอดจนการฆ่าตัวตาย เกิดจากอำนาจของโทสมูลจิต ซึ่งมี โทสเจตสิก ประกอบปรุงแต่งเป็นอกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ดี ไม่งาม ให้ผลเป็นความทุกข์
     ๒. การจี้ปล้น ลักขโมย ฉกชิงวิ่งราว การฉ้อราษฎร์บังหลวง คอรัปชั่น เกิดจากอำนาจของโลภเจตสิก ประกอบปรุงแต่งโลภมูลจิต ให้เกิดความอยากได้ ในทรัพย์สินของผู้อื่น ในทางมิชอบ
     ๓. การข่มขืน กระทำชำเรา การผิดลูก ภรรยาผู้อื่น เกิดจากอำนาจของโลภเจตสิก ประกอบปรุงแต่งโลภมูลจิต ให้เกิดความยินดี ติดใจ ชอบใจ อยากได้ในทางที่ผิด จากทำนองคลองธรรม บางรายมีผล ก่อให้เกิดโรคเอดส์ และโรคต่างๆ ตามมาได้
     ๔. การโกหก หลอกลวง พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน พูดหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ แจ้งความเท็จ เป็นพยานเท็จ นินทาว่าร้าย สร้างความเสื่อมเสียให้ผู้อื่น การหมิ่นประมาทซึ่งกันและกัน เนื่องจากอำนาจของโลภะ หรือโทสเจตสิก ประกอบปรุงแต่งโลภมูลจิตหรือ โทสมูลจิต ทำให้เกิดการแสดงออกทางวาจาที่ไม่ดี ไม่งาม ให้ผลเป็นทุกข์
     ๕. การค้า การเสพยาบ้า ยาอี ยาเสพติดต่างๆ แม้แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนขับดื่มสุราจนเมามาย ขาดสติควบคุม เป็นเหตุแห่งความประมาท การเมายาบ้าแล้วจี้เด็ก และผู้หญิงเป็นตัวประกัน และฆ่าบิดามารดา ครอบครัว เพราะความมึนเมาจากยาเสพติด เป็นต้น เกิดขึ้นด้วยอำนาจของโลภเจตสิก ประกอบปรุงแต่งโลภมูลจิต ให้เกิดความยินดี ติดใจ ในรสชาติของสิ่งเหล่านั้น จนถอนตัวไม่ขึ้น
     สาเหตุทั้งหลายที่กล่าวข้างต้นเกิดจากการที่คนเหล่านั้นมีโมหะหรืออวิชชา เป็นพื้นฐาน เมื่อพบความจริงนี้จึงสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะการเข้าถึงเหตุผลหลักสัจธรรมในพระอภิธรรม
 

Download : 254623.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012